เจตนาฆ่า


    อ.วิชัย เรียนถามท่านอาจารย์ ก็ได้อ่านในเรื่องของอกุศลกรรม เรื่องของปาณาติบาต และพยาปาท ท่านจำแนกปาณาติบาตว่าโดยสภาพมีมูล ๒ เพราะเหตุว่าปาณาติบาตท่านมุ่งถึงเจตนา ส่วนพยาปาท ท่านกล่าวถึงว่ามีมูลเดียว ก็เลยเรียนถามท่านอาจารย์ ็ก็น่าคิดว่าทำไมทรงแสดงปาณาติบาตจึงมุ่งที่เจตนา ส่วนพยาปาทมุ่งที่ตัวโทสะเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะแสดงให้เห็นว่าสำหรับอกุศลกรรม ยังไงๆ ก็ต้องได้แก่เจตนาเจตสิก แต่การที่เราจะจำแนกว่ากรรมนั้นๆ เป็นทางทวารไหน ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่เกิดพยาปาทยังไม่มีเจตนาก็ได้ที่จะทำทุจริต เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึงปาณาติบาตจะใช้คำว่า วธกเจตนา หมายถึงว่าเจตนาฆ่า เพราะว่าวันหนึ่งๆ ทุกคนก็มีความโกรธระดับต่างๆ กัน ตั้งแต่ขั้นขุ่นนิดหน่อย เกือบจะไม่รู้สึกเลย แม้แต่ในขณะนี้ก็มีได้แต่ว่าไม่รู้ตามความเป็นจริงจนกว่าจะมีกำลังจนถึงปรากฏเป็นความโกรธ และความโกรธที่ปรากฏถึงขั้นพยาบาท หรือว่ามีความโกรธอย่างรุนแรงที่จะถึงขั้นเป็นอกุศลกรรมบถ ก็หมายความว่ามีความคิดที่จะทำร้าย แต่ว่าการกระทำนั้นก็ยังไม่ได้สำเร็จ แต่ว่าถ้าคนที่โกรธแล้วคิดที่จะทำร้าย แล้วก็ทำสำเร็จจะเป็นปาณาติบาต ขณะนั้นก็ต้องมีเจตนาที่เป็นวธกเจตนาด้วย แต่ว่าเวลาที่เกิดความโกรธ ยังไม่ได้มีเจตนาที่เป็นระดับนั้นก็ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องของเจตนา แต่กล่าวถึงพยาปาทเท่านั้น

    อ.วิชัย ขณะที่ฆ่าสัตว์ อาจจะเป็นกรรมบถที่เป็นพยาบาทได้ไหม

    ท่านอาจารย์ การฆ่าก็แสดงไว้ว่าเป็นกายกรรมหรือมโนกรรม ต้องแยกไม่ได้หมายความว่าการฆ่าทุกครั้งต้องเป็นมโนกรรม เพราะเหตุว่าบางทีเราก็ไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่าจะฆ่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กจนกระทั่งถึงมนุษย์ก็ตามแต่ แต่ว่าบางครั้งบางคนก็มีการตระเตรียม มีแผนการ มีความพยาบาทต้องการที่จะให้ฆ่า และการฆ่านั้นก็สำเร็จ เพราะฉะนั้น การฆ่าที่ประกอบด้วยพยาปาทจึงเป็นมโนทวาร เป็นมโนกรรม แต่ว่าแล้วแต่ว่าเป็นทางวาจาหรือว่าทางกาย แต่ว่าถ้าเป็นเฉพาะทางกายก็เป็นกายกรรม ไม่ใช่มโนกรรม มีไหมปกติเฉพาะที่เป็นกายกรรม ที่ไม่ใช่มโนกรรม ตบยุงใช่ไหม ก็ไม่ได้คิดมาก่อนเลย ก็บางคนก็อาจจะแก้ตัวว่าพอเจ็บก็ตบ แต่ความจริงแม้ขณะนั้นก็มีเจตนาเกิดร่วมด้วย และสัตว์นั้นก็ตายด้วย แต่ว่าไม่ใช่มโนกรรมเป็นกายกรรม

    เรื่องธรรมจริงๆ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องเข้าใจว่าในครั้งพุทธกาล ผู้ที่มีโอกาสได้เฝ้าได้ฟังพระธรรม เป็นผู้ที่ได้สะสมปัญญามากพอที่จะเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง และก็จะสังเกตเห็นได้ว่าผู้ที่ไปเฝ้าฟังพระธรรม จุดประสงค์ของพระองค์ให้คนฟังมีความเข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมจนสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าผู้นั้นอบรมเจริญปัญญามาแล้วไม่ว่าจะกล่าวเรื่องจิต นั่นก็สามารถที่จะเข้าใจ ใช้คำว่า “วิญญาณ” หรือจะใช้คำว่า “วิญญาณขันธ์” ก็มีอยู่ทุกขณะ และเมื่อมีอยู่ เมื่อมีผู้ที่กล่าวถึงลักษณะนั้นสภาวธรรมนั้นก็สามารถที่จะเข้าใจในความเป็นอนัตตาได้ คือไม่ต้องไปติดที่คำแล้วก็ไปพยายามขวนขวายที่จะรู้สิ่งซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้โดยทั่วถึง เราสามารถจะรู้ได้เพียงบางสิ่งบางอย่างบางประการ แต่ความคิดของเราจากคำที่ได้ยินจะกว้างจะไกลแต่เราสามารถที่จะเข้าใจได้หรือไม่ เราสามารถที่จะเข้าใจได้เพียงบางส่วน แต่ส่วนที่เป็นประโยชน์ที่สุดก็คือว่า ไม่ใช่ฟังเพียงเรื่องของสภาพธรรมโดยที่ทุกขณะเป็นสภาพธรรมซึ่งตรงกับที่ทรงแสดง

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของพระองค์ก็คือว่าทรงแสดงเพื่อให้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะสามารถประจักษ์แจ้งความจริงนั้นได้ แต่ทุกอย่างที่เราได้ยินได้ฟังจะเห็นได้ว่าจะละเอียดขึ้นสำหรับผู้ที่ท่านรู้ทั้งหมด ท่านจะกล่าวโดยนัยหลากหลาย ถ้าท่านที่เป็นพระอรหันต์ด้วยกันจะกล่าวคำใด พระอรหันต์อีกรูปหนึ่ง ท่านก็จะสามารถที่จะเข้าใจในอรรถของคำที่ได้กล่าวนั้น แต่ถ้าผู้ที่ไม่ใช่ปัญญาระดับนั้น ความเข้าใจก็จะตื้น และก็จะลึกต่างกันด้วยตามระดับขั้น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีคำที่จะผ่านพบในพระไตรปิฎกมาก เราก็จะต้องค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมเพียงเท่าที่จะเข้าใจได้ แต่ว่าถ้าจะเข้าใจถึงระดับของพระอรหันต์ทั้งหลายในยุคนั้นที่เมื่อท่านกล่าวถึงคำใด ท่านก็เข้าใจโดยนัยหลากหลาย ก็เป็นสิ่งซึ่งเรารู้ได้ว่า ปัญญาของเราไม่ถึงระดับนั้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163


    หมายเลข 9844
    31 ส.ค. 2567