มิจฉาสมาธิ - สัมมาสมาธิ
ผู้ฟัง ยังข้องใจอยู่ว่า มองดูอย่างท่านปัญจวัคคีย์ ท่านก็สำเร็จอภิญญาโดยใช้สมาธิ โดยไม่มีพระธรรม
ท่านอาจารย์ ท่านปัญจวัคคีย์ องค์แรก คือ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ บรรลุมรรคผลหลังจากที่ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ผู้ฟัง เพราะว่าท่านมีสมาธิที่ดี แล้วท่านถึงจะได้วิปัสสนา อย่างนั้นใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีการฟังเข้าใจ สำคัญที่สุดคือเข้าใจ ขณะนี้ไม่ต้องห่วงเรื่องสมาธิ ถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า สมาธิ หรือเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ใครจะไม่ให้เอกัคคตาเจตสิกเกิดไม่ได้เลย เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิดกับจิต มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า พระปัญจวัคคีย์ขณะนั้นไม่ได้ไปเจริญฌาน หรืออะไรเลย แต่ฟังพระธรรม แล้วเมื่อจบเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
ผู้ฟัง หมายความว่า สมัยที่พระพุทธเจ้าที่ยังไม่ตรัสรู้ ท่านก็ไปเรียนกับพวกปัญจวัคคีย์
ท่านอาจารย์ ปัญจวัคคีย์เป็นศิษย์ที่อุปัฏฐาก ระหว่างที่บำเพ็ญทุกรกิริยา มี ๕ รูปด้วยกัน เป็น ปัญจวัคคีย์ คือว่าพวกนี้มี ๕ คน
ผู้ฟัง ๒ องค์ ใช่ไหมครับ อาฬารดาบส และ
ท่านอาจารย์ ปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ อาฬารดาบสกับอุทกดาบส แต่จากการที่ได้สะสมบารมีมา ทรงทราบว่า ไม่ใช่หนทาง
ผู้ฟัง ก็หมายความว่า ทำสมาธิที่ได้มาก็ได้มาจาก ๒ ดาบสนี้ เสร็จแล้วพระองค์ท่านถึงมาเจริญวิปัสสนา
ท่านอาจารย์ แต่ ๒ ดาบสไม่ทราบ คิดว่านั่นคือการหมดกิเลส ถึงกับขอให้พระพุทธเจ้าเป็นอาจารย์สอน
ผู้ฟัง ไม่ใช่ ผมหมายความว่า สมาธิไม่จำเป็นจะทำ
ท่านอาจารย์ สมาธิไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา เพราะว่าถ้าเกิดปัญญา ท่านอาฬารดาบส ต้องเกิดปัญญาแล้ว ต้องมีผู้ที่ตรัสรู้ก่อน
ผู้ฟัง มี ๒ ส่วน คือ สมถภาวนากับมีวิปัสสนาภาวนา สมถะ นี้ไม่ทำให้เกิดปัญญา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตัดเรื่องอาฬารดาบสออกไป พอถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ตรัสรู้จะทรงแสดงพระธรรมได้ไหม
ผู้ฟัง ผมขอถามนิดหนึ่ง คือ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติ อย่างเช่น ยกตัวอย่าง อุทกดาบส หรืออาฬารดาบสก็ได้ ฤาษีอื่นๆ ก็เยอะแยะ ที่อาจารย์พูดว่า ผู้ที่จะสมถะให้จิตสงบ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา เห็นโทษของโลภะ เห็นโทษของโทสะ แต่ก่อนหน้านั้นมีผู้ที่ทำสมาธิจนกระทั่งได้ฌาน ได้อภิญญา โดยที่เข้าใจผิดว่า การทำสมาธิเพื่อจะไปถึง ปรมาตมัน อาตมัน หรือถึงพระผู้เป็นเจ้า หรืออะไรก็ตามแต่ ก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติ พวกนี้ไม่ได้เห็นโทษของโลภะ ไม่ได้เห็นโทษของโทสะ แต่จิตเขาก็สงบระดับหนึ่ง ได้ฌานได้ถึงอัปปนา
ท่านอาจารย์ ต้องเห็นโทษ
ผู้ฟัง ต้องเห็นโทษด้วยหรือ
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นกุศลด้วย ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ไม่อย่างนั้นจะอบรมเจริญสมถภาวนาไม่ได้ เพราะเหตุว่ารูปาวจรจิต หรือแม้แต่อัปปปนาสมาธิ หรืออุปปจารสมาธิ ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์โดยตลอด
ผู้ฟัง แต่ตอนที่เขาไปนั่งทำสมาธิ จุดมุ่งหมายเขาไม่ได้มี
ท่านอาจารย์ อย่างน้อยมีปัญญาระดับที่เห็นโทษของโลภะ ถึงจะเจริญสมถภาวนา ถ้าไม่เห็นโทษ ไม่ต้องเลย เพราะเหตุว่ายิ่งมีรูป เสียง กลิ่น รส ที่น่าพอใจเท่าไร ก็สบายดีแล้ว
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น บุคคลทั่วไปมานั่งทำสมาธิก็เสียเวลา เสียประโยชน์เปล่า
ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่รู้ว่า สมถภาวนาคืออะไร เขาเพียงแต่ว่าไม่ชอบโทสะ เวลาที่ไม่ชอบโทสะ เขาจึงอยากจะนั่ง เพื่อที่จะไม่ได้เกิดโทสะ แต่ถ้าถามถึงเรื่องโลภะ เขาไม่เห็นโทษเลย นี่คือความต่างกันของคนสมัยโน้น กับคนสมัยนี้
ผู้ฟัง เท่าที่ฟังความคิดของคุณอุดม จะเข้าใจว่า เพราะว่าพระพุทธเจ้าไปเรียน สมาธิก่อนจึงได้วิปัสสนา เพราะฉะนั้น สมาธิก็คือบาทของวิปัสสนา อยากจะให้อาจารย์ ขยายอันนี้
ท่านอาจารย์ คนละเรื่องเลย คือว่า ความสงบเป็นความสงบ เพราะฉะนั้น ในครั้งโน้นก็มีผู้ที่ได้บำเพ็ญสมถภาวนา แล้วก็เป็นผู้ที่ถึงฌานมาก แต่พวกที่ได้ฌานนั่นเองไม่ใช่ว่าจะได้วิปัสสนา เพราะเหตุว่าถ้าไม่ได้มีการฟังพระธรรม แล้วก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของฌานก็เรื่องของฌานไป
แต่ถ้าเมื่อไรบุคคลเหล่านั้นได้ฟังพระธรรม แล้วก็ทรงแสดงหนทางว่า หนทางที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คือ รู้สภาพที่เป็นทุกขลักษณะ ที่เป็นอริยสัจจะที่กำลังเกิดดับ มีหนทางเดียว เพราะเหตุว่าขณะนี้สภาพธรรมเป็นอย่างนั้น ใครจะรู้หรือไม่รู้ สภาพธรรมก็เป็นอย่างนั้น เรากำลังบอกว่า ขณะนี้สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับ จิตเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ จิตเกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับ สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ได้ฟังอย่างนี้ ใครจะประจักษ์อย่างนี้ หรือไม่ประจักษ์เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลไป แต่ความจริงก็คือความจริง
เพราะฉะนั้น เมื่อทรงตรัสรู้แล้วก็ทรงแสดง โดยที่พวกที่อบรมเจริญสมถภาวนา ไม่มีโอกาสที่จะรู้อย่างนี้เลย ถ้าไม่ฟัง
เพราะฉะนั้น ต้องฟังคำสอนของผู้ที่ตรัสรู้ เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่เคยอบรมเจริญสมถะมาก่อน แล้วก็ฟังคำสอน ต้องเริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาจะคลายความไม่รู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม รูปธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราเลย แต่เป็นธรรม เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น จากการฟัง ก็ยังจะต้องมีปัจจัย คือ สังขารขันธ์พอที่สัมมาสติจะระลึก แล้วเมื่อระลึกแล้ว ต้องศึกษาตัวจริงๆ คือสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ให้เข้าใจลักษณะที่ต่างกัน ซึ่งเป็นนามธรรมก็เป็นนามธรรม รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม คือต้องตั้งต้นใหม่ อบรมใหม่ จนกว่าปัญญาจะพร้อม และเมื่อถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่า จะประกอบด้วยฌานตามที่เคยได้แล้วแต่จะมีฌานจิต หมายความว่าองค์ของฌานเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีองค์ของฌานเกิดร่วมด้วย ก็ตามกำลังของการสะสม แต่ว่าต้องตั้งต้นศึกษาลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ว่าอาศัยสมาธิระดับนั้น พอถึงเวลาแล้ววิปัสสนาก็เกิดเลย เป็นไปไม่ได้ ที่จะไม่รู้เรื่องของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ แล้วก็จะไปประจักษ์ การเกิดดับ
ผู้ฟัง คืออย่างนี้ ที่ความเข้าใจของผม คือทำสมาธิให้มีสติตั้งมั่นที่ดี กระนั้นการทำวิปัสสนา ก็จะดีกว่าที่จะมาทำแบบตอนขณะที่ไม่มีสมาธิที่ดี
ท่านอาจารย์ นี่คือความต้องการอันดับ ๑ โดยที่ไม่รู้เลยว่า เรื่องละ จะละตรงนี้ได้อย่างไร แล้วถ้าไม่ใช่ปัญญา อะไรๆ ก็ละไม่ได้
ผู้ฟัง ผมต้องการแค่เบื้องต้น
ท่านอาจารย์ คือโดยมากถ้าไม่ศึกษาจริงๆ เราจะถูกหลอก คือเข้าใจว่า สมาธิเป็นสติ ถ้าสามารถที่จะตอบได้เมื่อไรว่า สติไม่ใช่สมาธิ เมื่อนั้นเริ่มเข้าใจ อย่างที่เราใช้คำว่าใช้สติ เอาสติ หรือจะทำสติ หรือเจริญสติก็ตามแต่ ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสติ ทั้งหมดเป็นโมฆะ เราไปเอาสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ สมาธิมาเปลี่ยนชื่อใหม่ ว่านี่เรากำลังจะทำสติ เอาสมาธินั่นแหละมาทำสติ แต่เรายังไม่รู้ความต่างกันจริงๆ ของสติกับสมาธิ ซึ่งไม่เหมือนกันเลย และไม่ใช่ธรรมอย่างเดียวกันด้วย
เพราะฉะนั้น สติเป็นสติ สมาธิเป็นสมาธิ ถ้าเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เจริญสมาธิปัฏฐาน คำนี้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก เฉพาะสติเท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน ที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่สมาธิปัฏฐาน ไม่ใช่สัญญาปัฏฐาน ไปจำ วัด แล้วมาคิด ก็ไม่ใช่
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นการศึกษาโดยละเอียดจริงๆ แล้วต้องรู้ว่า ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด เราก็เข้าใจผิดได้ อย่างสติกับสมาธิ ยังคิดว่าเป็นอันเดียวกัน หรือยังคิดว่าใช้ ๒ ชื่อ คือพอเป็นสมาธิไปๆ ก็เป็นสติ แต่ถ้าสามารถที่จะบอกได้ว่า สติไม่ใช่สมาธิ อันนั้นคือเริ่มเข้าใจถูก ถ้ายังไม่เข้าใจ เราก็ศึกษาให้เข้าใจขึ้น จนกว่าจะมีความเข้าใจ แต่เรื่องทำ ไม่ใช่เรื่อง เราทำ แน่นอน ปฏิปัตติ เป็นสภาพธรรมที่ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมทีละ ๑ อย่างในขณะนี้โดยสติ และมรรคองค์อื่นนั่นเองที่เกิดร่วมกัน
แล้วเรื่องสมาธิก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะว่าสมาธิเกิดกับจิตทุกขณะอยู่แล้ว แต่ว่าสมาธิ มี ๒ อย่างที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง คือ มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ ถ้าเราแยกยังไม่ออก เราเข้าใจว่าเป็นสัมมาสมาธิ แต่ความจิรงเป็นมิจฉาสมาธิได้ ตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่า สัมมาสมาธิคืออย่างไร มิจฉาสมาธิคืออย่างไร ถ้าสามารถบอกได้ว่า มิจฉาสมาธิคืออย่างไร นั่นคือเรามีสัมมาสมาธิ ถ้าตอนนี้เรายังบอกไม่ได้ระหว่างมิจฉาสมาธิกับ สัมมาสมาธิ ก็หมายความว่ายังเป็นมิจฉาสมาธิอยู่ จนกว่าเมื่อไรบอกได้ว่า มิจฉาสมาธิคืออย่างไร เมื่อนั้นคือรู้จักสัมมาสมาธิ