จะข่มไว้หรือจะเข้าใจความจริง
ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์มาตั้งแต่ต้นก็เข้าใจว่า ในขณะที่เราไปนั่งสมาธิ เรากำลังเห็นโทษของโทสะ ซึ่งกำลังเดือดร้อนวุ่นวายหรือกังวลใจ ถ้าไปนั่งแล้วมันรู้สึกสงบ ตามความเข้าใจของกระผม ทีนี้ท่านอาจารย์บอกว่า เห็นโทษของโทสะ แต่ไม่เห็นโทษของโลภะ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ปัญญา เขามีโลภะในความต้องการ เขามีโทสะในความไม่สงบของจิต ความวุ่นวายต่างๆ โทมนัสหรือความรู้สึกที่เป็นทุกข์
ผู้ฟัง อยากให้อาจารย์ช่วยชี้ตรงนี้นิดหนึ่ง เพราะว่าที่ผมหนีความวุ่นวายแล้วไปนั่งสมาธิ มันก็ไม่มีโลภะอะไร ตามความเข้าใจของกระผม ถ้าคิดง่ายๆ แบบนั้น ที่ไปนั่งแล้วเป็นโลภะอย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าเรียนวิถีจิต จะทราบได้เลยว่า หลังจากที่เห็นแล้ว จิตจะต้องเป็นกุศลหรืออกุศล แล้วมีใครจะตอบได้บ้างว่า พอเห็นแล้วเป็นกุศล
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ตรงนี้ว่า ไปนั่งแล้วเป็นโลภะ ก็เท่ากับเราได้ย้ายอารมณ์ คือไม่ชอบอกุศลที่เป็นโทสะ แล้วไปเอาอกุศลตัวใหม่ซึ่งเป็นโลภะ แล้วผมก็ไปนั่งเจริญโลภะ เจริญให้มันตั่งมั่น ให้อะไรต่ออะไร ถ้าเราไม่รู้ความจริงอย่างนี้ก็เป็นมิจฉาสมาธิ
ท่านอาจารย์ รู้ด้วยตัวของเราเอง คือ ถึงฟังมาก็ยังไม่ชัดเจนจนกว่าจะประสบด้วยตัวเราเอง ด้วยความเข้าใจ ว่าความเข้าใจของเราสามารถที่จะพิจาณาเห็นความต่างกันหรือเปล่า
ผู้ฟัง ให้อาจารย์ช่วยอธิบายที่ว่า สมาธิช่วยรักษาโรคได้ จึงอยากให้อาจารย์อธิบายด้วยแยกเป็น ๒ ประเด็น ประเด็น ๑ ที่บอกว่า ทางแพทย์บอกว่านั่งสมาธิแล้วมันจะช่วยบำบัดรักษาโรค เช่น ความเครียดได้ นั่นคือ ข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ หลังจากผมเลิกนั่งสมาธิแล้ว โทสะมันรุนแรงกว่า อันนี้มันอาจจะเป็นเฉพาะผม หรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ขอตอบข้อ ๒ ก่อน เพราะเหตุว่าดูเป็นปัญหาเหมือนกับว่า สมาธิจะดี ระหว่างที่เป็นสมาธิ โทสะน้อย แต่ว่าพอไม่เป็นสมาธิแล้ว โทสะเยอะ
ผู้ฟัง ครับมันข่มอยู่ มันข่มอยู่เท่านั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเห็นความจริง หรือจะเห็นความข่มไว้ ถ้าความจริงคือแต่ละขณะที่เกิดมีเหตุปัจจัยสะสมมาที่จะทำให้เราเห็นความจริงว่ายังมี แล้วก็ยังเป็นอย่างนั้น แม้แต่พระโสดาบันก็มีโทสะ เราเป็นใคร ต้องทราบ แล้วทุกอย่างที่เกิดมีเหตุปัจจัยให้เห็นธรรมเป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกิเลสประเภทใดก็ตาม ปัญญาสามารถจะรู้ความจริงได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา ข้อสำคัญที่สุดคือความรักตัว ก็อาจจะทำให้พอใจที่โทสะน้อย บางคนก็เลยยังติดสมาธิอยู่ เพราะเหตุว่าทำให้เขาไม่มีความรู้สึกที่ขุ่นมัว ไม่สบายใจ แต่ว่าถ้าเป็นผู้มีปัญญา ต้องอาจหาญร่าเริงที่จะรู้ว่า นั่นเป็นความจริงหรือเปล่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา กว่าจะไม่ใช่เรา ก็จะต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆ อบรมสะสมจริงๆ ซึ่งจะเป็นผู้กล้าที่จะรับความจริงว่า ความจริงเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนที่ดีมาก กิเลสอะไรก็ไม่มี ไปนั่งข่มเอาไว้แล้วก็มีความติดข้อง มีความพอใจ แต่ไม่รู้ว่า ขณะนั้นคือโลภะ ความติดซึ่งเป็นสมุทัยซึ่งจะต้องละ ตราบใดที่ยังไม่ละสมุทัย ตราบนั้นสังสารวัฏฏ์ก็จะหมดสิ้นไม่ได้ ออกจากกรงของสังสารวัฏฏ์ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าทุกขณะที่แต่ละภพชาติมี ก็เพราะเหตุว่ายังมีโลภะเป็นปัจจัย
ผู้ฟัง ถูกต้อง แต่ว่าความรู้สึกว่า มันก็ยังได้ในระดับหนึ่ง หมายถึงสมาธิ ไม่ใช่ว่าเสีย นั่งไปแล้วไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย แต่ก็คือได้ในระดับหนึ่ง เป็นระดับที่ข่มจิตได้ขณะจิตหนึ่ง แต่ไม่ใช่เสมอไป
ท่านอาจารย์ แล้วก็พอใจ
ผู้ฟัง แล้วก็พอใจ
ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นเรา แล้วก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
ผู้ฟัง ถูกต้องเลยครับ แต่ก็พอใจในระดับหนึ่งว่า แต่เมื่อเราไม่เคยได้เลย
ท่านอาจารย์ นี่แหละค่ะ คือตัวนี้ที่จะต้องละ ถ้ายังไม่เห็นว่าโลภะเป็นสมุทัย ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ นิพพาน
ผู้ฟัง มันได้แค่นั้น มันไม่ก้าวหน้า
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเห็นซิคะว่า ไม่ใช่ปัญญา ในพระธรรมมีข้อความที่ว่า แม้อกุศลจิตเกิด แต่รู้ ก็ยังดีกว่าผู้ที่มีกุศลจิตเกิด แต่ไม่รู้ เพราะการรู้จะทำให้เราสามารถที่จะละความไม่รู้ได้
ผู้ฟัง ทีนี้ถึงแม้ว่าจะมีสมาธิ ถ้าบุคคลคิดว่า สมาธิเป็นสุข อย่างนี้ก็ผิดแล้ว ใช่ไหมครับอาจารย์
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่มีโทสะ
ผู้ฟัง ไม่ หมายความว่าบุคคลเห็นว่า การนั่งสมาธิแล้วสงบ แล้วก็คิดว่าเป็นสุข วันหนึ่งๆ ก็ไปนั่งสมาธิทุกวัน เห็นว่าเป็นสุข การเห็นอย่างนี่ถือว่าเห็นผิด ใช่ไหมครับ
ส . คือความรู้สึกของเขาอาจจะไม่มีโทสะ แค่อุเบกขาเฉยๆ คนก็ชอบ หรือถ้ามีโสมนัส คนก็ชอบ แต่ว่าขณะนั้นเป็นความติดข้องเป็นโลภะ ไม่ได้หมายความว่าเป็นกุศล