การสะสม-ความจำ


    อ.วิชัย ถ้ากล่าวถึงโทสะเมื่อเกิดแล้ว เมื่อดับแล้วก็สั่งสมสืบต่อโดยความเป็นอนุสัย เมื่อได้ปัจจัยก็เป็นปัจจัยให้ ปริยุตตฐาน นั้นเกิดขึ้น แต่ถ้าโดย ปกตูปนิสสยปัจจัย ที่ทรงแสดงกล่าวถึงว่า แม้บุคคล แม้บัญญัติก็สามารถเป็นอุปปนิสสยปัจจัยให้โทสะเกิดได้

    ท่านอาจารย์ ให้โทสะเกิดได้ และให้ปัญญาเกิดได้ด้วยใช่ไหม

    วิ. ด้วยครับ คือลักษณะของความเป็นปัจจัยกับการสั่งสมโดยนามธรรม คือถ้าคิดถึงว่าโดยความเป็นนามธรรมก็น่าจะสั่งสมได้ แต่ถ้าโดยความเป็นเพียงแค่อารมณ์ อย่างเช่น เราเห็นรูปนี้ หรือว่าฟังชื่อนี้เรารู้สึกไม่ชอบ เราเคยสั่งสมที่จะไม่ชอบชื่อนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าชื่อนี้ไม่ใช่คนที่เรารู้จัก ชื่อเดียวกัน ได้ใช่ไหม ขอประทานโทษ ยกตัวอย่าง ชื่อวิชัย วิชัยไหน ถ้าวิชัยนี้นับถือชอบในคุณธรรม ในความรู้ ความเข้าใจธรรม แต่อีกวิชัยหนึ่งตรงกันข้ามเลย ทุจริต คดโกง เพราะฉะนั้นวิชัยไหน แค่ชื่อ เพียงชื่อ กับการที่เราได้รู้ว่าชื่อนั้นหมายถึงบุคคลไหน จะเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะ หรือโทสะ หรือกุศล

    อ.วิชัย คือสงสัยโดยความเป็นลักษณะที่เป็นปัจจัย ตัวโทสะนั้นมีอารมณ์นี้ เกิดขึ้นเพราะมีอารมณ์นี้ แต่เมื่อภายหลังเมื่อดับแล้ว ได้อารมณ์นี้อีกแล้วเกิดความโกรธที่เกิดโกรธภายหลัง เนื่องจากอารมณ์นั้นเป็นปัจจัยหรือว่าเนื่องจากโทสะที่เกิดตอนนั้นเป็นปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ถ้าโกรธคนชื่อวิชัย พอคิดถึงวิชัยนี้โกรธ แต่ถ้าชอบคนชื่อวิชัย แล้วคิดถึงวิชัยนั้นไม่โกรธ เพราะฉะนั้นชื่อหรืออะไร

    อ.วิชัย ก็ไม่น่าใช่ชื่อ

    ท่านอาจารย์ ชื่อเดียวมีคนตั้งหลายคน และแต่ละคนก็ต่างกันไป แล้วถ้าเราเพียงแต่นึกถึงเพียงชื่อจะเป็นปัจจัยให้เราโกรธ หรือเป็นปัจจัยให้เราพอใจ เพราะชื่อนั้นมีทั้งคนที่เราโกรธ และคนที่เราพอใจ

    อ.วิชัย หมายถึงถ้าเกิดความโกรธเกิดขึ้นมา ความไม่พอใจในความไม่ดีของเขา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นพอพูดถึงวิชัยนี้ คนนี้ รู้จักวิขัยนี้ อีกคนหนึ่งรู้จักวิชัยอีกคนหนึ่ง คนละวิชัย แต่ว่าทั้งสองคนก็เพียงแค่คิดชื่อว่าวิชัย

    อ.วิชัย ก็ยังเฉยๆ อยู่

    ท่านอาจารย์ ก็ยังเฉยๆ อยู่ แต่ว่าถ้าเคยโกรธคนชื่อวิชัย เคยโกรธวิชัยนี้ พอแค่คิดวิชัย นึกถึงคนนี้ ไม่ได้นึกถึงคนอื่น เพราะฉะนั้นชื่อก็เป็นสมมติบัญญัติของสภาวธรรมทั้งฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดี แม้แต่ชื่อเดียวกัน

    อ.วิชัย ความโกรธที่เคยเกิดขึ้นที่ในความไม่ดีของคนที่ชื่อนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าวิชัย ๑๐ คน แต่เรารู้จักวิชัย ๑ เวลาที่จิตเรานึกถึงวิชัย ๑ เรานึกถึงวิชัยนี้ที่เราโกรธ เราไม่ได้นึกถึงวิชัย ๙ ใช่ไหม ก็แสดงว่าแม้ชื่อนี้ก็ต้องมีที่เราเคยโกรธ มีเรื่องราวที่ทำให้เมื่อชื่อนี้เกิดขึ้น เราไม่ได้นึกถึงวิชัยอื่น แต่นึกถึงเรื่องราวของวิชัยนี้ซึ่งเคยโกรธ เพราะฉะนั้นพอชื่อนี้เกิดนึกขึ้นมาก็พร้อมกับเรื่องราวที่ทรงจำเกี่ยวกับชื่อนี้ด้วยใช่ไหม นี่จะส่องไปถึงคำของสัญญาที่มีประกอบด้วยอะไรๆ หลายอย่าง

    อ.วิชัย คือลักษณะจะคล้ายๆ ปนๆ กัน หมายถึงว่าลักษณะของความเป็นปัจจัย เคยคิดไม่ดีของบุคคลนี้ เมื่อได้ยินชื่อภายหลังของบุคคลนี้ ก็อาศัยสัญญาความจำมีเรื่องก็ปรุงแต่งให้เกิดความโกรธ

    ท่านอาจารย์ และถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจะรู้เลย มีจิตคิดถึงแค่ชื่อ ขณะนั้นก็เพียงเป็นเรื่อง เป็นบัญญัติ หรือเป็นคำ แม้ความโกรธหรือเรื่องราวก็ไม่ได้ติดตามมา หรือว่า เวลาที่คิดถึงชื่อนี้แล้ว ความจำทั้งหมดที่เกี่ยวกับชื่อนี้มา เพราะเวลาที่เราคิด เราคิดยาว เราไม่ได้คิดสั้นๆ อย่างจะคิดถึงอะไรสักอย่างก็หลายวาระเลย จะคิดถึงขนมสักชื่อหนึ่งขนมเปียกปูน เกิดนึกขึ้นมาเฉยๆ ก็แค่นั้น แต่ถ้าจะคิดถึงรสอร่อย หรือว่า เจ้านี้ ตรงนี้ ร้านนี้อร่อยกว่าร้านนั้น เรายังสามารถที่จะแยกได้ แม้แต่คำ “เปียกปูน” ก็มีถึงสองที่ใช่ไหม เปียกปูนที่นี่เป็นอย่างนี้ เปียกปูนที่นั่นเป็นอย่างนั้น แต่ก็คือคำว่าเปียกปูน

    อ.วิชัย คือการสั่งสม ก็คือเป็นการสั่งสมของจิตที่เคยพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงการสั่งสมของสัญญา สัญญาจำชื่อ อันนี้ตอนหนึ่งใช่ไหม แต่ว่าสัญญาไม่ได้เพียงจำชื่อ จำเรื่องด้วย จำมากมายหลายอย่าง เพราะฉะนั้นหน้าที่ที่เวลาที่เกิดนึกเปียกปูนขึ้นมา ถ้าสัญญาไม่ได้จำคำนี้ ชื่อนี้ก็ไม่มี ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดการตรึกหรือนึกถึงชื่อนี้ขึ้น แต่เพราะสัญญาจำชื่อนี้ หรือบางทีอาหารรสอร่อย ไม่รู้เรียกอะไร ชื่ออะไรก็ไม่ทราบ อาจจะเป็นชื่อยากๆ เราก็เรียกไม่ถูก เราไม่ได้จำชื่อ แต่เราจำรส และสามารถที่จะจำว่าร้านไหนอะไรอย่างนั้น รายละเอียดปลีกย่อยก็ติดตามมาได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 164


    หมายเลข 9854
    3 ก.ย. 2567