ปัญญาคืออะไร


    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์พูดประโยคว่า ฟังเพื่อทำความเข้าใจศึกษา แล้วระหว่างที่ตายไปเกิดชาติภพใหม่ ความเข้าใจอันนี้จะต่อไปในชาติหน้า หรือชาติหน้า มาฟัง มาเรียนรู้ มาพิจารณาเพื่อเข้าใจอีก เพราะเมื่อสักครู่นี้อาจารย์ได้พูดว่า เราเรียนอภิธรรม ถ้าตายไปแล้วชาติหน้าก็ลืมไป มาเริ่มต้นใหม่ ความเข้าใจนี้จะเป็นเช่นนั้น หรือว่าเข้าใจแล้วต่อเนื่อง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ฟังเพียงจำชื่อ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นตัวอย่างท่านพระสารีบุตรฟังสั้นๆ สามารถจะรู้แจ้งสภาพธรรมได้กับคนที่ฟังที่พระวิหารเชตวันด้วยกันหลายปี อย่างท่านพระราหุล ตั้งแต่เป็นสามเณรแล้วท่านเป็นพระอรหันต์เมื่ออายุ ๒๐ หรือ ๒๑ ที่ท่านบวชเป็นพระภิกษุ

    ผู้ฟัง นั่นก็แสดงเหตุว่า การฟังด้วยความเข้าใจในชาติภพนี้ ก็สั่งสมบารมีในชาติต่อไป

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง พอถึงอายุ ๒๐ ซึ่งเป็นพระราหุล ก็เป็นเหตุให้ผลจากการสะสม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คนที่ฟังพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บางท่านรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันต์ บางท่านเป็นพระอนาคามี บางท่านเป็นพระสกทาคามี บางท่านเป็นพระโสดาบัน บางท่านไม่เป็นอะไรเลย จะให้เหมือนกันได้อย่างไรคะ การสะสมของแต่ละคน แม้แต่ในชั้นเรียน เรียนด้วยกัน บางคนก็สอบตก บางคนก็สอบได้ คะแนนก็ต่างกัน ความรู้ก็ต่างกัน มาจากไหน

    ผู้ฟัง ในการสอบตกกับสอบได้ นั่นคือสัญญา ความจำได้หมายรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนสอบตก เขาอาจจะฟังธรรมแล้วอาจจะเข้าใจ เขาอาจจะไม่เก่งในเรื่องสัญญา

    ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นคำเปรียบเทียบเท่านั้นเองให้เห็นว่า การฟังของแต่ละคน แล้วแต่การสะสมมาของแต่ละคน อย่างท่านพระสารีบุตรฟังสั้นๆ ถ้าคนที่จะฟังสั้นๆ อย่างท่านพระสารีบุตร อย่างคาถาที่เราได้ยินพระอัสสชิแสดงธรรมกับท่านพระสารีบุตร เราก็ได้ยิน ๑๐ ครั้ง ๒๐ ครั้งแล้วเรารู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม

    ผู้ฟัง เพราะเหตุปัจจัยสะสมมาไม่เท่ากันครับ ขอบพระคุณครับอาจารย์ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตอบอีกครั้งหนึ่งให้แน่ใจว่า เราฟังธรรมเพื่ออะไร เมื่อกี้ตอบแล้วใช่ไหมคะ เพื่อปัญญา ก็ถามอีกนิดเดียวให้เข้าใจ เพราะปัญญาเป็นภาษาบาลี เพราะฉะนั้น เพื่อปัญญา ปัญญาในที่นี้คืออะไร

    ผู้ฟัง ขอตอบข้อนี้หน่อยครับ คือคิดว่าตัวเองตอนนี้ก็เทียบกับเทียนเล่ม ๑ ที่จุดปักอยู่กลางแดด ฉะนั้นมีปัญญาน้อย อาจารย์ก็ถามว่า ปัญญาคืออะไร ใช่ไหมครับ ก็บอกกับท่านอาจารย์ได้ว่า ปัญญาคือความรอบรู้ในทวารทั้ง ๖ เอาปัญหาให้เป็นปัญญา แต่อย่าเอาปัญญาให้เป็นปัญหา ถ้าหากว่าท่านเอาปัญญาของท่านเป็นปัญหา จะโลภ จะไม่มีความสุขเลย เอาปัญหานั้นให้เป็นปัญญา แต่อย่าเอาปัญญาให้เป็นปัญหา เพราะว่าทุกวันนี้เราติดหนี้ไอเอ็มเอฟ เพราะเอาปัญญาเป็นปัญหานี้แหละ

    ท่านอาจารย์ อันนี้เราจะเห็นแล้วว่า เรื่องของคำพูดเป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจชัด มิฉะนั้นแล้วสับสน เพราะเหตุว่าภาษาไทยเราเอาคำภาษาบาลีมาใช้ แต่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของคำนั้น แล้วเราเข้าใจว่ารู้ เพราะเราใช้มาตั้งแต่เด็ก เหมือนกับบอกว่า ถ้วยแก้ว เราก็รู้ว่าเป็นถ้วยแก้วตั้งแต่เด็กเหมือนกัน แต่ว่าถ้วยแก้วก็ยังเป็นภาษาไทยที่ไม่ใช่ภาษาบาลี

    เพราะฉะนั้น การที่จะเอาภาษาบาลีมาใช้โดยเฉพาะในความหมายทางธรรม เป็นเรื่องละเอียด แล้วก็เป็นเรื่องตรง คำที่เราเคยเข้าใจ ผิดหมด เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ศึกษา ถึงได้บอกว่า ถ้าพูดว่าปัญญา ยังต้องถามว่าเพื่ออะไร ถ้าศึกษาเพื่อจะเกิดปัญญา ปัญญาคืออะไร เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจจริงๆ เหมือนรู้แล้ว แต่ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าปัญญาเจตสิกไม่ใช่ปัญญาเพียงคำที่ชาติไหน ภาษาไหนก็จะใช้ได้ อย่างสมุดพก ใช้เลย เด็กคนนี้มีสติปัญญาดี แต่ไม่ใช่ทั้งสติ และไม่ใช่ทั้งปัญญา ถึงแม้บางคนจะใช้คำว่า โลกียปัญญา ก็ยังไม่ใช่ โลกียะ หรือโลกหมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ ถ้ามีคำว่า โลก หรือ โลกียะ เมื่อไร ต้องหมายความถึง สิ่งนั้นมีจริง แล้วเป็นสภาพธรรมที่ต่างกับธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่เกิดดับ ไม่ว่าจะเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป สภาพธรรมใดซึ่งเกิดดับ สภาพนั้นเนื่องกับโลก หรือว่าเป็นโลก

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นโลกียปัญญาก็คือว่า ปัญญาที่สามารถเห็นสภาพนามธรรม รูปธรรมที่เกิดดับ จึงรู้ว่า นี่คือโลก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ต่างกับโลกุตตระซึ่งเหนือโลก เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งเข้าใจว่า เรารู้แล้ว แม้แต่คำว่าปัญญา

    เพราะฉะนั้น ขอให้ตอบอีกครั้งว่า ปัญญาคืออะไร ปัญญา ภาษาบาลี เวลาที่จะใช้เป็นภาษาไทย ปัญญาคืออะไร อย่าเพิ่งคิด ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวนี้ทุกคนมีปัญญาหมด ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ปัญญาคือออกมาจากญาณ ญาณ แปลว่าความรู้ ความรู้ หรือรู้แจ้ง ปัญญาเป็นกุศลครับ เป็นตัวประหารอกุศล

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง คือ เราได้รู้ รากศัพท์ ศัพท์เดิม มาจากคำว่า ญาณ มีปะ รู้ทั่ว เพราะฉะนั้น ปัญญา เป็นภาษาบาลี สภาพของปัญญาเจตสิก ต้องใช้คำไหน เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี เราคงใช้ภาษาบาลีกันที่พระวิหารเชตวัน แต่พอถึง ๒,๕๐๐ กว่าปีผ่านไปพูดภาษาบาลี เราไม่รู้เลย แต่เราจะเข้าใจสภาพธรรมได้ด้วยภาษาไทย ถ้าเราเป็นคนไทย แต่ถ้าเราไปใช้ภาษาไทยกับคนอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทย เขาก็ไม่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเป็นของจริง จะใช้คำอะไรก็ได้ที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แล้วแต่ยุคสมัย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นผู้คนที่สมัยพระพุทธกาล ถ้าสมมติไม่มีคำว่าปัญญา แต่เข้าใจสภาวธรรม คือ ทั้งหมดของความนึกคิด และเข้าใจโดยไม่มีประโยค ปัญญา เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตน คือความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างนี้ก็คืออาการของปัญญา ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาคือสภาพที่รู้ความจริง แต่ว่าเวลาที่จะกล่าวถึงปัญญา ต้องใช้คำ มิฉะนั้นไม่มีความที่จะเข้าใจได้ว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร อย่างเจตสิกมีถึง ๕๒ ต้องใช้แต่ละชื่อสำหรับแต่ละสภาพธรรม เพื่อไม่ให้ปะปนกัน มิฉะนั้นจะเข้าใจว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร แต่ปัญญาเป็นสภาพที่รู้ สามารถที่จะเข้าใจความถูกต้องความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นได้ แม้ว่าเราไม่มีภาษาเลย ไม่มีอะไรเลย แต่ธรรมมี

    ผู้ฟัง ครับ โดยที่เข้าใจของสภาพ สภาพทั้งหมดที่อาจารย์บรรยาย โดยไม่ต้องมีประโยคของคำพูด

    ท่านอาจารย์ แต่เราต้องพูด เรานั่งเฉยๆ ไม่ได้

    ผู้ฟัง ครับ คือหมายความว่า สมมติผมเป็นผู้ฟังพระศาสดา พระพุทธองค์ แสดง แต่ไม่มีบัญญัติคำว่า ปัญญา แต่ว่าเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ต้องมี ถ้าไม่มี ทรงแสดงอะไรคะ

    ผู้ฟัง แสดงเหตุทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละค่ะคือคำที่ใช้สำหรับเพื่อจะแสดงลักษณะของสภาพธรรม อย่างไรๆ ก็ต้องมีคำ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นขอให้เข้าใจทุกคำที่ได้ยินให้ถูกต้องในภาษาของเรา

    ผู้ฟัง นั่นก็ต้องมาวิจัยทุกๆ ประโยค

    ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ เฉพาะคำภาษาบาลี เพราะเราไม่ได้ใช้ภาษาบาลี แต่เราขอยืมคำมา แล้วเราคิดว่าเราเข้าใจ เพราะฉะนั้น เราอาจจะคิดว่าเราเข้าใจ แต่ความเข้าใจนั้นไม่ถูก จนกว่าจะเรียนว่าคำนั้นแท้จริงหมายความว่าอะไร เราจะได้ไม่คลาดเคลื่อน

    ผู้ฟัง ทุกประโยค

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องทุกค่ะ คำที่เป็นภาษาบาลีเท่านั้น อย่างถ้วยแก้ว เข้าใจแล้ว แต่ปัญญาคืออะไร ในเมื่อเราขอยืมคำภาษานั้นมาใช้ ไม่ใช่ภาษาไทย

    เพราะฉะนั้น ภาษาไทยมีคำอะไรที่เราใช้แล้วเราเข้าใจในลักษณะของปัญญา หรือความหมายของปัญญา นี่เป็นเหตุที่จะทำให้เราไม่สับสน คือเริ่มมีความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียวค่ะ

    ผู้ฟัง ขอบคุณมาก จึงเป็นเหตุของคำต่อมาว่า ปัจจัตตัง รู้เฉพาะตนหรือครับ เพราะว่าความเข้าใจของสภาพธรรม รอบรู้ ซึ่งเกิดขึ้นแต่ละรูปแต่ละนามไม่เท่ากัน

    ท่านอาจารย์ แต่ละคน แต่ว่าต้องเป็นความเข้าใจ

    ผู้ฟัง ที่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ที่ถูกต้อง แต่เราจะรู้ว่าถูกต้องไม่ถูกต้องเมื่อสนทนากัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องเดาความคิด แล้วไม่ใช่เดาว่าคนฟังเข้าใจแล้ว ต้องซักถาม นี่เป็นประโยชน์


    หมายเลข 9918
    22 ส.ค. 2567