คงอยู่ในความถูกต้องด้วยความอดทน
ผู้ฟัง ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยยกตัวอย่างเปรียบเทียบ อธิบายระหว่าง โลภะ กับ โมหะ ให้ฟังในตอนนี้ เวลาตอบอาจารย์อย่างที่ได้ยิน บางทีก็จะตอบว่า โมหะบ้าง หรืออะไรบ้าง ซึ่งก็ยังแยกไม่ถูกว่า อันนี้คือโลภะ
ท่านอาจารย์ โมหะ เป็นสภาพที่ไม่สามารถจะเข้าใจถูก เห็นถูก หรือรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่โลภะเป็นสภาพที่ติดข้องต้องการ เพลิดเพลิน ยินดีในสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น เวลาที่โลภะเกิดก็ต้องมีโมหะเกิดร่วมด้วย เพราะความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น มี ใช่ไหมคะ เกิดขึ้นพร้อมกันกับขณะที่ติดข้อง ต้องการ เพลิดเพลินในสิ่งนั้น
ผู้ฟัง ขออนุญาตหน่อยครับ ผมสังเกตว่า ถ้าเราสอนแบบไร้กระบวนท่า อย่างยึดตามในพระไตรปิฎกโดยให้ไประลึก เกิดกันเอง กับอีกแบบที่มีกระบวนท่า ถ้ามีเด็ก ๒ กลุ่มเทียบกันแล้ว กลุ่มไร้กระบวนท่า ก็ยัง ถึงเรียนเข้าใจ บางทีเด็กก็ยังลิงเหมือนเดิม ส่วนอีกกลุ่มเข้าไปวัด ไปเข้าเป็นระเบียบเรียบร้อย กลับมาเขาก็ชมเชยกันเลย มันจะแตกต่างกันอย่างไร หรือจะปรับอย่างไรดี
ท่านอาจารย์ จะเอาคำชมเชย หรือจะเอาความรู้ถูก
ผู้ฟัง ก็คงความรู้ถูกครับ
ท่านอาจารย์ ต้องอดทน หมายความว่า ถ้าสิ่งใดถูกก็คงอยู่ในความถูกต้อง ด้วยความอดทน ที่จะทำให้ผู้อื่นมีความเห็นถูกอย่างนั้นด้วย โดยมากคนจะเอาลักษณะของสมาธิมาเป็นสติ เพราะเขาแยกไม่ออก เขาคิดว่าสมาธิเป็นสติ แต่ความจริงสมาธิเป็นเอกัคคตาเจตสิก ส่วนสติเป็นโสภณเจตสิก ต้องเป็นกุศลจิต ถ้าขณะที่กำลังไม่กลัว เป็นกุศลหรือเปล่า หรือว่าเป็นโลภะ กำลังสนุกสนาน กับความที่ไม่ต้องกลัว
เพราะฉะนั้น ธรรมก็เป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องละเอียด อย่างที่เมื่อกี้นี้จะเอาผล คือปริมาณ ทองเก๊ให้ไปกำมือหนึ่งกับทองจริงนิดเดียว จะเอาอันไหน
ผู้ฟัง ทองจริงครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าคนไม่รู้ก็เอาทองเก๊ ใช่ไหมคะ นั่นคือความไม่รู้
อย่างการอุทิศส่วนกุศล เวลาที่เราทำบุญกุศล แล้วเราอุทิศส่วนกุศลให้คนอื่น ไม่ใช่ว่าเขารับกุศลของเราเอาไป ไม่ใช่ลักษณะของไปรษณีย์ แต่ต้องหมายความว่าเมื่อผู้นั้นรู้แล้วเกิดกุศลจิตของตัวเองที่อนุโมทนาในกุศลของคนอื่น จิตที่ผ่องใสที่อนุโมทนาในกุศล ในคุณความดีของคนอื่น ขณะนั้นเป็นกุศลจิต
เพราะฉะนั้น การที่ถามว่าแล้วจะได้บุญไหม ไม่ได้บุญไหม จะถึงผู้นั้นไหม ถึงผู้นี้ไหม ไม่ใช่ถึงโดยเหมือนกับหยิบยื่นให้ แต่เพราะการที่เขารู้แล้ว เขาอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา ถ้าเขาไม่อนุโมทนา เขาก็ไม่เกิดกุศลของเขาเอง แต่ถ้าเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเขาเกิดอนุโมทนาเมื่อไร เมื่อนั้นก็เป็นกุศลของเขา ซึ่งเมื่อมีกุศลเกิดขึ้น ต่อไปก็จะมีผลของกุศลเกิด
ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดเมื่อกี้ ผมนึกคำสอนของหลวงพ่อพุทธทาสได้ว่า การที่เราไปขอพรจากพระ ไม่ได้พรหรอก เราต้องไปทำเอง มันจะตรงกันหรือเปล่าครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ พร วรัง หรือ วร หมายความถึง สิ่งประเสริฐ ใช่ไหมคะ ต้องเกิดจากการกระทำเหตุที่สมควรแก่ผล
ผู้ฟัง แต่แนวคิดก็คือคล้ายๆ กันที่ประเด็นที่อาจารย์กล่าวเมื่อกี้ ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ อย่างนางวิสาขาไปทูลขอพรจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือขอโอกาสที่จะกระทำกุศล ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ทำอกุศล ไม่ประเสริฐ แต่โอกาสที่จะได้ทำกุศลที่ประเสริฐ ก็มีหลายข้อ ที่ต้องไปทูลขออนุญาต
มหาสติปัฏฐาน ไม่มีข้อสงสัยอะไรอีกแล้วหรือคะ