เข้าใจไม่ใช่ทำตาม


    ผู้ฟัง ก็เริ่มได้ความคิดว่า สมัยก่อนที่พอเราเข้ามาเรียน มารับทราบพระพุทธศาสนา หรือก่อนมารับทราบ เราจะมีความรู้สึกว่า พระสูตร พระวินัย อะไร ทั้งหมดว่าอะไรต้องเชื่อไว้ก่อน เพราะว่าตอนที่เคยเดินจงกรมอย่างช้าๆ ก็เกิดอาการปวดเมื่อย โมโห รำคาญมาก ในใจก็บอก อยากจะรู้นักว่า บรรทัดไหนที่บอกให้เดินอย่างนี้ ยังไม่ทันสักชั่วโมง ก็มีคนมาบรรยาย มีพระมาบรรยายว่า อยู่ในบรรทัดนี้ หน้านี้ อย่างนี้เลย บรรทัดที่เท่าไร ก็เลยมีความรู้สึกว่า อย่างนั้นเชื่อ เดินก็เป็นอันว่าเดิน ซึ่งพอมาถึงวันนี้ อาจารย์บอกว่า ถึงเขาจะเขียน ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องทำตาม แต่ก่อนหน้านั้นมีความรู้สึกว่า อะไรที่พระธรรมเขียนไว้ เราจะต้องรู้ให้หมด ทำตามให้หมด ถึงจะเข้าใจ ละกิเลส หรืออะไรก็ตาม ไปจนถึงขั้นฌานสูงได้ มาวันนี้ก็เริ่มมี ๒ อย่างแล้ว ถึงจะมีอยู่ในพระไตรปิฎกว่ามีการเดินจงกรม ก็ไม่ต้องทำตาม แล้วก็แผ่เมตตา ยังไม่ใช่ระดับที่จะแผ่ได้

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ต้องเข้าใจถูก ไม่ใช่อ่านแล้วทำ โดยที่ไม่ได้เข้าใจอะไรเลย แม้แต่คำว่า จังกัมมะ ยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร เพียงแต่ว่ามีคำนี้ในพระไตรปิฎกก็จะทำ

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างไม่ใช่ว่าสำหรับให้เราตามไปโดยที่ไม่เกิดปัญญา หรือว่าความเข้าใจที่ถูกต้อง แม้แต่เมตตา ถ้าจะแผ่ แม้แต่คำแรก สัพเพ สัตตา น่าตกใจไหมคะ หมดเกลี้ยงไม่มีเหลือเลย ความเมตตาของเราต่อสัตว์ทั้งปวง แล้วใจเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า ถ้าไม่เป็น พูดทำไมคะ พูดทำไม พูดแต่ปาก สัพเพ สัตตา แต่ว่าใจจริงของเรา เมตตาถึงอย่างนั้นหรือเปล่า แล้วเมตตาคืออะไร เห็นงู สัพเพ สัตตา เลย แล้วต้องการอะไร เวลาที่เห็นงูแล้วสัพเพ สัตตา บางคนก็บอกว่า งูจะได้ไม่กัด

    นี่คือความเห็นถูกหรือความเห็นผิด เพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือว่ามีเมตตาจริงๆ กับสรรพสัตว์ทั้งปวงไม่เหลือ จิ้งจก ตุ๊กแก งู อะไรๆ ทั้งนั้น บางทีขึ้นรถประจำทาง เราก็เห็นคนที่หน้าตาน่ากลัว กำลังถือมืด แล้วเราขณะนั้น เรากำลังสัพเพ สัตตา หรือเปล่า หรือว่าท่องใหญ่เพื่อเขาจะไม่ทำร้ายเรา นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล ยังไม่ได้เข้าใจถึงความหมายของสัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งปวงไม่มีประมาณ ไม่เหลือเลย

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรง ความเมตตา คือ ความเป็นมิตร ความเป็นมิตร ตรงกันข้ามกับศัตรู พร้อมที่จะเกื้อกูล นี่คือมิตรจริงๆ แม้แต่แข่งดีก็ไม่ใช่มิตร ใครก็ตามที่คิดจะแข่งขันกันหรือแข่งดีกัน ผู้นั้นถึงจะพูดเรื่องเมตตาสักเท่าไร แต่ก็ไม่ได้เข้าใจเลยว่า ขณะนั้นขาดเมตตา ไม่ใช่มิตรจริงๆ เพราะเหตุว่าเมตตาเป็นเพื่อนแท้ หวังดีด้วยประการทั้งปวง

    เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจในชีวิตประจำวันด้วย ตามความเป็นจริง ว่า เราเข้าใจคำนี้แล้วเราอบรมเจริญคำนี้ถูกต้องหรือเปล่า

    ให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรม ปฏิปัตติ คือ สัมมาสติ ก็จะระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรมรูปธรรมไม่ได้ เมื่อระลึกไม่ได้ ปฏิเวธ คือ การตรัสรู้หรือแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ก็มีไม่ได้ ก็เป็นเพียงความหวังความฝันในสิ่งซึ่งไม่สามารถจะเป็นความจริงได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของความรู้ทั้งหมด แต่เมื่อไม่รู้เลย แล้วก็ไปพูดถึงเรื่องของความรู้ โดยไม่รู้ ก็ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูก


    หมายเลข 9842
    18 ส.ค. 2567