ทุกข์จริงๆมาจากไหน


    ผู้ฟัง เราศึกษาพระธรรมเพื่อค่อยๆ เข้าใจลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏกับเรา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม อันนี้เป็นพื้นฐานเบื้องต้น ถ้าใครยังสงสัยตรงนี้ เรียนถามท่านอาจารย์ให้เข้าใจ พื้นฐานต่างๆ เหล่านี้เมื่อเราได้เรียนไป เรียนไป ศึกษาไป เราก็จะเข้าใจชีวิตของเราได้มากขึ้นว่า เรามาศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร

    ท่านอาจารย์ คนเก่งมีทุกข์ไหมคะ เศรษฐีมีทุกข์ไหม เพราะฉะนั้น ทุกข์มันมาจากไหนกันแน่ ถ้าทุกข์เพราะไม่มีเงิน ถ้ามีเงิน แล้วก็น่าจะมีสุข แต่คนมีเงินก็ยังมีทุกข์ คนเก่ง เก่งแล้วก็ไม่น่าจะมีทุกข์ แต่คนเก่งก็ยังมีทุกข์ได้

    เพราะฉะนั้น ทุกข์จริงๆ มาจากไหน มาจากความไม่รู้ มาจากความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจธรรมมากขึ้น เราก็จะทุกข์น้อยลง นี่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าเราจะเป็นใครอยู่ที่ไหน เราไม่ได้หมายความว่า เราจะออกนอกโลกไป เมื่อไรเป็นพระอรหันต์ เมื่อนั้นถึงจะออกจากบ้านช่องได้ พระอนาคามีท่านไม่ยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส แต่ท่านก็ยังไม่ต้องบวชก็ได้ แล้วลองคิดดูว่า ถ้าเราติดในรูปน้อยลง ติดในเสียงน้อยลง ติดในกลิ่นน้อยลง ติดในรสน้อยลง ติดในเรื่องราวต่างๆ ด้วยความเป็นเราน้อยลง เราก็ย่อมจะมีความสบายใจขึ้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเรายังติดมากๆ เราก็ต้องเป็นทุกข์มากๆ แต่ว่าเรื่องจะไม่ติดนี่ยาก ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ติด ไม่มีทางเป็นไปได้เลย แต่ว่าปัญญาจะทำให้เห็นตัวเองตามความเป็นจริงว่า ลึกแสนลึกลงไปที่เราติดมากที่สุด คือติดในความเป็นเรา ในความเป็นของเรา ในความเป็นตัวเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า จะรักใคร จะต้องการอะไรสักเท่าไรก็ไม่เท่ากับเรา เราเป็นใหญ่ แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า ไม่มีเราเลยสักขณะเดียว เป็นธรรมทั้งหมด แล้วธรรมก็เป็นธรรม คือ ธรรมฝ่ายดีก็ดี ธรรมฝ่ายไม่ดีก็ไม่ดี ไม่ว่าจะเกิดกับใครที่ไหน เราไม่เป็นคนที่เข้าข้างตัวเอง เห็นธรรมเป็นธรรมจริงๆ ก็จะสะสมธรรมฝ่ายดีเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ความทุกข์ซึ่งเกิดจากธรรมฝ่ายไม่ดีน้อยลง

    ผู้ฟัง ผมก็เริ่มปฏิบัติธรรมมาได้สัก ๒ - ๓ ปีเอง โดยใช้วิธีการอ่านจากหนังสือ แล้วทำ ท่านก็บอกว่าให้ทำสมาธิก่อน แล้ว

    ท่านอาจารย์ ขั้นไหนล่ะคะ

    ผู้ฟัง หนังสือครับ หนังสือ

    ท่านอาจารย์ หนังสือบอก

    ผู้ฟัง หนังสือที่อ่านหลายๆ เล่ม แล้วก็เมื่อได้สมาธิที่ดีแล้ว ถึงจะทำวิปัสสนาต่อไป ในส่วนตัวผมคิดว่า ผมไม่ได้ไปทำมิจฉาสมาธิ ไปทำสัมมาสมาธิ โดยการคิดเอาเองว่า การละนิวรณ์ การละกิเลส เวลาเข้าสมาธิแล้วจะทำได้ไหม แค่นี้พอไหม แล้วก็เรื่องที่ว่า จำเป็นจะต้องรู้ปริยัติก่อนแล้วถึงจะทำ ถึงจะดีกว่า ขอกราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ คงต้องเป็นปัญหาตามลำดับขั้นที่ว่า ต้องมีครูก่อน ใครเป็นครู นี่ค่ะต้องเลือกครูด้วย ถ้าเราไม่เลือกครู เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ครูพาเราไปไหน ถูกหรือผิด เพราะฉะนั้น ใครเป็นครู สำคัญที่สุด เราจะวางเรื่องนั้นทั้งหมดเลย แล้วเราเหมือนคนใหม่ที่เรากำลังจะหาครูสักคน เราจะเอาใครเป็นครูดีคะ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้เลย พระบรมศาสดา จะไม่มีใครใช้ชื่อนี้ได้เลย เพราะเหตุใด ทรงตรัสรู้สภาพธรรม ใช้คำว่าตรัสรู้ หมายความว่า ไม่ได้คิด บวก ลบ คูณ หาร แต่ว่าสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร พระปัญญาที่ได้สะสมมาที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ที่เกิดปรากฏในขณะนี้ จึงทรงพระนามว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระบรมศาสดา

    เพราะฉะนั้น หนังสือที่จะอ่าน จะอ่านหนังสือเล่มไหน ในเมื่อเรามีครูแล้ว เราก็ต้องอ่านหนังสือของครู ถ้าเราเลือกครูแล้วเราจะไปอ่านหนังสือของคนอื่นไม่ได้ แล้วเราคิดหรือว่า คนอื่นจะมีปัญญาเท่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง คือของท่านพระพุทธเจ้าถูกต้องที่สุด คือว่า มีหลายวิธี อาจารย์ท่านเหล่านี้จะเลือกเฟ้นของท่านออกมา ๑ วิธี ๑ วิธี

    ท่านอาจารย์ คือถ้าเราฝากความรู้ไว้กับผู้หนึ่งผู้ใด ยากเหลือเกินที่จะรู้ว่าอาจารย์ท่านผิดหรือเปล่า เพราะว่าคงจะไม่มีใครที่สามารถเข้าใจพระไตรปิฎก และอรรถกถาได้ตลอด บางท่านถูกตรงนี้ ผิดตรงนั้นก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ผิดเลย หรือจะไม่ถูกเลย แต่ส่วนที่ถูกจริงๆ ทั้งหมดมาจากพระธรรมที่ทรงแสดงไว้แล้ว

    เพราะฉะนั้น การศึกษา ศึกษาจริงๆ จะทราบได้เลยว่า ใครสอน โดยการคิดเองแต่ไม่ตรงเลยกับพระไตรปิฎก อย่างที่จะกล่าวว่า นิพพานเป็นอัตตา อย่างนี้ แค่นี้เราก็รู้แล้ว ใช่ไหมคะ แต่ไม่ใช่เพียงเท่านี้ ยังมีอีกมากมายนัก ถ้าบอกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถูกแน่นอน มีในพระไตรปิฎก แล้วเป็นความจริง ซึ่งเราต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ คิด ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร อริยสัจธรรมคืออะไร ถ้าบอกว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ชื่อ ทุกคนจำได้หมดเลย ทุกข์ คืออะไรคะ ที่อ่านแล้ว ทุกข์คืออะไร

    ผู้ฟัง ทุกข์คือความที่ทนไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทนอะไรไม่ได้

    ผู้ฟัง ทนสิ่งต่างๆ ที่มากระทบไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เช่นขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นทุกข์ไหม

    ผู้ฟัง ก็แล้วแต่เฉพาะคนว่า คนๆ นั้นทนได้ไหม ถ้าทนได้ก็ไม่ทุกข์

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ใช่อริยสัจ ถ้าอริยสัจ ก็คือว่า สังขารธรรมทั้งหลาย หรือว่าสภาพธรรมทั้งหมดที่มีเหตุปัจจัยเกิดปรุงแต่งเกิดแล้วดับ นี่คือความหมายของทุกขลักษณะที่จะทำให้ถึงนิพพานได้

    เพราะฉะนั้น หนังสือที่อ่าน เราก็ค่อยๆ ทิ้งไป ถ้าเราได้ศึกษาธรรมจริงๆ เราจะรู้เลยว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างนี้ แต่ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม จะพูดอีกอย่างหนึ่ง จะคิดอีกอย่างหนึ่ง จะเขียน จะเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเลือกด้วย ไม่ใช่ว่าไปติดอยู่ที่หนังสือบางเล่ม แต่ต้องไขว่คว้าหาไปอีกว่า จริงๆ แล้วคืออย่างไร แล้วที่ถูกต้องที่สุดคือ เริ่มศึกษาพระธรรมเสีย จะทำให้เราไม่เสียเวลา คือว่า ไม่ไปติดอยู่ที่ความคิดของแต่ละบุคคล


    หมายเลข 9875
    18 ส.ค. 2567