คำพูดที่ดี
ท่านอาจารย์ วาจาที่ไม่ดีก็ต้องเกิดจากจิตที่ไม่ดี ใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ใช่แน่นอนครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น ควรจะรู้ว่า วาจาอะไรก็ตามที่เป็นวาจาไม่ดีนั้นมาจากจิตไม่ดี เพราะฉะนั้น วาจามีหลายอย่าง คำอ่อนหวานน่าฟังกับคำที่ไม่น่าฟัง ก็ต่างกันแล้ว มาจากไหน จิตอะไร ต้องเป็นละเอียดจริงๆ แต่อย่างนั้นทุกคนชอบ หรือบางคนอาจจะไม่ชอบ คือ วาจาจริง ชอบหรือเปล่าคะ หรืออยากฟังเรื่องไม่จริง อยากฟังเรื่องลวง เรื่องหลอก เรื่องเท็จ แม้แต่พูดก็ยังพูดเรื่องไม่จริง แล้วจะมีประโยชน์อะไร คำพูดนั้น
เพราะฉะนั้น ประการที่สำคัญที่สุดคือคำจริง แม้แต่การจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ต้องเป็นคำพูดจริง ตรงต่อความจริง เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว จะไม่มีคำไม่จริง ซึ่งก่อนนั้นด้วยกำลังของกิเลสก็จะมีคำจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เพราะเหตุว่ายังไม่ถึงระดับซึ่งเห็นโทษของการพูดคำไม่จริง ไม่เป็นผู้ตรง
ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่า กิเลสมีมากมายหลายอย่าง ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ จะเป็นคนเผิน และกระโดด และมองไม่เห็นความจริง แต่ว่าการที่เริ่มละเอียดขึ้นแม้แต่เพียงคำพูดที่พูดทุกวัน เราก็สามารถเริ่มรู้ได้ว่า คำพูดนั้นๆ มาจากจิตประเภทไหน แล้วก็เห็นประโยชน์ การพูดคำไม่จริงมีประโยชน์ หรือการพูดคำจริงมีประโยชน์ ก่อนอื่นเอาแค่จริงก่อน
ผู้ฟัง พูดคำจริงย่อมมีประโยชน์แน่นอน
ท่านอาจารย์ คำจริงมีประโยชน์ ถึงเวลาพูดคำจริงหรือยัง
ผู้ฟัง ถึงเวลาแล้ว
ท่านอาจารย์ ถ้าถึงเวลา แต่พูดแล้วไม่มีประโยชน์ จะพูดไหมคะ แม้เป็นคำจริง
ผู้ฟัง ไม่พูดแน่นอน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีประโยชน์ด้วย แต่ต้องเป็นคำจริงด้วย และในขณะที่พูดก็มีเมตตาจิต คือ มีความเป็นเพื่อน หวังดี คำพูดนั้นๆ ทำให้ผู้ได้ฟังรู้สึกอย่างไร ถ้าคนพูด พูดด้วยความหวังดีจริงๆ พูดด้วยความเมตตา ความเป็นเพื่อน รู้สึกสบายใจ ใช่ไหมคะ ผู้นี้เป็นมิตรแน่นอน ไม่เป็นศัตรูเลย เพราะฉะนั้น แต่ละคำของเขาก็เต็มไปด้วยความหวังดีกับคนอื่น ซึ่งผู้ได้รับฟังคำพูดอย่างนั้นก็ต้องรู้สึก ไม่ได้ทำร้าย ไม่ได้ทำลาย ไม่ได้เป็นโทษใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ด้วยความหวังดี พูดคำจริงซึ่งเป็นประโยชน์ด้วย อีกอย่างหนึ่ง ก็คือพูดน่าฟัง แม้เป็นคำจริง ถ้าพูดไม่น่าฟัง บางคนก็ไม่อยากฟัง