ธรรมคืออะไร


    ให้ละเอียดต่อไปว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงคืออะไร นี่แสดงว่าถ้าไม่ศึกษา ตอบไม่ได้แล้ว หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เป็นธรรมที่มีจริง แล้วก็เมื่อใช้คำว่าธรรมแล้ว หมายความว่าทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่เว้นเลย คือธรรม แต่ว่าก็ต้องเข้าใจอีกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ที่เป็นธรรม ใช้คำเพิ่มมาอีกคำ คือ ปรมัตถธรรม นี่แยกแล้ว

    เพราะฉะนั้น จะเอาบัญญัติมาเกี่ยวกับปรมัตถธรรมไม่ได้ แต่ถ้าพูดถึงคัมภีร์ อภิธรรมมี ๗ คัมภีร์ จริง แต่ต้องเข้าใจว่า แต่ละคัมภีร์เป็นเรื่องอะไร มิฉะนั้นแล้วก็สับสน เอาบัญญัติมาเป็นปรมัตถ์ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว พระอภิธรรมมี ๗ คัมภีร์ คัมภีร์หนึ่ง เกี่ยวด้วยเรื่องของบัญญัติ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปรมัตถธรรม บัญญัติไม่มีแน่นอน

    เพราะฉะนั้น ที่ทรงแสดงคัมภีร์บุคคลบัญญัติ ใช้คำว่า ปุคคละ คือ บุคคล บัญญัติ ซึ่งโดยปรมัตถ์ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย เป็นธรรมเท่านั้น คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่ว่าเมื่อมีคัมภีร์ปุคคลบัญญัติ หมายความว่า เพราะมีปรมัตถธรรมจึงสมมติเป็นบุคคลต่างๆ เช่น บุคคล ๔ บุคคล ๓ หรืออะไรก็แล้วแต่ ตามประเภทที่เราเข้าใจ แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจความหมายของธรรมก่อน แล้วก็รู้ว่าธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมคืออะไร มิฉะนั้น เราก็จะปนเป็นอภิธรรมไปทั้งหมด แต่ว่าความความจริงแล้ว บัญญัติมี เป็นปรมัตถธรรม แต่ถ้าพูดถึงคัมภีร์พระอภิธรรม มีปุคคลบัญญัติ เป็นอีกคัมภีร์หนึ่งด้วย

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นการศึกษาให้ทราบว่า เพื่อเข้าใจ นี่เห็นไหมคะว่า ถ้าเราไม่เข้าใจ เราหยิบแต่ละคำมาสับสนได้ แล้วก็จะมาเถียงว่า นี่เป็นอภิธรรมหรือเปล่า เป็นหรือไม่เป็นไม่สำคัญ สำคัญที่ความเข้าใจของเราในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แล้วเราสามารถที่จะรู้ความจริงว่าต่างกันตรงไหน หรือว่ากล่าวโดยรวมอย่างไร อย่างธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ภาษาไทยพูดง่ายๆ ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง แต่พอเป็นภาษาบาลี สัจธรรม

    นี่คือสิ่งที่เราจะเห็นความสอดคล้องว่า เวลาที่เราพูดถึงธรรมหรืออริยสัจ เราต้องเข้าใจด้วย ไม่ใช่เข้าใจภาษาบาลี แล้วพอถึงภาษาไทยไม่รู้ สามารถที่จะบอกได้ว่า อริยสัจมี ๔ แต่พอถึงภาษาไทย อะไร อริยสัจที่ ๑ อย่างทุกขอริยสัจ อะไร ถ้าเราไม่เข้าใจก่อนว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น สัจธรรม ตรงตัว สิ่งที่มีจริง อริยะ เติมคำว่า อริยะ เข้าไป คือ สิ่งที่มีจริงนี้แหละ ธรรมดาปกติอย่างนี้แหละ แต่ผู้รู้เป็นพระอริยบุคคล ต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้ง ต้องเป็นผู้ที่ประจักษ์ในทุกขอริยสัจ คือ สภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ เป็นทุกข์เพราะเกิดแล้วก็ดับ นี่คือความหมายของไตรลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ทุกข์อื่น แต่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ต้องเป็นเรื่องของปัญญา เพราะเหตุว่าชาตินี้ เราอาจจะมีความสบายใจ มีความสุข วนไปเวียนมาแล้วก็หมด แต่ชาติหน้า รับรองได้ไหมคะ ก็ต้องเหมือนอย่างนี้ ตราบใดที่มีอวิชชา คือ ความไม่รู้ แต่ถ้าเริ่มมีความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้น โดยไม่หวังผลพลอยได้ เพราะว่าบางคนเมื่อทำอะไรแล้วหวังผล แต่การศึกษาธรรมให้ทราบว่า การตั้งจิตไว้ชอบ คือ เพื่อรู้แล้วละเท่านั้น เท่านั้นจริงๆ รู้ที่นี้คือเข้าใจถูก จึงเป็นความรู้ ถ้าเข้าใจผิด จะไม่ใช่ความรู้เลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเข้าใจถูก เป็นความรู้ ความรู้นั่นเองทำหน้าที่ละ ถ้าเป็นความรู้ที่ถูกต้องจะตรงกันข้ามกับโลภะ คือ ทุกขสมุทัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ติดหรือทำให้ต้องการด้วยความไม่รู้ จึงมีความต้องการ

    เพราะฉะนั้น เมื่อตลอดชีวิตของเรามามีแต่ความต้องการ มีใครบ้างคะที่บอกว่าไม่ต้องการ หมดความต้องการแล้ว ไม่มีเลย


    หมายเลข 9920
    22 ส.ค. 2567