เห็นนิมิตได้ไหม


    ท่านอาจารย์ พูดถึงเรื่องปรมัตถะ นิมิตตะ และปัญญัติ ที่เราใช้คำง่ายๆ ว่า ปรมัตถธรรม สิ่งที่มีจริง และนิมิต และบัญญัติ ถามว่าเห็นนิมิตได้ไหม หรือนิมิตเห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง เห็นไม่ได้ ตามความเป็นจริง ถ้าสิ่งที่มีจริงเห็นได้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าขณะนี้เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แต่นิมิตเพราะคิด ถ้าไม่มีรูปร่างสัณฐานซึ่งเกิดดับสืบต่อ เพราะสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อ จึงปรากฏเป็นนิมิต เพราะคิด ไม่เห็น มีนิมิตได้ไหม เมื่อกี้นี้บอกแล้วว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น เห็นนิมิตไม่ได้แน่นอน เพราะคิดจึงเป็นรูปร่างสัณฐาน ขณะนั้นไม่ใช่เพียงรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ นี่ต่างกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างสัณฐานใดๆ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ จึงเป็นปรมัตถธรรม แต่ขณะใดที่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะรูปร่างสัณฐาน ขณะนั้นเป็นนิมิต

    เพราะฉะนั้น ก็มีคำถามต่อไปว่า ไม่เห็น แต่มีนิมิตได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่เคยฝันกันหรืออย่างไร ในฝันไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็นจริงๆ อย่างนี้ แต่ฝันเห็น แต่ไม่ใช่เห็น เพียงแต่จำ

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเข้าใจจริงๆ ต้องรู้ว่า ความรวดเร็วของการเกิดดับของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ปรากฏเป็นนิมิตรูปร่างสัณฐาน เมื่อคิด แต่คิดไม่ใช่เห็น

    ด้วยเหตุนี้จึงตรงกับข้อความที่คุณคำปั่นยกขึ้นว่า เห็นอะไร ภาษาบาลีใช้คำว่า รูปารัมมณะ ภาษาไทยว่า รูปารมณ์ หมายเฉพาะสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น ได้ยินอะไร ได้ยินเสียง ไม่ใช่ได้ยินเป็นคำๆ เป็นเรื่องๆ ได้ยินเสียง เพราะเสียงเท่านั้นที่สามารถกระทบกับโสตปสาท และเฉพาะจิตได้ยิน ชั่ว ๑ ขณะเกิดขึ้นทำกิจได้ยิน สวนกิจ ในภาษาบาลี แต่คิดทางใจ เพราะสัณฐาน ความหลากหลายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ ในภาษาต่างๆ

    เพราะฉะนั้น พระไตรปิฎกชัดเจน เห็นรูปารมณ์ เราจะพูดภาษาไทยง่ายๆ ว่า เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง ได้ยินเสียง แล้วเวลาที่กลิ่นปรากฏ จิตได้กลิ่นก็ได้กลิ่นเท่านั้น ไม่ได้รู้เลยในนิมิตของกลิ่น และเวลาที่รสปรากฏ จิตที่ลิ้มรสจริงๆ ไม่ต้องอธิบาย หวาน ขม เผ็ด อะไรเลยทั้งสิ้น เพราะรสเป็นสิ่งที่จิตรู้แจ้ง ไม่ต้องอธิบายใดๆ ทางกายก็เช่นเดียวกัน เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งปรากฏ แต่นอกจากนั้นเป็นนิมิต และปัญญัติ คือ บัญญัติ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของจิตที่คิดสืบต่ออย่างเร็วมาก

    เพราะฉะนั้น ต้องแยกให้ถูก คิดเมื่อไรก็คิดได้ ไม่ต้องเห็นก็คิดได้ ไม่ต้องได้ยินก็คิดได้ เพราะคิดไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน แต่ในขณะที่คิด จะให้เป็นเห็นอย่างนี้ได้ไหม ในขณะกำลังคิด จะให้เป็นเห็นอย่างนี้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จะให้เป็นได้ยินอย่างนี้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย แต่จำเสียง แล้วรู้คำ ความหมายได้ เพราะฉะนั้น ก็แยกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต่างกับทางใจ เพราะเหตุว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะรู้เฉพาะสิ่งที่กระทบตาแล้วยังไม่ดับ ทางอื่นก็เช่นเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเพื่อละคลายความไม่รู้ ซึ่งจะละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน จนสามารถถึงขณะที่กำลังสามารถมีกำลังที่จะละการยึดถือในขณะที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ เหมือนเดี๋ยวนี้ แต่ยังไม่ใช่อย่างนั้น เพราะต่างกันที่ปัญญา


    หมายเลข 9892
    19 ก.พ. 2567