จะถ่ายทอดธรรมอย่างไร


    ผู้ฟัง เราไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งอย่างที่ท่านอาจารย์แนะนำ เราก็หนักใจว่า เราจะไปถ่ายทอดอย่างไรประเด็นที่ ๑ ประเด็นที่ ๒ ความลึกซึ้งในการถ่ายทอด มันไม่ได้ เมื่อมันไม่ได้ การศึกษาในพระพุทธศาสนา ในระดับ ม.ต้น ม.ปลาย มันก็ล้ม แล้วที่สำคัญที่สุดคือว่า ครูบาอาจารย์ที่สอน เขาก็ไม่ตั้งใจมาสอน ก็เหมือนกับ คำที่เล่าลือกันมาว่า เอาครูอะไรก็ได้มาสอนวิชาพระพุทธศาสนา นี่เป็นปัญหาระดับเชิงบริหาร

    ท่านอาจารย์ ก็ถึงกาละที่พระพุทธศาสนากำลังเสื่อม ท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ เป็นผู้ที่สนใจ แล้วค่อยๆ ศึกษาจนกระทั่งเข้าใจขึ้น ก็จะได้ถ่ายทอดความเข้าใจเท่าที่จะทำได้ แล้วผู้รับก็สำคัญ คือนักเรียนจะมีความสนใจมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่เขาจะเห็นประโยชน์ หรือไม่เห็นประโยชน์ เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องวิชาบังคับ เป็นเรื่องศรัทธาของแต่ละคน จะได้ผลมากกว่าการที่เราบังคับว่า ทุกคนต้องมาศึกษาพระพุทธศาสนา แม้ว่าเขาจะไม่สนใจเลย แต่แทนที่จะบังคับ เป็นวิชาที่พยายามให้คนเห็นว่ามีประโยชน์อย่างไร แล้วก็คนที่เห็นประโยชน์ เขาก็จะมาศึกษา แต่เราจะไปฝืนคนที่ไม่สนใจให้มาสนใจ เขาก็จะไม่ได้อะไรเลย

    ผู้ฟัง อาจารย์จะมีกลยุทธ์อะไรบ้างให้กับเยาวชน ม. ๑ ม. ๒ ม. ๓ ถึง ม.๖ ครับ

    ท่านอาจารย์ ก็สอนให้เข้าใจธรรมตามลำดับที่จะสอนได้เท่านั้นเอง เพราะจริงๆ แล้วเป็นเรื่องอิสระจริงๆ ตามโรงเรียนก็ช่วยได้ในเรื่องของจริยศึกษา คือเมื่อมีความเข้าใจในเรื่องของบาปบุญคุณโทษต่างๆ ก็ชี้แนะในเรื่องของกุศลให้เจริญ เช่น บุญกิริยาวัตถุ ถ้าเขาสามารถจะมีความเข้าใจว่า กุศล ไม่ใช่เฉพาะทาน การให้ เขาก็อาจจะเข้าใจตัวเขาเองว่า ขณะไหนบ้างที่เป็นกุศล ขณะไหนบ้างที่เป็นอกุศล เช่น ขณะที่กำลังก้าวร้าว เขาก็คงจะตอบได้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล และอกุศลในชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน เราก็อาจจะมีตัวอย่างที่ยกขึ้นมาได้ว่า เป็นอกุศลประเภทไหน แล้วก็เป็นกรรมประเภทไหน


    หมายเลข 9843
    18 ส.ค. 2567