จงกรม เดินแบบไหน ปกติหรือไม่ปกติ


    ผู้ฟัง พอดีเคยอ่านหนังสือ เขาอ้างจากในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า เวลาเดินไป ยกขา พอจะถึงรูปที่ยกขาก็ดับไปแล้ว ก็จะเหลือรูปที่กำลังก้าวไปจะมี ๖ ระยะ ที่อธิบายไปนี้ แล้วก็เราจะตัดสินอย่างไรดีครับ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ยกขาเลย รูปดับหรือเปล่าคะ นี่คือความมั่นคง ความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง รูปที่เป็นสภาวะรูป มีลักษณะของตนๆ เอง ที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วสิ่งที่จะต้องจำก็คือว่า ระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน ในขณะนี้ มีจิตเกิดดับคั่นเกินกว่า ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้น ใครจะประจักษ์การดับของรูป ต้องเป็นปัญญาที่อบรม แล้วก็สามารถที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และ รูปธรรม คือเริ่มต้น เป็นลำดับขั้นของปัญญาที่เจริญขึ้น ไม่ใช่ไม่มีความรู้อะไรเลย แล้วไปประจักษ์ว่า ยกขานี้รูปดับ ยกเท้าตรงนั้นรูปดับ หรืออะไรอย่างนั้น แต่ผู้ที่รู้จริง ก็ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น พระไตรปิฎก คือ ปัญญาของผู้ที่รู้แล้ว และรู้จริงๆ แล้วก็รู้ทั่ว แต่ผู้ที่เริ่มที่จะศึกษา เริ่มฟัง เริ่มเข้าใจ ปัญญาจะถึงระดับนั้นไหม แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยกเท้าเลย ถึงไม่ยกเท้าเดี๋ยวนี้รูปก็กำลังเกิดดับ แต่ทรงแสดงไว้ว่า ปัญญาของใครที่จะรู้อย่างนั้น อย่างท่านพระสารีบุตร เจตสิกที่เกิดกับจิต เช่น วิตกเจตสิก ท่านสามารถที่จะรู้การเกิด การตั้งอยู่ การดับไป

    เพราะฉะนั้น เราเป็นพระสารีบุตรหรือเปล่า หรือเป็นผู้ที่รู้แล้วหรือเปล่า ที่พออ่านตำราก็จะทำให้เหมือนท่านเหล่านั้น แต่จะทำไม่ได้เลย เป็นเรื่องของปัญญาที่จะค่อยๆ เข้าใจถูกในปัญญาของผู้ที่รู้แล้ว ประจักษ์แล้ว จนกระทั่งเป็นปัญญาของเราเอง ค่อยๆ เป็นปัญญาของเราทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น บางคนบอกว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย มีแล้วข้อความในพระไตรปิฎก ไม่ต้องไปอบรมอะไรอีก ท่านบอกว่า เป็นนาม เป็นรูป เราก็รู้ตามนั้นว่า เป็นนามเป็นรูป นั่นคือรู้ตามขั้นฟัง แต่ว่ายังคงเป็นปัญญาของผู้ที่รู้แล้ว ไม่ใช่ของผู้ที่กำลังเริ่มฟัง และเริ่มที่จะค่อยๆ อบรม

    นี่ก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แล้วก็ไม่ประมาท เป็นผู้ที่ตรงว่า นั่นคือสิ่งที่จริง แต่ว่าปัญญาอบรมอย่างไร ถึงสามารถที่จะประจักษ์อย่างนั้นได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงตั้งแต่ขั้นต้น หมดความสงสัยเรื่องจังกรม และหมดความสงสัยเรื่องยกเท้าแล้วก็รูปดับหรือเปล่าคะ ไม่ยก รูปดับหรือเปล่าคะ ดับ ดูเหมือนว่าท่านรู้อะไรกัน เราก็จะทำให้รู้อย่างท่าน แต่เป็นเรื่องทำ ซึ่งไม่มีทางที่จะรู้ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องอบรม แล้วเห็นความต่างของปัญญา ของผู้ที่รู้แล้วกับผู้ที่เริ่มที่จะเข้าใจถูก ผู้นั้นก็เป็นผู้ตรง แล้วถ้าเป็นปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมจริงๆ ก็ไม่ผิดกันเลย แต่ต้องเป็นปัญญาของเราเอง ไม่ใช่ไปรู้ตามที่ท่านแสดงไว้ ไม่ใช่ไปเอาปัญญาของท่านมารู้ หรือว่าไปเอาปัญญาของท่านมาละกิเลสของเรา ก็ไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาความรู้ของเราเมื่อไร ก็ค่อยๆ คลายความไม่รู้ที่สะสมมาทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ

    เรื่องจังกรมก็หมดข้อสงสัยแล้ว ต่อไปนี้จะเดินหรือเปล่าคะ เดินแบบไหน ปกติหรือไม่ปกติ เพราะอะไร สิ่งที่น่าคิด ถ้าพระวิหารเชตวัน ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่นาน แล้วก็มีพระภิกษุเป็นจำนวนมาก ถ้าพระภิกษุเหล่านั้น ท่านเดินอย่างนี้ คนเห็นจะคิดอย่างไร ปกติหรือไม่ปกติ หรือที่นี่มีการกระทำอะไรที่ไม่เป็นปกติ บางคนจะเดินแบบนี้ต้องปิดประตูห้องไม่ให้ใครเห็น เพราะว่ากลัวคนอื่นหัวเราะ หรือว่ากลัวคนอื่นว่า ผิดปกติ

    ผู้ฟัง ผมทราบบทสรุปว่า ถ้าหากเราไปติดรูปแบบที่เราเคยดู เคยเห็น เคยศึกษามา เราไปติดตัวนั้น ผมได้รับความรู้จากอาจารย์หรือสิ่งต่างๆ ที่เราเคยอ่านมา เคยดูมา เคยเห็นรูปแบบนั้นมันไม่ถูก ตามทัศนะของปรมัตถ์ เราต้องมาศึกษาปรมัตถ์แบบของอาจารย์ใหม่ ไม่ทราบว่าผมมองอย่างนี้ หรือสรุปอย่างนี้ ถูกหรือผิด

    ท่านอาจารย์ สิ่งหนึ่งซึ่งทุกคนจะลืมไม่ได้ คือทุกอย่างไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ความเห็นผิดไม่มีใครอยากมี แต่ก็มีความเห็นผิดมากมายในโลก ใครจะแก้ความเห็นผิดมากมายเหล่านั้นให้หมดได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ว่า ต้องมีความมั่นคงในความเป็นอนัตตา โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงพยากรณ์ถึงความเสื่อม จนถึงการที่พระศาสนาจะอันตรธานไม่เหลือ แต่ยังไม่ถึงยุคนั้น ใกล้ที่จะถึง

    เพราะฉะนั้นการใกล้ที่จะถึง ก็แสดงให้เห็นว่า ใกล้อย่างไร คำสอนหรือการเข้าใจคำสอนก็จะเปลี่ยนแปลงไป ใครจะไปฝืนโลกหรือกระแสของโลก หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้น เป็นไปไม่ได้เลย แต่ตราบใดที่คำสอนยังมีอยู่ แล้วผู้นั้นเป็นผู้ที่ไม่ประมาทคำสอน คำสอนที่ลึกซึ้งจะเปลี่ยนให้ไม่ลึกซึ้งไม่ได้ สิ่งที่จะต้องอบรมด้วยความอดทนจริงๆ ก็จะต้องอบรมด้วยความอดทนจริงๆ ถ้ามีความเข้าใจถูกอย่างนี้ เราก็เป็นผู้ที่ไม่ไปคิดว่าเราจะต้องไปทำให้เกิดปัญญามากๆ วันนี้ ทั้งๆ ที่ปัญญากว่าจะเกิดได้ ต้องอบรม

    ที่มีคำกล่าวว่า ถ้าเราจะทำนา แล้วเรามานั่งคำนวณ กว่าข้าวจะสุก ต้องใช้น้ำเท่าไร เราก็ทุ่มเทไป ผลก็คือข้าวตาย เพราะว่าไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถจะดลบันดาลได้ หรือทำได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนซึ่งเป็นผู้ที่ตรงขึ้น และตรงต่อพระธรรมวินัยด้วย สิ่งใดที่เป็นคำสอนที่ถูกต้อง เราเป็นผู้ตรงต่อคำสอน ไม่คำนึงถึงองค์กร หรือบุคคล หรือใครๆ แต่ถ้าสามารถจะช่วยได้ เราก็พร้อมที่จะช่วย แต่ที่จะให้แก้ไขให้ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นไปตามที่ถูกที่ต้องทั้งหมด ความผิดใดๆ ในโลกก็ต้องไม่มี นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น สังคมที่แก้ไม่ได้ ก็เพราะเหตุว่าเกี่ยงให้คนอื่นแก้ อย่างเป็นต้นว่า หลายคนก็จะบอกว่าทางพระพุทธศาสนาประเสริฐ ดีที่สุด แก้ปัญหาทุกปัญหาได้ ไม่ว่าจะปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาศีลธรรม หรืออะไรก็ตาม ควรเรียน ผู้ที่พูดอย่างนี้ เรียนหรือเปล่า เห็นไหมคะ สรรเสริญทุกประการ แล้วก็บอกว่าต้องแก้ด้วยพระพุทธศาสนา ต้องมีการอบรมเจริญปัญญา ต้องปฏิบัติ แต่ผู้ที่กล่าวเรียนหรือเปล่า ตราบใดที่ผู้นั้นไม่เรียนด้วยตัวเอง คนอื่นก็เช่นเดียวกัน ก็พูด ก็สรรเสริญ แต่ไม่มีการเรียนเลย เพราะฉะนั้นสังคมก็คือแต่ละหน่วยของชีวิต เราก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ละคนก็เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าแต่ละส่วนศึกษาธรรม ไม่มีปัญหาเลย คือไม่ต้องไปเกี่ยงว่าคนอื่นศึกษา แล้วเราไม่ศึกษา แต่ถ้าจะช่วยสังคม ช่วยให้มีการเข้าใจธรรมก็คือ เราศึกษา แล้วต่อจากนั้นแต่ละคนก็คือตัวเอง ก็จะได้มีการศึกษา แต่ว่าให้คนโน้นศึกษา แต่ตัวเองไม่ศึกษา ก็ไม่มีทางสำเร็จได้ ช่วยตัวเอง ช่วยไหวไหมคะ มีกำลังใจพอหรือเปล่า


    หมายเลข 9827
    18 ส.ค. 2567