ทำไมต้องบ่อยๆเนืองๆ


    ท่านอาจารย์ ที่เราเรียนเรื่องปรมัตถธรรม ก็เพื่อให้แยกความที่ไม่เคยรู้ แล้วก็ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา โดยบัญญัติ โดยสมมติ โดยความจำ ให้รู้จริงๆ ว่า ขณะใดที่จำ ว่าเป็นเรา ขณะนั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงที่เป็นสัจจะ คือ ต้องมีลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมเท่านั้น สามารถที่จะแยกปรมัตถธรรม และบัญญัติออกจากกันได้ จึงจะรู้ว่าสิ่งใดมีจริง แล้วสิ่งที่มีจริงเท่านั้นที่เกิดดับ ส่วนที่เป็นสิ่งที่เรียกสมมติ คิด ขณะนั้นเป็นแค่เพียงเรื่องราว ไม่มีสภาพธรรมจริงๆ ก็จะทำให้ถึงการประจักษ์การเกิดดับ ซึ่งเป็นทุกข ลักษณะไม่ได้

    ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ทุกบรรพก็เหมือนกัน ลองอ่าน ลองถาม หรือว่าลองให้หายสงสัย จะมีบรรพอื่นเหลือไหม

    ผู้ฟัง มันมีอยู่วรรคว่า เอ วัมปิ ภิกขเว ภิกขุ กาเย กายานุปัสสี วิหรติ ก็ที่ว่าดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนืองๆ อยู่อย่างนี้ คำว่าเนืองๆ นี้ คือเราจะต้องเป็นคำบอกเวลาว่าจะต้องบ่อยๆ หรือเปล่า หรืออย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ ครั้งหนึ่งรู้ได้ชัดเจนไหมคะ ครั้งที่ ๒ ชัดเจนหรือยัง ครั้งที่ ๓ นี่คือคำอธิบายความหมายของคำว่าเนืองๆ ครั้งเดียวไม่พอ ไม่สามารถจะรู้ได้ ฟังธรรมฟังครั้งเดียวพอไหมคะ แค่ฟังยังต้องเนืองๆ บ่อยๆ หลายครั้ง แล้วเวลาที่จะรู้จริงๆ ก็ต้องยิ่งเนืองๆ บ่อยๆ หลายครั้ง เพราะเคยไม่รู้มานานแสนนาน

    ที่กายของทุกคนมีรูปก็ไม่รู้ ใกล้ที่สุด ไปไหนไปด้วยกัน จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินก็ไม่พ้นจากรูป ก็ยังไม่ได้รู้ลักษณะของรูป

    เพราะฉะนั้น ต้องเนืองๆ บ่อยๆ กว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น แล้วถ้าไม่รู้รูปที่กาย จะไปรู้อะไรดี ถ้าไม่รู้นามธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาจะไปรู้อะไรได้ ก็ไม่ใช่ปัญญา ก็เป็นการนึกคิดตลอด แล้วก็เข้าใจว่าเป็นปัญญา แต่ความจริงเป็นเรื่องราวอยู่นั่นเอง ตราบใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ขณะนั้นก็ต้องเป็นเรื่องของการคิดนึก


    หมายเลข 9841
    18 ส.ค. 2567