จิตรู้ได้ทุกอย่าง
ผู้ฟัง เรียนถามว่า จิตต่างกับเจตสิกอย่างไร ในเมื่อเขาก็เป็นสภาพรู้เหมือนกัน แล้วก็เป็นนามธรรมเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ จิตมีหลายชื่อ มนะ มโน มนัส มนินทรีย์ หมายความถึงสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ ขณะที่กำลังเห็น เห็นจริงๆ สามารถที่จะรู้สิ่งที่เห็นเป็นอย่างนี้ขณะนี้ นั่นคือความเป็นใหญ่ของสภาพซึ่งเป็นจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้ ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้รู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ รูปใดๆ ก็ตามซึ่งเกิดแล้วดับ โดยที่จิตไม่ได้รู้รูปนั้น รูปนั้นไม่ใช่อารมณ์ เพราะเหตุว่าไม่ใช่สิ่งที่จิตกำลังรู้
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ถ้าได้ยินเสียง เสียงปรากฏ เสียงที่จิตได้ยิน เสียงนั้นเป็นสัททารมณ์ ภาษาบาลี เสียง คือ สัททะ รวมกับคำว่า อารมณ์ เป็น สัททารมณ์ เพราะฉะนั้นเสียงที่จิตกำลังได้ยินเท่านั้นที่เป็นสัททารมณ์ เสียงอื่นนอกห้องนี้ก็มี ของแข็งๆ กระทบกันเมื่อไรก็เป็นปัจจัยให้เกิดเสียงเมื่อนั้น แต่เสียงใดก็ตามที่เกิดแล้วดับแล้ว โดยจิตไม่รู้ เสียงนั้นไม่ใช่อารัมมณะ หรือไม่ใช่อารมณ์ ต้องเป็นเสียงที่จิตกำลังรู้
เพราะฉะนั้น คำว่า อารมณ์ หรือ อารัมมณะ หมายความถึง อะไรทั้งหมดที่จิตกำลังรู้ เป็นอารมณ์ของจิต ก็มีคำคู่กัน จิตกับอารมณ์ เพราะจิตต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งสิ่งที่จิตรู้นั้นเองคืออารมณ์ จะมีอารมณ์โดยที่จิตไม่รู้ไม่ได้ หรือจะมีจิตโดยไม่มีอารมณ์ปรากฏให้รู้ก็ไม่ได้ หมายความว่าต้องมีอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ คงจะเข้าใจแล้ว ใช่ไหมคะ จิต เจตสิก รูป อารมณ์
ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์ครับ เวลาที่เรียนใหม่ๆ หรือที่รู้ใหม่ๆ สภาพรู้ มันจะเกิดการสับสนระหว่างสมมติ และบัญญัติ อาจารย์ช่วยสงเคราะห์นิดหน่อยครับ สมมติ และบัญญัติ
ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่าจิตเป็นสภาพที่สามารถรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่ว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ เช่นเสียง มี แล้วจิตก็ได้ยินด้วย เพราะฉะนั้น จิตสามารถที่จะรู้เสียง กลิ่นก็มี ไม่มีใครมองเห็นกลิ่นเลย แต่จิตก็ยังสามารถที่จะรู้กลิ่น คิดดู สามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง แม้แต่สภาพธรรมที่ไม่ใช่จิต เจตสิก รูป คือ นิพพาน จิตก็สามารถที่จะรู้ได้ และนอกจากนั้นแล้ว แม้ไม่ใช่จิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง จิตก็ยังสามารถที่จะคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ได้
เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่มีชื่อหรือว่ามีเรื่องราว ขณะนั้นจิตกำลังมีเรื่องราว ซึ่งเราใช้คำว่า “บัญญัติ” หมายความว่า ไม่ใช่สภาพปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจว่า จิต เจตสิก รูป แล้วก็รู้ว่าขณะใดก็ตาม ที่จิต ไม่ได้มีจิตไม่มีเจตสิก ไม่ได้มีรูปเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โลกุตตรจิต หมายความถึงเราจะไม่พูดถึงจิตซึ่งไม่มีในชีวิตประจำวัน ขณะนี้กำลังเห็น ชั่วขณะที่รู้คือเห็น ขณะนั้นมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แต่ถ้าเห็นอะไร เกิดการนึกถึง รูปร่างสัณฐาน เกิดการทรงจำในเรื่องราวขึ้น ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์
เพราะฉะนั้น หลักง่ายๆ ตอนต้นที่จะไม่สับสนก็คือว่า ขณะใดไม่มีจิต เจตสิก รูป นิพพานเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ บัญญัติคือเรื่องราวที่คิดนึก
คงยังไม่ต้องแยกเป็นสัททบัญญัติ หรือฆนบัญญัติ หรืออะไร หมายความว่าขณะใดก็ตามที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์
กำลังฝัน เมื่อคืนนี้มีใครฝันบ้างคะ เพราะว่าจริงๆ แล้วเรื่องฝันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าเป็นสภาพคิด แต่ว่าเวลานี้ทำไมเราไม่เรียกฝัน เพระว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วจิตของเราก็คล้อยตามสิ่งที่ปรากฏทางตา นึกคิด คนนั้นชื่อนี้ นั่งอยู่ที่นี่ หรือว่าเวลาที่ได้ยินเสียง ที่ไม่เรียกว่าฝัน ก็เพราะเหตุว่าเรานึกถึงคำที่ได้ยิน คล้อยตามไปในเรื่องที่ได้ยิน แต่เวลาฝันหมายความว่า ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย แต่ต้องเป็นจิตที่คิดนึก ฝันก็คือคิดนึก แต่คิดนึกโดยไม่เห็น โดยไม่ได้ยิน โดยไม่ได้กลิ่น โดยไม่ลิ้มรส โดยไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสอย่างในขณะนี้ จึงชื่อว่าฝัน ขณะที่ฝันมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะขณะนั้นกำลังคิด ไม่ใช่เห็นจริงๆ ไม่ใช่ได้ยินเสียงจริงๆ
เพราะฉะนั้น ก็พอที่จะแยกออกได้ว่า ขณะใดมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์ แล้วจิตสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง จิตสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เจตสิกสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่างไหมคะ ต้องรู้ได้คะ เพราะว่าจิตกับเจตสิก เกิดพร้อมกั นดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกันด้วย ไม่ว่าจิตรู้อารมณ์อะไร เจตสิกต้องรู้อารมณ์นั้น แยกกันรู้ไม่ได้