สงบเสงี่ยมแค่ไหน
ความสงบเสงี่ยมก็ต้องตามระดับด้วย ลองคิดพิจารณาเวลาที่ยังไม่ได้ฟังธรรมเลย คนที่กาย วาจาสงบเสงี่ยมมีไหม เห็นไหมคะ ต้องคิด ธรรมไม่ใช่เพียงฟังแล้วจับเพียงข้อความนั้น โดยที่ยังไม่ได้ไตร่ตรอง
เพราะฉะนั้น ก็ตามความเป็นจริง ก่อนจะได้ฟังธรรม ทุกคนก็มีการสะสมมาต่างกัน หลากหลายมากตามอัธยาศัย ทั้งกาย ทั้งวาจา กิริยาอาการท่าทางด้วย เพราะฉะนั้น ก่อนจะฟังธรรม ก่อนจะเข้าใจธรรม สงบเสงี่ยมบ้างไหม หรือไม่มีเลย ไม่ว่าใคร อย่างคุณอรรณพก็บอกว่า ก่อนศึกษาก็สงบเสงี่ยมระดับหนึ่ง เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ได้ล่วงทุจริต ล่วงทุจริตเมื่อไร ชัดเจน ไมสงบเสงี่ยมแน่ แต่ถ้าตราบใดไม่ได้ล่วงทุจริต ไม่ได้ทำกาย วาจาให้เดือดร้อนกับใคร ขณะนั้นสงบเสงี่ยมตามควรหรือตามระดับของกิเลส ขณะนั้นแม้ยังมีโลภะ มีโทสะ แต่ไม่ได้ทำความเดือดร้อนใดๆ ให้กับคนอื่น
เพราะฉะนั้น ขณะนั้นกายก็สงบเสงี่ยมตามกำลังที่ไม่มีอกุศลเกิดร่วมด้วย ถึงขั้นทำทุจริตกรรม เพราะว่าอกุศลก็มีตั้งแต่ขั้นร้ายแรง คือ ประทุษร้ายบุคคลอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ตราบใดที่ยังไม่เป็นอย่างนั้น ก็สงบเสงี่ยมจากการล่วงทุจริตกรรม แต่ขณะนั้นคนนั้นก็จะรู้เมื่อได้ศึกษาแล้วว่า ยังไม่พอ แค่ไม่กระทำทุจริต แต่ใจคิดเบียดเบียนเขาหรือเปล่า และขณะนั้นใจสงบหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีอกุศล แต่ไม่มีกำลังที่จะแสดงความไม่สงบเสงี่ยมทางกาย ทางวาจา ทั่วๆ ไปเราก็เห็นว่า คนนั้นเรียบร้อยสงบเสงี่ยม มีแน่นอน ตามอัธยาศัยที่สะสมมาต่างๆ กัน แต่มากกว่านั้นก็คือขณะใดกุศลจิตเกิด กาย วาจาดีขึ้น จากการไม่เอื้อเฟื้อ ไม่ทักทาย ไม่ใส่ใจ ไม่อาทรในสุขทุกข์ของคนอื่นเลย คิดถึงแต่ประโยชน์ของตน ขณะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่กุศล แต่เวลากุศลเกิด เปลี่ยนแล้ว ปราศรัย อาทรถึงสุขทุกข์ มีอะไรที่จะช่วยได้ ที่จะเป็นประโยชน์ได้ กายวาจาก็เปลี่ยนจากการที่เฉยเมย ไม่สนใจใครจะทุกข์จะยากอย่างไรก็ไม่เกี่ยวข้อง นั่นก็เป็นขณะหนึ่ง
เพราะฉะนั้น จะเห็นความต่างของกุศลที่มีกำลังทำให้ล่วงทุจริต เห็นชัดว่า คนนั้นไม่สงบเสงี่ยมเลย ตีเขา สงบเสงี่ยมไหมคะ เงื้อมือ หรือวาจาใดๆ ก็ตาม ก็เห็นความสงบเสงี่ยม แต่เวลาที่สงบกว่านั้นเป็นกุศลด้วย กายวาจาก็สงบเสงี่ยมขึ้น แค่นั้นพอไหมคะ ไม่พอเลยเพราะเหตุว่าใจขณะนั้นไม่สงบ ถ้าจะตัดคำว่า เสงี่ยมออกไป ให้เข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนั้นไม่สงบเพราะอกุศล
ด้วยเหตุนี้ข้อความที่ทรงแสดงไว้ก็ชัดเจน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล แล้วจะเข้าใจลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นได้อย่างไรว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ใครทั้งหมด เป็นแต่เพียงธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น แล้วก็ดับไป โกรธเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยเป็นโกรธ เปลี่ยนโกรธให้เป็นเมตตาไม่ได้ แต่โกรธไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร เป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริง
เพราะฉะนั้น การเข้าใจถูกจนสามารถสงบเสงี่ยมจากความเห็นผิดก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง จึงต้องเป็นเรื่องของจิตใจที่จะรู้ได้ว่า สงบแค่ไหนตามความเป็นจริงด้วย กว่าจะถึงพระอรหันต์ก็ต้องสงบมากมาย จากปุถุชนเป็นกัลป์ยาณปุถุชน และเป็นผู้เข้าใจสภาพธรรมตามลำดับ จนกระทั่งค่อยๆ คลายความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นตัวตน หรือมีความสำคัญตน ความสงบก็เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องมีปัญญา มิฉะนั้นจะไม่รู้ความหมายที่ว่า สติ และปัญญาที่สามารถเข้าใจสภาพธรรมนั้นแหละที่ทำให้สงบจริงๆ จากอกุศลได้ จนกระทั่งดับเป็นสมุจเฉท