ศึกษาเพื่ออะไร



    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ทุกคนชวนกันคิด เพื่อตัวเองจะได้เข้าใจจริงๆ ตอนนี้เรามาถึงคำว่าปัญญาก่อน ถ้าเป็นภาษาไทยเราจะใช้คำว่าอะไร

    ผู้ฟัง ขอประทานโทษ อยากจะถามอาจารย์ว่า ปัญญาเขาจะต้องอยู่ในความควบคุมของไตรลักษณะใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่ถูกไม่ได้ใช้คำว่า อยู่ในความควบคุม เหมือนกับมีตัวตนที่ควบคุม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อยู่ในความควบคุมของใครทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่าปัญญานี้ก็ไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง เป็นทุกข์ แล้วเป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ต้องดับไป

    ผู้ฟัง คำว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ท่านอาจารย์จะแปลว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เกิด และไม่เกิด รวมนิพพาน เป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ถ้าหากเป็นเช่นนั้นตัวสติปัญญาก็เป็นอนัตตา สติปัญญาก็พึ่งพาอาศัยอะไรไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ใครจะพึ่งคะ ในเมื่อปัญญาเป็นสภาพที่รู้แจ้ง เกิดขึ้นเมื่อไรก็รู้แจ้ง ไม่ใช่ว่าต้องมีใครอีกคนหนึ่งไปพึ่ง

    ผู้ฟัง ตกลงว่า ปัญญากับสติก็ไร้ประโยชน์

    ท่านอาจารย์ ไม่ไร้ประโยชน์เลย มีประโยชน์มากค่อยๆ ฟังไป ค่อยๆ ทราบว่า ธรรมใดเป็นโสภณธรรม แต่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราจะไปพึ่งโสภณธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็ไม่เข้าใจความหมายของอนัตตา เราไม่มี มีสภาพธรรม ซึ่งสภาพธรรมที่มีเป็นปรมัตถธรรม แล้วก็มี ๔ เท่านั้น คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน อันนี้ยังไม่อยากจะไปถึงตอนนั้น เพราะว่าไม่ชอบที่จะให้ทุกคนข้ามส่วนที่สำคัญที่สุด คือ การไตร่ตรองให้เข้าใจความหมาย แม้แต่จุดประสงค์ของการฟัง หรือการศึกษาเพื่ออะไร ตอบภาษาไทยก็ได้

    ผู้ฟัง รู้สภาพธรรม แต่ไม่ติดอยู่ในสภาพธรรมนั้นๆ เป็นปัญญา ไม่รู้ว่า ไก่ตัวนี้จะชนแล้วชนะหรือเปล่าก็ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เราขอยืมคำว่า สภาพธรรมมาใช้อีก มาใช้ตลอด โดยที่จริงๆ แล้ว สภาพธรรมคืออะไร เราก็ไปไม่ถึงนั่นเลย ถ้าไม่มีใครตอบ เห็นท่าจะต้องตอบเองเสีย ละมังคะ คือให้ทุกคนได้พิจารณาคำนี้ด้วย ในภาษาไทย คือ เข้าใจถูก ความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าเราฟังๆ แล้วไม่เข้าใจ จะเป็นปัญญาได้ไหม เราอาจจะท่อง เยอะแยะ แต่เราไม่เข้าใจเลย จำได้ จะเป็นปัญญาหรือเปล่า แต่ขณะใดที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ ในภาษาไทย เข้าใจถูก พูดอย่างนี้หมายความถึงอย่างนั้น เป็นความเข้าใจจริงๆ เรารู้ได้เลย ใครจะใช้ภาษาบาลีอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไม่รู้ความหมายที่แท้จริง เขาก็เป็นเพียงแต่เหมือนเข้าใจ เหมือนปัญญา แต่ปัญญาจริงๆ ฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง แม้แต่พระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ยินอย่างนี้ ท่านต้องมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วความเข้าใจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เ

    พราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการฟัง ยังไม่ต้องไปถึงเรื่องการปฏิบัติเลย แต่ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง

    ผู้ฟัง สมมติผมไปฟังพระอาจารย์อีก ๙ พระองค์ รวมกันเป็น ๑๐ แล้วผมจะมีแนวอะไร

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็ฟังแล้วก็ไตร่ตรองว่า สิ่งที่พูดตรงกับสภาพธรรมที่มีจริงๆ หรือเปล่า ทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏหรือเปล่า ถ้าสามารถที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ นั่นคือความถูกต้อง แต่ถ้าไม่สามารถทำให้เข้าใจสภาพธรรม สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรมก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าฟังเท่าไรก็ไม่เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แต่ถ้าฟังแล้วสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ได้ นั่นคือถูก

    ผู้ฟัง ซึ่งอาจารย์ก็บอกอีกว่าต้องขั้นพระโสดาบัน

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ไม่มีตัวตน นี่ต่างกัน เข้าใจกับความไม่มีตัวตนนี้ต่างกัน

    ผู้ฟัง อาจารย์ อย่างที่ท่านพูดถึงความเข้าใจ คือ เข้าใจเรื่องราวของธรรม แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องตัวธรรม ถ้าเข้าใจตัวธรรมเมื่อไรก็คือเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง นั่นคือความเข้าใจถูกต้อง ที่ชื่อว่าปัญญา

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจละเอียดกว่านั้นอีก ผมเข้าใจสภาพธรรม แล้วเราวางได้หรือไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวค่ะ คือเวลานี้เรากำลังศึกษาเรื่องราวของธรรมก่อน ถูกต้องไหมคะ

    ผู้ฟัง ถ้าขั้นศึกษาเรื่องราว ก็ยังไม่ถึงขั้นตัดสิน

    ท่านอาจารย์ เวลานี้เรายังตัดสินไม่ได้ เพราะเวลานี้เราพูดเรื่องเห็น แต่เรายังไม่ได้ศึกษาไปว่า เห็นไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตาอย่างไร เราเพียงแต่สิ่งนี้มีจริงๆ

    ผู้ฟัง แต่อาจารย์กำลังพยายามบรรยายให้พวกผมได้ฟังว่า ที่ละเอียดขึ้นของสภาพธรรม แล้วเราจะเข้าใจที่ละเอียดขึ้นนั้นอย่างไร ซึ่งผมเป็นปุถุชน พวกผมร้อยคน ห้าสิบคนเป็นปุถุชน อาจารย์บอกถึงขั้นพระอริยะ ขั้นเบื้องต้น ถึงจะ

    ท่านอาจารย์ คนฟังไมใช่เป็นพระอริยะด้วยการเพียงฟัง ใครจะเป็นพระอริยบุคคล เพียงด้วยการฟัง เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าผมจะเปรียบเทียบในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ทุกข์ หนักที่มีในพระสูตร มีนางปฏาจาราทุกข์มากเลย แต่พระพุทธองค์ใช้คำพูดเพียงสั้นๆ ไม่ต้องไปเรียนจิต เจตสิก รูป อะไรเลย ผมยกตัวอย่างนางปฏาจารา ทุกข์มาก จงมีสติเถิด น้องหญิง แค่นี้เองก็สามารถที่จะสงบได้เลย เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากจะเอา ๒ อย่างมาเปรียบเทียบ ในโลกนี้คนที่ทุกข์มากๆ แล้วไปเจอสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขา ที่เขาคิดว่า เขามีปัญญาขึ้นมา สามารถคลายทุกข์ได้ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธกาล อยากจะทราบว่า อันไหนที่ชื่อว่าปัญญากันแน่ครับ

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นข้อที่ดีที่จะเห็นความละเอียดของการที่จะศึกษา หรือว่าเข้าใจธรรม เพราะว่าตัวอย่างที่มี ถึงแม้ว่าจะเป็นในอดีตที่เราได้ยินได้ฟังแม้ในปัจจุบัน

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องของเพียงความสุขหรือความสบายใจ แต่เหนือยิ่งกว่านั้นคือเรื่องของปัญญา หรือที่เราจะใช้ภาษาไทยว่า ความเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงแสดง

    เพราะฉะนั้น เราเกิดมา เราไม่พ้นจากทุกข์ จากสุข ต้องมีแน่นอนแล้วแต่กรรม แล้วแต่กิเลส ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ต้องเป็นทุกข์ เพราะว่าไม่ได้สมหวังอย่างที่เราหวังทุกอย่าง ต้องมีการพลัดพรากจากสิ่งที่เราติดข้อง

    เพราะฉะนั้น ทุกข์อย่างนี้ คือการไม่ได้สิ่งที่หวัง หรือพลัดพรากจากสิ่งที่หวัง ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว แล้วชาตินี้ก็ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว ก็จะมีต่อไปเรื่อยๆ แล้วแต่จะมากหรือจะน้อย

    เพราะฉะนั้น เราหนีไม่พ้นเหตุซึ่งเราไม่รู้ว่ามันมาจากไหน แต่ว่าเหตุแน่นอนที่สุดที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้ว ทั้งหมดมาจากอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ชาตินี้บางคนอาจจะได้สุขแล้ว เพราะว่ามีความเชื่อความเห็นอย่างไหนก็ตามแต่ แต่นั่นก็ไม่เที่ยง ก็จะต้องเปลี่ยนไป ไม่เหมือนกับปัญญาที่ว่า ถ้าเรามีความเห็นที่ถูกต้องสะสมไป ภายหลังเวลาที่เรามีการได้ยินได้ฟังอีก เราเข้าใจได้เร็ว แล้วเราสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะว่าการศึกษาธรรม อย่าลืม เราเพียงศึกษาโดยตำรา ถ้าเราไม่เข้าใจจุดประสงค์ หรือว่าไม่ตั้งจิตไว้ชอบว่า แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่เราศึกษาเพื่อจะอ่านออกว่า ตำราเขียนว่าอย่างไร มีจำนวนเท่าไร แต่ศึกษาเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีเดี๋ยวนี้

    นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษา เพราะเหตุว่าธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตัวหนังสือที่จารึกไว้เพียงช่วยให้เราพิจารณาให้เข้าใจตัวจริงของธรรมที่กำลังมีอยู่

    ผู้ฟัง เขาสมหวัง ก็แสดงว่าเขาได้ปัญญาแล้วหรือย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เขาพอใจเพียงแค่ความสุขในชีวิต เขาไม่สนใจเรื่องปัญญาเลย เพราะฉะนั้น ทุกคนศึกษาเพื่ออะไร เพื่อต้องการความสุข หรือเพื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ เขาเพียงแต่ต้องการความสบายใจจากสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟัง


    หมายเลข 9919
    18 ส.ค. 2567