ยากที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม
สภาพธรรมแม้ว่ามีจริงแล้วก็กำลังปรากฏด้วย แต่ยากแสนยากที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ ที่ปรากฏได้แต่ละทาง อย่างในขณะที่เรานั่งอยู่ที่นี่ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทุกคนเห็น แต่ว่าเคยเป็นเรา ไม่ได้เคยเป็นธรรมเลย ไม่เคยเข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่รู้ด้วยว่าเป็นจิต เพราะว่าโดยมากทุกคนทราบว่า ทุกคนมีจิต แต่จิตอยู่ที่ไหน จิตทำอะไร บอกไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมว่า แท้จริงแล้วลักษณะของจิตเป็นอย่างไร สภาพธรรมใดก็ตามที่มีจริงต้องมีลักษณะเฉพาะของแต่ละอย่างให้รู้ว่า เป็นธรรมชนิดนั้นๆ ไม่สับสนกัน อย่างลักษณะที่ติดข้องพอใจ เพลิดเพลิน ก็ต่างกับลักษณะที่ขุ่นใจ แล้วก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ก่อนนี้ก็เป็นเราหมด แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างที่จะเกิด ต้องมีปัจจัยจึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าเราเห็นสิ่งที่น่าพอใจแล้วจะให้ไม่ชอบ ให้เกลียด ให้ชัง ให้โกรธ เป็นไปได้ไหมคะ เห็นสิ่งที่น่าพอใจ เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับแม้ความรู้สึก จะตั้งอกตั้งใจอย่างไรก็ตามแต่ สภาพธรรมมีปัจจัยจะเกิดขึ้นอย่างไร ก็เกิดขึ้นอย่างนั้น นี่คือเราเริ่มเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม โดยที่แม้ว่ายังไม่ละเอียด แต่ก็พอที่เข้าใจความหมายว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นอนัตตา ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ของเรา แล้วถ้าเราศึกษาเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งจะเห็นความเป็นธรรมว่า แม้ว่าธรรมจะมีหลากหลายมากมาย แต่ว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่แยกออกเป็น ๒ ลักษณะที่ต่างกันก็มี ๒ อย่างคือ นามธรรมกับรูปธรรม
เวลาที่เราจะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เราจะรู้ความต่างของ ๒ อย่างนี้ก่อน ก่อนที่เราจะไปรู้ความละเอียดว่า เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นอะไร แต่เราต้องรู้ความต่างของนามธรรม และรูปธรรม โดยขั้นการฟังเหมือนไม่ยาก แต่ว่าอาจจะงงๆ สำหรับคนที่ตั้งต้น เพราะเหตุว่ายุคนี้ สมัยนี้ เขาใช้คำว่า รูปธรรม ในลักษณะหนึ่ง คือ อะไรก็ตามที่ยังไม่ได้ริเริ่มทำให้เป็นรูปเป็นร่างออกมา เขาก็บอกว่า ยังไม่เป็นรูปธรรม ซึ่งความจริงแล้ว เวลาที่ศึกษาธรรม เราต้องทิ้งความหมายเดิมในทางโลก หรือว่าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่นคำว่า สติ หรือ คำว่าปัญญา พวกนี้ ไม่ตรงกันเลย ถ้าใครเรียนเก่ง เขาบอกว่ามีปัญญามาก แต่นั่นไม่ใช่สภาวธรรมที่เป็นปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสภาวธรรมที่เป็นปัญญา ต้องเป็นความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จึงจะเป็นปัญญา นอกจากนั้นแล้วจะเป็นปัญญาไม่ได้เลย เป็นแต่เพียงเรื่องราวที่คิดนึกตามเหตุตามผล แล้วก็มีความเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นปัญญาหลายระดับ ไม่ต้องคิดว่าจะมองเห็นหรือมองไม่เห็น เพราะว่าเดิมทีทุกคนก็คิดว่า รูปหมายความถึงสิงที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ แต่รูปกว้างขวางกว่านั้นอีก คือ สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ สภาพนั้นเป็นรูปทั้งหมด อย่างกลิ่นเป็นรูปหรือเป็นนาม เป็นรูป รส เป็นรูป รู้สึกจะง่าย สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กระทบสัมผัส รู้ว่าเป็นรูป แต่รูปใดๆ ก็ตามจะปรากฏไม่ได้เลย ถ้าไม่มีจิตไปรู้รูปนั้น
เพราะฉะนั้น แยกขาดจากกันเลย จิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างลักษณะใดๆ ทั้งสิ้น เอาสีสันวัณณะออก เอากลิ่นออก เอารสออก เอาเสียงออก ให้หมดเลย แต่ก็ยังมีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ลักษณะที่เป็นธาตุรู้ล้วนๆ นั้นเองคือจิต ไม่มีรัก ไม่มีชัง ไม่มีเวทนาอะไรปรากฏ ไม่จำ ไม่อะไรหมด ธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ นั่นคือสภาพของจิต ถ้ามีจิตล้วนๆ คือลักษณะซึ่งสามารถจะรู้สิ่งที่ปรากฏ โดยที่ไม่มีความรู้สึก ไม่มีอะไรเลย ก็คงไม่เดือดร้อน แต่ว่าสภาพธรรม แม้นามธรรมที่จะเกิดขึ้น เกิดเองไม่ได้ ต้องมีเหตุปัจจัย ต้องมีสภาพธรรมที่เกื้อกูลอุปถัมภ์ให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น ซึ่งนามธรรมเป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรม คือจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดร่วมด้วย สภาพธรรมนั้นใช้คำว่า “เจตสิก” หรือถ้าเป็นภาษาบาลี ก็ต้องออกเสียงว่า เจ ตะ สิ กะ เพราะว่าต้องออกเสียงทุกคำ ซึ่งหมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดกับจิต หรือเกิดในจิต เจตสิกจะไม่เกิดที่อื่นเลย ที่ใดมีจิต ที่นั้นมีเจตสิก หรือถ้าจะกล่าวอีกทีหนึ่ง สลับกัน ก็คือ ที่ใดมีเจตสิก ที่นั้นต้องมีจิต เพราะว่าเขาต้องเกิดด้วยกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน
ถ้าไม่ศึกษาพระพุทธศาสนา หลายคนก็จะคิดว่า ตอนเกิดก็มีจิตเกิด แล้วก็ตาย ก็คือ จิตดับ แต่ว่าถ้าศึกษาพระพุทธศาสนา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด เพียงเกิดทำหน้าที่ สั้นมากแล้วก็ดับ เร็วแสนเร็ว เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เองสภาพธรรมเป็นอย่างนั้นคือจิตเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็ทำหน้าที่แต่ละทางคือ ขณะที่กำลังเห็นก็เป็นกิจหนึ่ง ขณะที่กำลังได้ยินก็เป็นอีกกิจหนึ่ง แต่ว่าก็เป็นสภาพที่สามารถจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้รู้นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ใครรู้หรือไม่รู้ ก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หลังการตรัสรู้ หรือต่อไป หลังจากที่คำสอนอันตรธานไปก็ตาม สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็คือเป็นอย่างนั้น คือ สภาพใดก็ตามที่เกิด มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด แล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว แต่ว่าถ้าเราศึกษามากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยทำให้สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ แล้วเริ่มค่อยๆ เข้าใจลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม เพราะขณะนี้เราพูดเรื่องจิต แต่ว่ายังไม่มีการรู้ลักษณะของจิต เพียงแต่เข้าใจเรื่องจิตขึ้น ว่าจิตมี แล้วเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้สิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าถ้าเราศึกษามาก ก็อาจจะเป็นปัจจัยทำให้สติเกิด แม้ในขณะที่กำลังฟังอย่างนี้
นี่เป็นความต่างกันของการสะสมของปัญญาซึ่งมีหลายระดับ ถ้าขณะนี้ใครสามารถที่จะมีสติเกิด เขาจะรู้เลยว่า เพราะว่าเขามีความเข้าใจถูก ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกในเรื่องลักษณะของจิต จะไม่มีการระลึกลักษณะของจิตได้เลย
เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของไปทำสมาธิ แล้วจะมาสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ แต่ต้องเป็นเรื่องของการฟังซึ่งจะเกื้อกูลเป็นลำดับขั้น คือเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาก่อน และเมื่อฟังแล้ว พิจารณา เข้าใจขึ้นอีก จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้
ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังเรื่องอะไรก็ตาม ข้อสำคัญที่สุด คือขอให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ไม่ต้องไปคิดอย่างอื่น เรื่องจำนวน เรื่องอะไรทั้งหมด แต่ว่าได้ยิน แล้วให้เข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ
ในขณะนี้มีใครที่ยังสงสัยในเรื่องลักษณะของนามธรรมกับรูปธรรมไหมคะ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ มีทั้งนามธรรม และรูปธรรมกำลังเกิดดับ แล้วก็นามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก มีเจตสิกโดยไม่มีจิตได้ไหมคะ มีจิตโดยไม่มีเจตสิกได้ไหมคะ ไม่ได้เหมือนกัน