สำคัญที่ตั้งต้น
ผู้ฟัง กระผมอยากจะให้อาจารย์บรรยายธรรมในลักษณะเริ่มต้น
ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า การนั่งสมาธิที่ว่าให้จิตสงบ แล้วจะให้เป็น บาทฐานของปัญญา เป็นวิปัสสนา แล้วจะทำได้ง่ายกว่า ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายด้วย
ท่านอาจารย์ คุณสุกิจก็ขอให้ตั้งต้น ซึ่งความจริงสำคัญที่สุดเลย คือ การตั้งต้น เราจะไปทางไหน ทำอะไรก็ตาม ถ้าเราตั้งต้นผิดก็ไปผิดตลอดเลย เพราะฉะนั้น เรื่องของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วเป็นเรื่องของปัญญา เพราะเหตุว่าเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อละ อันนี้ค่ะ ถ้าเราไม่ถึงจุดนี้ เรามีแต่จะได้ จะเอา จะทำ ซึ่งนั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนาเลย
เพราะฉะนั้น แต่ละคนที่อยู่ที่นี่ พร้อมที่จะละ หรือพร้อมที่จะได้ พร้อมที่จะเอา ละ คือ ละความไม่รู้ ละความเห็นผิด ละความยึดมั่น ละความติดข้องในสิ่งซึ่งเราติดมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานนี้คะยังยาวต่อไปอีก ถ้ายังมีความติดข้อง ยังมีความต้องการในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น แม้แต่เพียงขั้นต้น คือฟัง เรายังต้องตั้งต้นด้วยฟัง เพื่อละ ถ้าไม่ใช่ฟังเพื่อละ แล้วจะไม่เข้าถึงพระพุทธศาสนาเลย เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครชักชวนให้ไปนั่งแล้วทำ ใจของเราขณะนั้นต้องการแล้ว ติดข้องแล้ว ไม่มีปัญญาแล้ว เพราะเหตุว่าไม่รู้เลยว่า นั่งอะไร ทำอะไร ปัญญารู้อะไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องไม่รู้ พอเป็นเรื่องไม่รู้ โลภะจะพาไปทันที อย่างที่บอกว่าโลภะเป็นทั้งอาจารย์ เป็นทั้งศิษย์ เวลาเป็นอาจารย์ เขาก็คิดให้ทำโน่น ทำนี่ คิดเสร็จ ลูกศิษย์ก็ทำตาม อย่างนี้มาในสังสารวัฏฏ์ โลภะเขาจะนำ แล้วลูกศิษย์คือโลภะติดตามไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคนนั้นจะต้องเข้าใจความหมายของพุทธะว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ศึกษาไม่มีทางที่ใครจะรู้ความจริง ใครจะบอกว่าไปนั่งอย่างไรๆ ก็ตามแต่ แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม เพราะว่าทุกคนที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นสาวก คือผู้ฟังพระธรรม แล้วการฟังพระธรรม เรารู้ได้เลยว่า ธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เป็นธรรมของพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่ ถ้าเป็นธรรมของพระพุทธเจ้าต้องทำให้เกิดปัญญา ความเข้าใจ แม้จะมากหรือจะน้อยก็ตามแต่ แต่ต้องเป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในอะไร ในสิ่งที่ปรากฏ ที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แต่ละขณะ แต่ละขณะ
นี่คือปัญญาที่สามารถที่จะละกิเลสได้ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ๑ ต้องฟัง ไม่ใช่ไปนั่ง นั่งกับฟัง ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร ตรงไหน
ผู้ฟัง อันนี้ก็ขอบอกตรงๆ ว่า ก็ขอยืมคำพูดของท่านอาจารย์ ไปโต้กับเขา เขาก็บอกว่า ในเมื่อคนเราเรียนปริยัติแล้วรู้รูปนามแล้ว เราละรูปนาม เท่านี้ก็ต้องทำได้แล้ว เขาว่าอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ละความเห็นผิด เป็นพระโสดาบัน ละความเห็นผิด
ผู้ฟัง เขาว่าเขาเจตนาถูก เขาบอกอย่างนี้
ท่านอาจารย์ แต่ทีนี้ความเห็นผิดขณะนี้ เห็นผิดในอะไร แล้วปัญญาเห็นถูก เห็นถูกในอะไร เขาสามารถที่จะบอกได้ไหม ว่าเห็นผิดในอะไร และเห็นถูกในอะไร ถ้าเห็นผิดในสิ่งที่กำลังปรากฏ เห็นถูกก็คือ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง แล้วเขาบอกว่าพระพุทธเจ้าก็ทำอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ทำอย่างไรคะ
ผู้ฟัง ก็ที่ว่าไปนั่งจนกระทั่งได้ฌาน ได้อภิญญา ได้อะไร
ท่านอาจารย์ ยามที่ ๑ ระลึกชาติได้ ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ยามที่ ๒ รู้จุติปฏิสนธิ ก็ไม่รู้อริยสัจธรรม ต้องถึงยามที่ ๓ จากพระปัญญาที่ได้สะสมพระบารมีมาทั้งหมด ทำให้สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งทรงแสดงเรื่องของสติปัฏฐาน สำหรับทุกคนที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมว่าเป็นหนทางเดียว เป็นหนทางที่จะทำให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ทรงแสดงอย่างนี้ หลังจากที่ตรัสรู้แล้ว ไม่ได้แสดงให้ไปนั่งที่ไหนเลย แล้วทำไมเราถึงไม่อ่านให้ละเอียด แล้วไม่พิจารณาให้ถูกต้อง เพียงแต่ว่าใครนั่ง เราก็จะนั่ง ใครทำอะไรเราก็จะทำ แต่ปัญญาไม่เหมือนกัน แล้วก็ต้องฟังโดยละเอียดด้วย ยามที่ ๑ ไม่ได้ตรัสรู้ ยามที่ ๒ ก็ไม่ได้ตรัสรู้
ผู้ฟัง ดิฉันได้เรียน เรียกว่าได้ปริยัติ ได้เรียนมาแล้วบ้าง เรียนแล้วก็รู้ว่า ควรจะต้องละเอียดแค่ไหน แต่ทำไมถึงได้ง่ายเหลือเกิน คนที่ไปนั่ง เข้าป่าไปนั่งวิเวก ตรงนั้นตรงนี้ แล้วก็ได้แค่วิตกวิจารณ์ อะไรอย่างนี้ ทำไมง่ายจริงๆ เราก็ยังนึก ก็ตรงนี้จะเอา ชนะคนที่นั่งไม่ได้ ไม่มีปัญญาจะไปโต้ตอบกับเขา
ท่านอาจารย์ บางคนเขาศึกษาพระอภิธรรม แต่จุดประสงค์ต่างกัน เรียนเพื่ออะไร บางคนเรียนแบบประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ จิตมีเท่าไร เจตสิกมีเท่าไร ถ้าบอกจำนวนอย่างนี้ เข้าใจว่าศึกษาธรรมหรือเปล่า หรือว่าศึกษาเรื่องชื่อ เรื่องราว เหมือนประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ซึ่งวันหนึ่งก็ต้องลืม พระไตรปิฎกมากมาย คนที่สามารถจะท่องก็ท่อง ท่องด้วยคิดว่า ความสามารถอยู่ที่ท่อง แต่ความจริงพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ผู้ฟังเข้าใจ แล้วรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ไปท่องอะไรเลย อยู่ที่ความเข้าใจของผู้ฟังที่จะเห็นประโยชน์ว่า การสะสมการฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจ เพื่อว่าวันหนึ่งเมื่อฟังแล้วสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติได้ ถึงระดับที่คนฟังอื่นๆ ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมมาแล้ว
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับการเข้าใจมากๆ แม้แต่คำว่า ”ธรรม” ก็ต้องรู้ว่า หมายความว่าสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าใช้คำว่า “ธรรม” มาจากคำว่า ธาตุ ธา - ตุ เหมือนกัน ถ้าใช้คำว่าธาตุ คือไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย พอพูดถึงดินเปล่าๆ ไมใช่ที่ตัวเราที่แข็ง ดินก็คือดิน ไฟก็คือไฟ น้ำก็คือน้ำ ลมก็คือลม ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย แต่ทำไมที่นี่ มากลายเป็นของเรา อ่อนหรือแข็งที่นี่ เย็นหรือร้อน มาเป็นของเรา ตึงหรือไหว มาเป็นของเรา ทุกอย่างที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า มากลายเป็นของเรา ด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังโดยละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะทราบว่า เมื่อเข้าใจธรรมแล้ว อันนี้จะเป็นหนทางที่จะทำให้สัมมาสติเกิด เป็นหนทางเดียวที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าสัมมาสติระลึกลักษณะที่มีจริงๆ ของธรรมแต่ละอย่างซึ่งกำลังปรากฏ ซึ่งก่อนฟังไม่เคยรู้เลยว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง
เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องการที่คนส่วนใหญ่ทำอย่างนั้น เราก็ต้องทำ ไม่ใช่ แต่ว่าเรียนธรรมเพื่ออะไร เพื่อสอบ หรือเพื่ออะไรก็ไม่ใช่ เพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ