ปัญหาเกิดเพราะยึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่เป็นธรรม


    ผู้ฟัง มีคำถามอยู่ ๒ ข้อคือ ข้อแรก ดิฉันมักคิดถึงเรื่องกามคุณอารมณ์อยู่เสมอ รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่ก็ไม่สามารถห้ามความคิดได้ตามความต้องการ ควรจะพิจารณาโน้มจิตอย่างไรเพื่อให้ความคิดในกามคุณอารมณ์น้อยลง

    ท่านอาจารย์ บังคับไม่ได้ สะสมมายังไงก็เป็นอย่างนั้น แต่สะสมใหม่ได้ คือสะสมความเข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง คำถามข้อที่ ๒ ดิฉันมีเหตุจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับคนที่มีโทสะรุนแรง และเกิดได้ง่าย บางครั้งดิฉันต้องถูกเขาทำร้ายร่างกาย ขณะที่ดิฉันเจ็บตัว ดิฉันคิดว่าต้องเอาเรื่องให้ตำรวจดำเนินคดีให้ถึงที่สุด แต่พอเวลาผ่านไปดิฉันก็คิดถึงธรรม ว่าคงเป็นวิบากกรรมของเราเอง อยากจะบวชชีหนีสภาพที่เป็นอยู่ แต่ก็ทำไม่ได้เพราะดิฉันยังไม่เข้าใจธรรม และนำไปปฏิบัติได้ ดิฉันต้องทนเพื่อที่จะได้ฟังธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์ จนกว่าจิตใจของดิฉันจะเข้มแข็งกว่านี้ ดิฉันคิดถูกหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ คุณธิดารัตน์คะ ท่าน

    ผู้ฟัง คิดถูกหรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ ที่ท่าน

    ผู้ฟัง ๆ ว่า ฟังธรรมจากท่านอาจารย์ไปก่อนดีไหมเพราะยังไม่เข้าใจธรรม ตรงนี้ก็เป็นความคิดที่ถูกต้อง การฟังธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จะทำให้ความเข้าใจค่อยๆ สะสม และก็มั่นคงเพิ่มขึ้น เรื่องกรรม และผลของกรรม ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ แล้วพระธรรมก็เป็นที่พึ่งอย่างดีที่สุดจริงๆ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็อยากให้ท่านผู้ที่ถามคิดเอง คือคนอื่นจะตอบยังไง จะบอกยังไง จะเพียงเชื่อ หรือว่าพิจารณาว่าก่อนที่ได้ฟังธรรม เรามีความเข้าใจอะไรบ้างหรือเปล่า แล้วเวลาที่ฟังแล้วก็เป็นปัญญาของเราเองที่เมื่อฟังแล้วก็พิจารณาตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเอง อันนี้เราก็จะยืนยันได้ว่าการที่เราเข้าใจธรรมเนี่ยถูกไหม มีธรรมล้อมรอบตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วก็ไม่เคยเข้าใจเลย แล้วพอเกิดเข้าใจขึ้น ถูกไหม ใช่ไหมก็จะไปเข้าใจอย่างอื่น จะถูกหรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือว่าเข้าใจธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน

    ขอย้ำบ่อยๆ พระมหากรุณาที่ทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงแสดง จนกระทั่งเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกของบุคคลนั้น เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงก็แสดงเรื่องของสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ฟังทุกท่านก็พิจารณาได้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นความจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นความจริง เข้าใจถูกหรือเข้าใจผิดในสิ่งที่เป็นจริงอย่างนั้น ถ้าเป็นความเห็นตรงตามลักษณะนั้นก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166


    หมายเลข 9884
    3 ก.ย. 2567