ระลึกด้วยความเป็นตัวตน


    ผู้ฟัง ในแต่ละบุคคลก็จะต้องมีความแตกต่างไปตามอัธยาศัย เพราะฉะนั้นอยากจะกราบเรียนถามว่าสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วสติสามารถที่จะระลึกได้ในแต่ละบุคคลจำเป็นต้องเป็นไปในวิถีทางเดียวกันไหม

    ท่านอาจารย์ ตาของทุกคนเหมือนกันไหม ไม่ได้หมายความถึงรูปร่างของตา แต่หมายความถึงสภาวธรรมที่สามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา กระทบแข็งไม่ได้ กระทบเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้นสีสันวรรณะแม้มีจริง ก็จะปรากฏเฉพาะกับผู้ที่มีจักขุปสาท เหมือนกันไหม หรือของคนนี้เป็นอีกอย่าง ของอีกคนเป็นอีกอย่าง

    ผู้ฟัง จริงๆ ถ้าจะพูดว่าเหมือนกันก็เหมือน แต่ถ้าจะต่างก็ต่าง

    ท่านอาจารย์ ความหลากหลาย ความวิจิตร

    ผู้ฟัง เพราะว่ามันมีกรรมเป็นเหตุ มันก็ต้องมีความแตกต่างกันด้วย

    ท่านอาจารย์ แต่ความจริงสภาพธรรมเกิดดับเร็วมากเลย กว่าใครจะรู้อย่างที่ได้ฟัง ได้ฟังเรื่องไว้มากมายเลย การเกิดดับโดยสภาพที่เป็นขันธ์ เป็นธาตุ เป็นอายตนะมีเท่าไหร่ ยังไง นั่นคือเรื่องราว แต่ที่จะรู้จริงๆ เริ่มจากการรู้ว่าเป็นธรรมที่มีลักษณะแต่ละอย่าง ก็ต้องอาศัยขณะที่สภาพธรรมนั้นมีแล้วก็การที่ระลึกได้คือสติเกิด แล้วรู้ตรงลักษณะ ถึงจะรู้ลักษณะนั้นจริงๆ อย่างแข็ง เรากล่าวว่าโผฏฐัพพะหรือโผฏฐัพพารมณ์เป็นภาษาบาลี เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ก็ตรงขณะที่สติสัมปชัญญะรู้ตรงนั้น จะระลึกสิ่งใดสิ่งนั้นก็เกิดแล้วปรากฏจึงระลึกได้ ถ้าสิ่งนั้นยังไม่ได้เกิด ไม่ได้ปรากฏจะระลึกได้ยังไง แต่สิ่งที่กำลังมีปรากฏในขณะนี้ ไม่ต้องไปคิดวุ่นวายกับเกิดแล้วดับแล้ว เกิดสืบต่อนานแสนนาน ไม่ต้องเป็นอย่างนั้นเลย กำลังมีสิ่งใดปรากฏก็รู้ระลึกนั่นเองตรงลักษณะนั้นเท่านั้น

    ผู้ฟัง ทีนี้การระลึกก็จะมีอยู่ ๒ อย่างแน่นอน คือระลึกด้วยความเป็นตัวตนที่จะระลึก กับระลึกด้วยสติสัมปชัญญะเกิดจริงๆ แล้วระลึก

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้ความต่างใช่ไหมใน ๒ อย่าง ปัญญาก็จะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจว่าหนทางไหนเป็นหนทางที่ถูกต้อง ยังมีความเป็นตัวตนแอบแฝงอยู่ที่ไหน เพราะว่าจะต้องดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนหมด เป็นพระโสดาบันต้องรู้แจ้งอริยสัจจธรรม กว่าจะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่ระลึกรู้ลักษณะนั้นจะประจักษ์ได้อย่างไร ก็ไม่มีทางเลย และเมื่อค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ รู้ ก็จะค่อยๆ คลายการยึดถือ อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าเริ่มเข้าใจว่าลักษณะอย่างนี้ ธรรมดาอย่างนี้แหละ ไม่ใช่ต่างจากนี้เลย แล้วก็เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่คน เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วความจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ถ้าระลึกถึงลักษณะนี้แม้แต่เพียงนิดเดียว ก็แสดงให้เห็นว่า กว่าเราจะชินกับการที่จะรู้ว่า ขณะที่คิดถึงสัตว์ บุคคล ไม่ใช่เห็น และไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ เราก็เริ่มเข้าใจแล้ว ที่เราฟังมาตั้งนานว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และจิตเห็นก็แค่เห็น คิดนึกไม่ได้เลย แต่เมื่อเห็นแล้วก็จะมีการคิดนึกซึ่งยับยั้งไม่ได้ เราก็เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจความต่างกัน แล้วค่อยๆ ชินกับลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ พอนึกได้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเองลักษณะของธรรมอย่างหนึ่ง กว่าจะชินกว่าจะคุ้นเคย ต้องบ่อยๆ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166


    หมายเลข 9882
    3 ก.ย. 2567