ไม่มีพระธรรมเป็นสรณะ


    ผู้ฟัง ถ้าผมทำตามวิธีว่า วิธีปฏิบัติสมาธิ ทำอย่างนี้ อย่างนี้ ผมทำตาม ดำเนินตามวิธีที่ท่านได้เขียนลงไป มันไม่น่าจะผิด นี่คือข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ คือว่า ถ้าอย่างนั้นควรจะศึกษาอภิธรรมก่อน หมายความว่าผมควรจะเลิกหยุดปฏิบัติสมาธิก่อน เพื่อจะเรียนพระอภิธรรมให้ได้ก่อนแล้วถึงจะทำ หรืออย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ เคยพูดคำว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ไหมคะ แล้วต่อจากนั้นคือ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ หมายความว่าอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง จะยึดพระพุทธ พระธรรมเป็นที่ตั้ง

    ท่านอาจารย์ มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง พระธรรมคือคำสอน เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ศึกษาคำสอน เราจะมีอะไรเป็นที่พึ่งที่จะรู้ว่าใครผิดใครถูก แต่ถ้าเราศึกษาแล้ว เราสามารถที่จะรู้ได้ จะไม่มีชื่อคนเลย แต่จะมีว่าคำพูดอย่างนี้ ไม่ตรงไม่ถูกกับสภาพธรรม เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เมื่อเราศึกษาแล้วเราสามารถที่จะวัดได้ รู้ได้ ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังหรืออ่านนั้นถูกต้องหรือเปล่า แต่ถ้าเรายังไม่ได้เรียน ก็เป็นของธรรมดาที่ว่า ได้ยินได้ฟังอะไร เพราะเราไม่มีอะไรเป็นเครื่องวัด ไม่มีพระธรรมเป็นสรณะ เพราะฉะนั้น เราก็เข้าใจว่า ผู้นี้ถูก ผู้นั้นถูก แต่ถ้าเราศึกษา มีพระธรรมเป็นสรณะจริงๆ แล้วต่อไปเราจะมีพระอริยสงฆ์ คือ พระอริยบุคคลเป็นสรณะ เพราะเรารู้ว่า หนทางใดที่จะทำให้บุคคลใดเป็นพระอริยเจ้าได้ ไม่อย่างนั้นเราไม่รู้ เราสับสน และเราก็เอาความคิดของเราเองว่า คงจะเป็นอย่างนี้ หรือคงจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียดมาก ลึกซึ้งมากด้วย เมื่อ ๒ - ๓ วันนี้เราก็มาพูดกันบ่อยๆ เรื่องอริยสัจ ๔ ๒ อริยสัจแรกลุ่มลึกเพราะเห็นยาก แต่ว่า ๒ อริยสัจหลังซึ่งรวมทั้งการประพฤติปฏิบัติ การอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นอริยสัจสุดท้ายด้วย เห็นยากเพราะลุ่มลึก ทำไมเราลืมคำนี้ เราคิดว่าไปนั่งเฉยๆ ง่ายๆ เป็นสมาธิ ไม่ต้องศึกษาอะไร แล้วอย่างนั้นคำที่ว่า เห็นยากเพราะลุ่มลึก จะมีความหมายว่าอะไร

    เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดที่ได้ศึกษาจะสอดคล้องกันทั้งหมดทุกคำ ไม่คัดค้านกันเลย แม้แต่การที่เราจะไปคิดว่าเราจะไปทำสมาธิ แต่ว่าในคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ภาวนามี ๒ อย่าง สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ภาวนาทั้ง ๒ จะเป็นไปได้เมื่อมีปัญญา หมายความว่าถ้าปราศจากปัญญาแล้วจะอบรมเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาไม่ได้เลย เพราะอะไรคะ เพราะเหตุว่า สมถะ แปลว่าสงบ สงบไม่ใช่ไปนั่งเฉยๆ คนเดียว ว่างๆ ไม่รู้อะไร แต่สมถะหมายความว่า สงบจากอกุศล เพราะฉะนั้น ขณะใดจิตเป็นอกุศล ผู้นั้นต้องรู้ ไม่ใช่ไปรู้ชื่อนิวรณ์ ๕ กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ แต่ขณะนี้นิวรณ์อะไร ทางตาหลังจากที่เห็น นิวรณ์อะไร ทางหูหลังจากที่ได้ยินแล้ว นิวรณ์อะไร เพราะสภาพธรรมมีจริงๆ ทั้งหมด แต่เราไปฟังเพียงชื่อ เราไปอ่านเพียงชื่อ เราไปจำเพียงชื่อ ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงชื่อทั้งหมดขณะนี้มีหรือเปล่า แล้วเมื่อไร แต่ว่าการอบรมเจริญปัญญา แม้ว่าเป็นขั้นของความสงบ คือ สมถะ ก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้นจิตสงบ หรือไม่สงบ ต้องมีสติสัมปชัญญะ ขณะนั้นสามารถที่จะรู้สภาพจิต อย่างที่เราถามกันว่า จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล หมายความว่า คำถามของเราไม่ได้รู้สภาพจิต จึงได้ถามเพียงชื่อ และเรื่องราวว่า อย่างนั้นเป็นกุศล หรืออย่างนี้เป็นอกุศล แต่เวลาที่สภาพจิตอย่างไรเกิด สติสัมปชัญญะระลึกแล้วรู้ ขณะนั้นลักษณะของจิตที่เป็นกุศลต่างกับจิตที่เป็นอกุศล แล้วเป็นอกุศลประเภทไหน กามฉันทะ หรือพยาบาท หรือวิจิกิจฉา หรืออะไรที่เป็นนิวรณ์ทั้งหมด เพราะว่าอกุศลทั้งหมดเป็นนิวรณ์ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ แล้วคนในครั้งโน้นที่อบรมเจริญสมถภาวนา ท่านเหล่านั้นเห็นโทษของโลภะ แต่เราเห็นโทษของโลภะหรือเปล่า แต่เราต้องการ ต้องการละ ขณะนั้นเป็นโลภะก็ไม่รู้ แต่ถ้าเรานั้นสามารถที่จะรู้ว่า เพียงเห็นเป็นอกุศลแล้ว ติดแล้ว เพียงได้ยินก็ติดข้องแล้ว เร็วมาก แล้วก็บางเบามาก เพราะเหตุว่าเรามักจะเห็น อกุศลหยาบๆ ใหญ่ๆ พอเห็นใครที่เขาโกง ทุจริต เราก็บอกว่าเขามีโลภะมาก แต่ว่าพอเห็นแล้วชอบ ยังไม่ทันรู้ตัวเลยว่า เป็นโลภะ บางคนเขาก็เดินไปตามถนน แล้วเขาบอก อันนั้นสวยดี เป็นโลภะ แต่ก่อนที่จะสวยดี โลภะเท่าไรแล้ว ก็ไม่ทราบ ทันทีที่ลืมตาตื่นขึ้นมา ก็มีความติดข้อง ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาถูกต้องในครั้งโน้น ที่จิตจะสงบ จนถึงขั้นระดับของอัปปนาสมาธิ ท่านต้องเห็นโทษของโลภะ แล้วรู้ว่าถ้าตราบใดที่ยังมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือแม้เพียงการคิดนึกเรื่องราวของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จิตก็ไม่สงบ

    เพราะฉะนั้น ท่านรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล ซึ่งต่างกับอกุศล แล้วรู้ว่าการที่จะตรึกนึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตสงบเป็นกุศล ต้องอาศัยสภาพธรรมที่ตรึก คือ นึกบ่อยๆ ในสภาพธรรมที่ทำให้จิตเป็นกุศล ไม่ใช่ไปนึกอะไรก็เป็นกุศลไปหมด ไม่ได้ อย่างเห็นซากศพซึ่งเป็นอสุภกรรมฐาน คนนั้นต้องเป็นผู้ตรงว่า เห็นแล้วกลัว หรือว่าเห็นแล้วปัญญามี ขณะนั้นจิตจึงสงบได้ แต่ถ้าปัญญาไม่มี จิตไม่สงบ

    เพราะฉะนั้น ท่านสามารถที่จะรู้สภาพของจิต แล้วก็ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ปัญญาก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล แล้วก็ตรึกอย่างไรกุศลจิตจะเกิด จนกระทั่งจิตของท่านเป็นกุศลขึ้น เป็นกุศลขึ้น เป็นกุศลขึ้นในอารมณ์ ในสภาพของอารมณ์ คือสิ่งที่จิตรู้ที่ทำให้สงบ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าง ไม่ใช่ไม่มีปัญญา ต้องประกอบด้วยปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของจิตด้วย นั่นจึงจะเป็นสมถภาวนา นี่คือ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สอบทานได้กับพระไตรปิฎก มีเหตุมีผลที่จะทำให้เราสามารถเข้าใจทุกคำที่เราได้ยินอย่างถูกต้อง พอเขาบอกว่าสงบ เราสงบไปด้วย โดยเราไม่รู้ว่า สงบคืออะไร สงบจะเกิดได้อย่างไร จะมั่นคงขึ้นได้อย่างไร เพราะอะไร ไม่มีคำอธิบาย ไม่มีเหตุผล มีแต่เรื่องทำด้วยโลภะ หรือด้วยความต้องการ

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความต้องการ แล้วก็ไปนั่งทำด้วยความต้องการ ก็อาจารย์กับศิษย์ก็ช่วยกันไป ทำกันไป พอเกิดว่างๆ ก็ดีใจติดข้อง ชอบใจเข้าไปอีก ก็คือไม่มีพระธรรมเป็น สรณะ


    หมายเลข 9878
    18 ส.ค. 2567