ปฏิจจสมุปปาท


    ผู้ฟัง ขอเรียนถามนิดหนึ่งในเรื่องคำบาลี ในเรื่องของคำ ปฏิจจสมุปบาท อยากให้อธิบายในเรื่องของความหมายว่าเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เชิญคุณสุภีร์

    อ.สุภีร์ คำว่า ปฏิจจ ก็แยกออกมาเป็น ปฏิ + อย ก็ อย ก็แปลว่าไป ปฏิ ก็คืออาศัย แปลง อย เป็น จจ ก็เป็น ปฏิจจ ก็แปลว่า อาศัยเป็นไป อาศัยเป็นไป ก็คือ สิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นนั่นเอง ส่วนคำว่า สมุปบาท มาจาก สัง บทหน้า แปลว่า ด้วยดี อุปบาทแปลว่าเกิดด้วยดี รวมความได้ อันแรก ปฏิจจ คือ อาศัยเป็นไป สมุปบาท คือเกิดขึ้นด้วยดี สัง + อุปบาท ก็เอาสระอัง เป็น มอม้า + อุปบาท ก็เป็น สมุปบาท ปฏิจจ แปลว่า อาศัยเป็นไป กับ สมุปบาท แปลว่าเกิดขึ้นด้วยดี แปลรวมความทั้งหมด สิ่งที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้นเป็นไป วนเวียนกันไปเรื่อยๆ อันนี้โดยศัพท์ โดยรายละเดียดก็คงต้องศึกษากันอีกพอสมควร

    ปฏิจจสมุปบาท อธิบายความเป็นไปของโลกว่า ทำไมถึงวนเวียนอยู่อย่างนี้ ไม่ไปไหนสักที ก็เพราะว่ามีกิเลส จึงทำให้เกิดการทำกรรม พอทำกรรมเสร็จก็รับวิบาก ที่เราอาจจะเคยได้ยินว่า กิเลส กรรม วิบาก เป็นวงของปฏิจจสมุปบาท ก็คือว่าต้องเกิดเรื่อยๆ สืบต่อไปในสังสารวัฏฏ์ ไม่สิ้นสุดสักที มีกิเลสอยู่ จึงทำกรรม เมื่อทำกรรมเสร็จแล้ว ก็ต้องได้รับวิบาก ก็วนเวียนอย่างนี้ พอได้รับวิบาก ก็ด้วยความที่ตัวเองมีกิเลสอยู่ ก็ทำกรรมอีก ทำกรรมก็รับวิบากใหม่ ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ อันนี้เป็น ปฏิจจสมุปบาท

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงอะไรเราก็เข้าใจได้ในสิ่งที่กำลังมี วนเวียน คือ เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวก็ได้กลิ่น เดี๋ยวก็ลิ้มรส เดี๋ยวก็คิดนึก กี่วันๆ ก็แค่นี้ ๖ ทาง

    เพราะฉะนั้น การที่โลกจะปรากฏได้ ก็ต้องมีทาง ๖ ทางที่ทำให้โลกปรากฏได้ เวลาที่นอนหลับสนิท จิตไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้โลกเลย แต่ว่าพร้อมที่จะเห็นหลังจากที่ตื่นแล้ว

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นต้องมีจักขุปสาท โลกทางตาคือเห็นจึงจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เห็น เราอาจจะลืมว่า แท้ที่จริงสภาพนี้ที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย คือต้องมีจักขุปสาท เท่านี้ ประมาทได้ไหมคะว่า ไม่มีอะไรที่เที่ยง หรือจะอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย เพียงแค่จักขุปสาทหยุดเกิด ไม่เกิดอีก ก็หมดแล้ว โลกที่เป็นแสงสว่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็จะไม่ปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้น แต่ละทางก็เท่ากับจุดๆ หนึ่งของรูปในร่างกาย ที่จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตเกิดขึ้น แล้วรู้สิ่งนั้นๆ

    ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ทางตา ที่จุดเล็กๆ กลางตาก็เป็นจักขุปสาทรูป ซึ่งถ้ากรรมยังทำให้เกิดอยู่ตราบใดก็จะเป็นปัจจัยให้เห็นตราบนั้น ก็วนเวียน คือ เห็นแล้วเห็นอีก แล้วก็เห็นอีก ทางหูก็เป็นอีกรูปหนึ่ง ที่ตัวก็มีรูปอยู่แค่นี้ ๕ รูป ซึ่งเป็นทางที่จะรู้อารมณ์ต่างๆ ทางหู มีรูปซึ่งสามารถกระทบเสียง แต่ถ้ากรรมไม่ทำให้โสตปสาทเกิดต่อไป คนนั้นก็จะไม่มีโลกเสียงปรากฏอีกเลย เสียงจะไม่ปรากฏกับบุคคลนั้นเลย ถ้ารู้สาเหตุว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้มาจากกรรมที่กระทำที่ทำให้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย กายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว ส่วนใดที่สามารถจะรู้สิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ส่วนนั้นมีกายปสาท แต่ส่วนที่ไม่มีกายปสาท ถึงแม้กระทบก็ไม่มีการรู้ในลักษณะของสภาพที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว

    เพราะฉะนั้น ตลอดทั่วทั้งกายก็มีรูป ๕ รูปซึ่งเป็นทางที่จิตจะเกิด แล้วก็รู้อารมณ์ ๕ ทาง แต่ใจ ถึงแม้ว่าจะไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กายเลย ก็สามารถที่จะคิดนึก เพราะฉะนั้น ใจที่เกิดก่อน จิตที่คิดนึกอันนั้นเป็นมโนทวาร ได้แก่ ภวังคจิตขณะสุดท้าย คือ ภวังคุปเฉท หลังจากที่ภวังค์นี้ดับแล้ว วิถีจิตคือจิตที่คิดนึกก็เกิด เพราะว่าอาศัยจิตก่อนที่เป็นภวังค์เป็นมโนทวาร

    นี่ก็คือชีวิตที่วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ ทุกวันเป็นอย่างนี้ ตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่คิดถึงว่า มีตัวที่มั่นคง ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ที่เที่ยง เพราะเข้าใจผิด ก็จะรู้ว่า แต่ละขณะที่เกิดต้องอาศัยปัจจัย เพียงชั่วขณะที่แสนสั้นก็ต้องมีปัจจัยที่จะเกิดแล้วก็ดับไปเลย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะเป็นทางที่สติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็สามารถจะรู้ลักษณะนั้นจนประจักษ์ว่าเกิดดับได้

    นี่คือสติปัฏฐาน นี่คือการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งทั้งหมดก็เป็นข้อสุดท้ายของ การอบรม คือเรื่องโพธิปักขิยธรรม ๓๗


    หมายเลข 9870
    18 ส.ค. 2567