ปริยุฏฐานกิเลสและอนุสัย


    ถ้าจะคิดถึงคำที่ได้ยินเช่นคำว่า “อนุสัย” หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดีที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุทเฉท พอได้ยินอย่างนี้ ความเข้าใจของเราคิดได้ ไตร่ตรองได้ว่า หมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ดีที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุทเฉท ถ้าอย่างนั้นขณะเกิดขณะแรกคือขณะปฏิสนธิจิตที่ทำปฏิสนธิกิจนั้นมีอนุสัยไหม ใช่ไหม เราก็จะได้เข้าใจความหมายของอนุสัยด้วย เวลาที่เรานอนหลับสนิทมีอนุสัยไหม เวลาที่กุศลจิตเกิดมีอนุสัยไหม ถ้าเข้าใจความหมายว่าเป็นสภาวธรรมที่สะสมในจิต พร้อมที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลเจตสิกทำกิจการงานของอกุศลนั้นๆ ร่วมกับอกุศลจิต เพราะว่าจิตเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ จะรู้ได้ว่าจิตนั้นเป็นจิตประเภทใด ก็ด้วยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยประการหนึ่งหรือว่าด้วยกิจประการหนึ่ง หรือว่าโดยชาติ เพราะเหตุว่าแม้สติเป็นกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี ถ้าจะถือว่าสติเกิดกับจิตแล้วจะรู้ว่าเป็นกุศล แต่ในขณะต่อไปที่ศึกษามากขึ้น เราก็จะรู้ว่าแม้กิริยาจิตของพระอรหันต์หรือว่าวิบากจิตก็มีสติเจตสิก แต่ว่าความต่างกันของสติที่เกิดกับวิบากจิตขณะหลับสนิท กับความต่างกันของสติเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต

    นี่ก็จะได้เห็นว่าขณะที่นอนหลับสนิทแม้ว่าจะมีโสภณเจตสิกเกิดแต่เป็นชาติวิบาก และเนื่องจากอารมณ์นั้นไม่ได้เป็นอารมณ์ที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์นั้นจึงไม่ปรากฏ และเราก็จะรู้ว่า ตราบใดที่โลกุตตรจิตยังไม่ได้เกิด ยังไม่ดับกิเลสเป็นสมุทเฉทตามลำดับขั้น อนุสัยก็ยังมีอยู่ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราจะต้องกังวลไหม ในชื่ออนุสัยหรือว่าเมื่อไหร่เป็นอนุสัย แต่ว่าขณะใดก็ตามที่อกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับจิตเป็นอกุศลจิต ขณะนั้นเป็นปริยุฏฐานกิเลส ไม่ใช่อนุสัยแล้ว เพราะเหตุว่าอนุสัยสะสมอยู่ในจิตเป็นปัจจัยที่จะทำให้อกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับจิต เพราะว่าสภาพธรรมมีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับ แต่ว่าสะสมสืบต่อในขณะต่อๆ ไปไม่สิ้นสุดเลย เพราะเหตุว่าเมื่อจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปแล้วก็เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสำหรับอนันตรปัจจัยของพระโสดาบันซึ่งดับทิฏฐานุสัย ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนแล้ว จิตขณะต่อไปของพระโสดาบันก็ไม่มีอนุสัยกิเลสนั้น เพราะเหตุว่าดับไปแล้ว นี่ก็เป็นเรื่องที่เราเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมกับเหตุผลก็คงจะพอ เพราะเวลาที่ได้ยินคำต่างๆ เราก็จะได้รู้ว่าที่มีคำอื่นก็เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันต่างระดับขั้น อย่างสัญญา พอเห็นก็จำได้เลย สัญญาเกิดกับจักขุวิญญาณ เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัญญาก็เกิดกับสัมปฏิจฉันนะ เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว สัญญาก็เกิดร่วมกับสันตีรณะ เพราะเหตุว่าสัญญาต้องเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะฉะนั้นสัญญานี้จะเป็นอนัตตสัญญาได้ไหม ในเมื่อยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยการประจักษ์แจ้งในความเป็นธาตุในความไม่ใช่ตัวตน

    นี่ก็มีคำที่แตกแยกออกไปที่จะให้เข้าใจลักษณะของสัญญาต่างๆ ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะว่าขณะนั้นเป็นสัญญาประเภทใด หรือว่าขณะที่กำลังมีวิริยะเกิดร่วมด้วยกับสัญญา โดยที่ว่าลักษณะของวิริยะก็ไม่ได้ปรากฏ ลักษณะของเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ถ้าสติสัมปชัญญะไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้นไม่ได้ปรากฏ แม้เกิดแล้วก็ดับแล้ว อย่างพูดถึงผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก เราได้ยินบ่อยๆ แต่ไม่ได้ปรากฏลักษณะของสภาพธรรมใดในขณะเห็น ขณะนี้ที่กำลังเห็นมีลักษณะของผัสสเจตสิกปรากฏหรือเปล่า มีลักษณะของสัญญาเจตสิกปรากฏหรือเปล่า มีลักษณะของเจตนาเจตสิกปรากฏหรือเปล่า เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าสัญญาเจตสิกที่เกิดกับจิตประเภทหนึ่งก็ใช้คำอย่างหนึ่ง พอเกิดกับจิตประเภทอื่นที่มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย ก็จะมีสัญญาชื่อต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกได้

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่จะเข้าใจได้ว่า ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้ว เวลาที่ได้ยินชื่อต่างๆ ก็หมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นเลย แล้วเวลาที่เราโกรธมาก เราจะต้องมานึกไหมว่า นี่เป็นพยาปาท หรือว่านี่เป็นโทสมูลจิต แต่ว่าลักษณะจริงๆ ขณะนั้นก็ควรที่จะได้รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่ว่าความต่างระดับก็ทำให้มีชื่อต่างๆ แต่เราจะมาเจาะจงรู้ว่าแล้วขณะนี้ๆ เป็นปฏิฆะ หรือว่าเป็นโทสะ หรือว่าเป็นพยาปาท ใครสามารถที่จะบอกได้ในเมื่อลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น แล้วความหมายของพยาปาทก็ต่างระดับด้วย แม้ว่าจะใช้พยาปาทสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบัน หรือพยาปาทสำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ลักษณะของพยาปาทก็คือโทสะแต่ว่าก็ต่างขั้น ต่างระดับ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163


    หมายเลข 9849
    3 ก.ย. 2567