ฟังบ่อยๆ จนมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ
ผู้ฟัง หมายความว่าถ้าปัญญามีการค่อยๆ เจริญพัฒนามาเรื่อยๆ ปัญญาต้องรู้ความแตกต่างของรูปนาม นามธรรมใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ รู้ขึ้น รู้ทีเดียวก็ต้องเป็นปัญญาที่ได้อบรมแล้ว
ผู้ฟัง ก็หมายถึงเป็นวิปัสสนาญาณใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เจริญสมบูรณ์จนถึงวิปัสสนาญาณ
ผู้ฟัง ตรงนี้เข้าใจ แต่หมายความว่าในชีวิตประจำวันที่เป็นอยู่ปัญญาไม่ได้รู้อะไรเลย
ท่านอาจารย์ เหมือนอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องรู้ขณะที่สติเกิด อันนี้สำคัญมาก กับขณะที่สติไม่เกิด สติที่นี่หมายความถึงสติปัฏฐาน ในเมื่อมีลักษณะธรรมดาอย่างนี้เลย สติคือค่อยๆ เข้าใจ จะเข้าใจอะไร แข็ง ก็รู้ลักษณะนั้น กำลังรู้ในลักษณะนั้น ขณะนั้นจะไม่มีเรื่องราว และก็ไม่มีอย่างอื่น แต่เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก การรู้ตรงลักษณะนั้นก็เล็กน้อย แต่ว่าถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า สติปัฏฐานเริ่มเกิดโดยรู้อะไรบ้าง ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ตลอดทั่วถึง เช่น ขณะนี้ที่กำลังเห็น จะไปบีบคั้นยังไงให้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมให้ปรากฏให้รู้ว่าเป็นธาตุรู้ก็เป็นไปไม่ได้ แต่จากการฟังก็รู้ความต่างว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาก็กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่มีสภาพที่สามารถเห็น สิ่งนี้จะปรากฏได้ไหม อาศัยการฟังบ่อยๆ เหมือนคิด เพราะเหตุว่าใครก็ห้ามจิตไม่ให้คิดไม่ได้ แต่ว่าเวลาที่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ หวังว่ารู้เลย อย่างโกรธเกิด ให้รู้ลักษณะของโกรธเลย ให้ประจักษ์แจ้งว่าโกรธไม่ใช่เรา เกิดขึ้นแล้วดับไป นี่คือหวัง แต่ต้องมีเหตุจากการเริ่มต้น คือเริ่มต้นจากการฟังว่าทุกอย่างไม่ว่าอะไรทั้งนั้นที่กำลังปรากฏ จริงๆ แล้วคนที่โกรธ แล้วก็สติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานไม่เกิดเลยนี่เยอะ ก่อนที่จะได้ฟังธรรมก็โกรธไปเลย แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด มีโอกาสจะเกิด มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด ขณะนั้นคือระลึก จะใช้คำว่า “ระลึกได้” ก็ได้ คือตรงนั้นกำลังรู้ลักษณะ มีลักษณะของโทสะปรากฏ เหมือนกับขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้รู้ ให้ระลึก
เพราะฉะนั้น เวลาที่โทสะเกิด โทสะก็เป็นสิ่งที่มีจริงขณะนั้น คือถ้ามีปัจจัย สติก็ระลึกคือรู้ลักษณะ คำว่าลักษณะนี้ก็แสดงให้เห็นว่า “ไม่ใช่เรา” โทสะก็ลักษณะหนึ่ง แข็งก็ลักษณะหนึ่ง เสียงก็ลักษณะหนึ่ง แต่ไม่คุ้นกับลักษณะ ได้ยินแต่ชื่อบ่อยๆ ได้ฟังแต่ชื่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ว่าขณะใดที่กำลังรู้ตรงนั้น แม้สั้นหรือเล็กน้อย ขณะนั้นก็ไม่มีการที่จะคิดถึงเรื่องอื่นเลย ขณะนี้มีแข็งกำลังปรากฏ ถ้ารู้ตรงแข็ง แข็งก็ต้องปรากฏ ไม่ใช่อย่างอื่นปรากฏ ไม่ใช่คิดด้วย นั่นคือขณะนั้นถ้ามีเหตุปัจจัยที่ไม่ใช่เราที่จงใจ แต่มีปัจจัยก็เกิด และรู้ตรงนั้น
เราก็จะเห็นความต่างว่า เวลาที่มีความเป็นตัวตน มีความจงใจ อยากจะให้สติเกิด ขณะที่กำลังจงใจจดจ้อง ขณะนั้นจะไม่ใช่สติ แต่ขณะใดก็ตามที่เกิดระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใด ไม่ลืมคำว่าลักษณะ เพราะสภาวธรรมทั้งหมดมีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้น ที่เรามักจะติดคำว่า “ลักขณาทิจตุกะ” ใช้กันบ่อย สภาพธรรมอย่างหนึ่งจะมีทั้งลักษณะ มีทั้งกิจหน้าที่ มีอาการที่ปรากฏ และมีเหตุใกล้ให้เกิด รวม ๔ แต่ใช้คำว่าอาทิเป็นต้น กล่าวถึง ๔ อย่างโดยเริ่ม หรือว่าโดยกล่าวถึงลักขณะเป็นต้น จึงใช้คำว่า“ลักขณาทิจตุกะ” แต่ว่าตามความจริง เรารู้ถึง ๔ อย่างหรือเปล่า เพราะแม้เพียงลักษณะเดี๋ยวนี้ ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็มีลักษณะ ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช้คำพูดเรียกในภาษาใดเลย สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ กำลังปรากฏทางตาอย่างนี้ นี่คือลักษณะหนึ่ง เสียงเป็นอีกลักษณะหนึ่ง ไม่ต้องใช้คำอะไรเลย หรือจะใช้คำไหนก็ได้ในภาษาไหนก็ได้ แต่ให้เข้าใจว่า หมายความถึงอีกลักษณะหนึ่ง คือให้รู้ว่าลักขณาทิจตุกะที่เรากล่าวทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน และเราไม่ต้องไปท่องถึง ๔ เพราะว่าเพียงแค่ลักษณะที่มีก็ยังไม่รู้ แต่ให้รู้ว่าทุกอย่างมีลักษณะเฉพาะอย่างๆ
การฟังบ่อยๆ ก็จะทำให้มีปัจจัยที่รู้ตรงลักษณะ ขณะนั้นก็คือสติระลึกแล้วกำลังรู้ตรงนั้น ขณะที่รู้ตรงนั้นก็คือว่าไม่มีอย่างอื่น อย่างเสียง กำลังรู้ตรงเสียงตามธรรมดา แต่ส่วนใหญ่บางคนก็จะเล่าให้ฟัง มักจะไปพยายามจดจ้องหรือพยายามหา แต่ขณะนั้นผู้นั้นก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของตัวตน คือมีความเป็นเราที่ต้องการ
เพราะฉะนั้น ก็จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริง ถ้าไม่รู้ ก็รู้ว่าขณะนั้นก็คือสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งรู้ไม่ได้ เข้าใจไม่ได้เพราะเป็นอวิชชา ก็แสดงให้เห็นว่าเราเริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริงโดยการที่สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เกิดความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แต่ว่าเป็นการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นจะไม่ถึงวันหรือไม่ถึงกาลที่พอมีสภาพธรรมปรากฏแล้วก็สติมีปัจจัยเกิดแล้วก็รู้ตรงนั้นเป็นปกติธรรมดา แต่อย่าหวังต่อไปว่าจะรู้จนกระทั่งประจักษ์การเกิดดับ เพราะว่าโลภะจะแทรกเข้ามาตลอด ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ตรงสามารถที่จะเริ่มเข้าใจถูกว่าลักษณะไหนเป็นธรรมอะไร ไม่ใช่เพียงแต่รู้จักชื่อกับเรื่อง
ที่มา ...