ไม่คิดถึงกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว แต่คิดว่าคนนั้นคนนี้ทำ


    อ.อรรณพ ถ้าเราค่อยๆ เข้าใจ ทุกอย่างดับไป ความไม่สบายกายสบายใจที่เกิดขึ้นก็ดับไป เพียงแต่ความจำที่เราจำไว้ว่าคนคนนี้ว่าเราว่าอย่างนี้ นั่นก็คือสภาพธรรมอย่างหนึ่งคือความจำ และเราก็มีการตรึกนึกถีงเรื่องที่เราไม่สบายใจสะสมเข้าไป ทำให้เราเกิดความขัดข้องใจพยายามหาทางออก แต่ทางออกที่ดีที่สุดคือการฟังธรรม และตราบใดที่เรายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ที่ดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ยังมีร่างกายอยู่ก็ต้องมีการได้รับผลของกรรม และผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอนาคามีก็ยังมีโทสะมีความขุ่นข้องใจ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นปกติที่เป็นอย่างนั้น จะหลีกจะหนีไปด้วยความเป็นตัวตนไม่ได้เลย อาจจะมีความเข้าใจผิดว่าเราหลีกหนีกรรมอะไรได้ นั่นคือในช่วงนั้นกุศลกรรมอาจจะให้ผลชั่วคราว แต่ว่าเราสำคัญผิดไปเอง จริงๆ แล้วต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วเราก็จะสบายใจขึ้นเพราะว่าต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือต้องเป็นเราที่ได้รับกรรมอย่างนั้น

    อ.วิชัย ถ้าไม่ศึกษา เราก็จะมักคิดถึงบุคคลที่กระทำต่อเรา ประทุษร้ายเราให้รับทุกข์ทางกายต่างๆ เมื่อศึกษาแล้ว เราก็จะพิจารณาถึงเหตุในอดีตที่เรากระทำเหตุไว้แล้ว ถึงกาลที่ผลจะเกิด บุคคลในครั้งโน้นท่านเป็นผู้ที่ยากจนก็คิดว่าการที่เราเป็นผู้ที่ยากจนเพราะว่าไม่ได้กระทำทานไว้ในอดีตท่านก็คิดที่จะให้ทาน ถ้าเราพิจารณาว่าทุกข์โทษที่ได้รับทุกข์ทางกายเพราะเหตุว่าเคยเบียดเบียนบุคคลอื่นไว้ในอดีต ฉะนั้น การตั้งเจตนาที่จะไม่เบียดเบียนก็เป็นการสร้างเหตุที่จะไม่ให้รับทุกข์ต่อไปในอนาคต

    ก็อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์เรื่องของปัจจัยเรื่องของความโกรธ ก็มีเรื่องหนึ่งคือผู้หญิงที่ว่าเป็นผู้ที่ไม่โกรธ และสาวใช้ก็เลยลองใจ และลองหลายครั้ง ภายหลังนายจ้างก็เกิดความโกรธขึ้นมา พิจารณาถึงชีวิตประจำวันว่า บางคราวบางกาลเรื่องเหตุการณ์เดียวกันก็รู้สึกเฉยๆ แต่บางคราวคล้ายๆ ว่ารู้สึกหงุดหงิด เจอเหตุการณ์นี้แล้วก็เกิดความโกรธ ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะโกรธ

    ท่านอาจารย์ ลืมคำว่า “อนัตตา” บังคับไม่ได้เลยว่าจะให้เกิดอะไรเมื่อไหร่ จะให้โกรธในสถานการณ์ซึ่งควรจะโกรธกลับไม่โกรธก็ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นจริงๆ ว่า ทั้งหมดไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วแต่อะไรจะเกิดจริงๆ ข้อสำคัญก็คือสิ่งที่เกิดแล้วดับไปโดยไม่รู้ อันนี้แหละก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ว่าสิ่งใดก็ตามที่แม้เกิดดับสืบต่อแต่ยังรู้ความจริงคือรู้ลักษณะนั้น ก็จะทำให้สมความปรารถนาที่ว่าเมื่อไหร่จะไม่โกรธ หรือว่าไม่โกรธอีกเลย คือดับกิเลสได้จริงๆ
    แต่ว่าถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะโกรธบ้าง ไม่โกรธบ้าง น้อยบ้าง มากบ้าง โดยความไม่รู้ว่ามาอย่างไรแล้วก็ไปอย่างไร เช่น เรื่องของวิบากอย่างที่กล่าวถึงเมื่อกี้นี้ ไม่ได้คิดเลยถึงกรรมในอดีตที่ได้ทำแล้ว คิดถึงแต่ว่าคนนั้นคนนี้ทำ ก็แสดงให้เห็นว่า คิดถึงแต่ปัจจุบัน แล้วก็ขณะที่ตัวเองเกิดโกรธขึ้น อาจจะกระทำกรรมใดๆ ก็ไม่รู้อีกว่าข้างหน้าเราก็จะต้องได้รับผลอย่างนี้แหละ นี่ก็ทั้งหมดคือเรื่องของความไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้าค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริงก็ไม่ใช่เราที่จะไปบังคับเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใด เมื่อสิ่งใดเกิด เป็นความจริงที่ว่าสิ่งนั้นมีปัจจัยทำให้เกิด


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 166


    หมายเลข 9886
    3 ก.ย. 2567