เริ่มแล้วเริ่มอีก


    อ.คำปั่น ท่านอาจารย์กล่าวถึง เริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นใหม่ จากคำที่เป็นภาษาบาลีว่า อารัมถะ คือ เริ่มต้นแล้วเริ่มต้นอีก คือ ฟังเพื่อเข้าใจธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังไม่ดี เรา มาอีกแล้ว เราเริ่มต้น หารู้ไม่ว่า ขณะที่ฟังเดี๋ยวนี้ เริ่มอีกแล้ว เริ่มไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ฉลาด มีปัญญา ไตร่ตรองด้วยความแยบคาย คือไตร่ตรองด้วยเหตุผล แล้วค่อยๆ รู้จักโลภะ และโมหะ ความไม่รู้ และความติดข้องใจริงๆ ว่า มากมาย เพราะฉะนั้น จะหมดไปได้เมื่อเข้าใจ ใช้คำเดียวเลยว่า “เข้าใจ”

    เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ไม่เข้าใจ ตราบนั้นก็จะมีความต้องการ หรือความไม่รู้ หรือความเห็นผิดชักนำไป แม้แต่จะเพียร เพราะมีข้อความว่า เริ่มแล้วเริ่มดี ตั้งต้นแลว้ตั้งต้นอีก ก็เดี๋ยวนี้เอง ไม่ใช่เราเลย วิริยะก็เกิดแล้วก็เกิดอีก ฟังแล้วก็ฟังอีก ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย แต่ขณะใดที่ฟังเข้าใจ ขณะนั้นก็ต้องมีวิริยเจตสิกทำหน้าที่ของวิริยะ คือ ไม่ท้อถอยเลย ฟังเข้าใจไม่พอ เข้าใจ เข้าใจ เข้าใจ อะไรคะ สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้จนกว่าจะรู้ว่า ไม่ได้ฟังแล้วเข้าใจเพียงเรื่องราว แต่กำลังเริ่มที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ตามลักษณะความเป็นจริงของสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ เริ่มแล้วก็เริ่มอีก แล้วก็เริ่มอีก เริ่มอีกทีละเล็กทีละน้อย

    อ.ธิดารัตน์ เมื่อกี้ท่านอาจารย์กล่าวว่า เป็นความเพียรที่กล่าวไว้ในสติปัฏฐาน อย่างนี้แสดงว่า การเจริญอริยมรรคที่เป็นหนทางที่ถูกต้อง ก็ประกอบด้วยความเพียร ในขณะนั้นก็เพียรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้กำลังเพียรหรือเปล่า หรือว่าไม่มีวิริยเจตสิกเกิดกับจิตในขณะที่เข้าใจ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะใด เดี๋ยวนี้ชื่อว่า เพียรหรือเปล่า ก็ไม่สงสัยเลย ขณะใดที่ฟังแล้วเข้าใจด้วย ชื่อว่าเพียรหรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ เพียรค่ะ

    ท่านอาจารย์ จนถึงขณะที่เริ่มเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อกล่าวถึงสิ่งใด ก็เข้าใจสิ่งนั้น เพราะสิ่งนั้นกำลังมีจริงๆ ไม่ต้องเพียรอื่นเลย ขณะนี้กำลังเพียร ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมที่ทรงแสดงอภิธรรมโดยละเอียดยิ่ง อภิ จริงๆ คือ ให้รู้ความจริงของแต่ละหนึ่ง จิตแต่ละขณะ หรือสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เช่น จิตเห็นขณะนี้ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ต้องมีใครเพียรเห็น อยากจะเพียรเห็น แต่ตาบอด เห็นได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะใดจะมีเจตสิกประเภทใดเกิดร่วมด้วย แต่ขณะนี้เห็นเกิดโดยใครก็ไม่รู้ว่า เป็นการอุปัตติ เกิดขึ้นของสภาพธรรมที่มีจริง และประจวบกันที่ยังไม่ดับไป และรวมทั้งกรรมที่ได้ทำแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นเห็น เดี๋ยวนี้เห็น ซึ่งต่างกับขณะที่ไม่เห็นแน่นอน

    นี่แสดงความต่างกันของจิตประเภทที่มีจริงๆ เห็นจริงๆ ไม่เหมือนกับคิดว่า เห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ รสนั้นรสนี้ หรืออะไรต่างๆ เรื่องราวต่างๆ แต่ไม่เหมือนที่กำลังปรากฏให้เห็นเดี๋ยวนี้ หรือเสียงก็เช่นเดียวกัน คิดถึงคำว่า “โพธิปักขิยธรรม” แต่เสียงปรากฏหรือเปล่า ไม่ได้ปรากฏอย่างเสียงที่ปรากฏจริงๆ ว่า เสียงเป็นอย่างนี้ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมยิ่งละเอียด ยิ่งรู้ความต่างของจิตแต่ละ ๑ ขณะ และทรงแสดงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยว่า ไม่ต้องไปกังวลว่า เราจะเพียร เพราะแม้ขณะใดก็ตามซึ่งมีปัจจัยให้วิริยเจตสิกเกิดขึ้น ก็เกิดแล้ว กำลังไม่เข้าใจธรรม มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่าคะ ถ้าไม่ศึกษาคิดว่าไม่มี แต่แม้โมหมูลจิต จิตที่เกิดร่วมกับอวิชชา หรือโมหเจตสิกก็มีวิริยเจตสิกเกิดแล้ว เพราะเหตุว่าไม่ใช่อุปัตติทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วอย่างนี้ยังไม่ใช่ทำให้เราเริ่มค่อยๆ คลายการยึดถือ เพราะเริ่มเข้าใจขึ้น แม้เพียงทีละเล็กทีละน้อย แล้วการเข้าใจนี่ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า กำลังเข้าใจเรื่องของธรรมหรือกำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และได้ฟังมา จนสามารถเริ่มต้นเข้าใจ และดับไป แล้วไม่เข้าใจอีก แล้วเริ่มเข้าใจอีก ไปเรื่อยๆ


    หมายเลข 9897
    19 ก.พ. 2567