เพื่อเข้าใจอย่างเดียว
ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เด็กเมื่อเกิด ถ้าศึกษาโดยละเอียดจะทราบว่า ขณะที่จิตเกิดขณะแรก คือปฏิสนธิจิต ซึ่งภาษาไทยก็ใช้ผิดอีก จุติแปลว่าเกิด ทุกคนก็มาถาม ไม่ใช่จุติหรือที่เกิด ไม่ใช่ จุติ คือ เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง คือ จิตขณะสุดท้ายเกิดขึ้นทำกิจ ไม่เหมือนปฏิสนธิเลย แต่ทำกิจพรากหรือเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนั้น จะกลับเป็นบุคคลนั้นอีกไม่ได้เลย เราจะเป็นคนนี้ก็เพียงไม่นาน แล้วก็จะถึงขณะจิตสุดท้ายที่จะทำให้สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง แล้วปฏิสนธิจิตก็จะเกิดสืบต่อ
เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิด ทุกอย่างที่เกิดแล้วดับ จิตต่อไปไมได้ทำกิจปฏิสนธิ แม้ว่าจะเป็นผลของกรรมเดียวกัน กรรมประเภทเดียวกัน เป็นจิตชนิดเดียวกัน แต่เมื่อไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจซึ่งสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เมื่อไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ก็ทำภวังคกิจ หมายความว่าดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ ไม่ให้ตาย อย่างไรก็ตายไม่ได้ เพราะว่าการจะเกิดหรือการจะตายเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม
เพราะฉะนั้น เวลาที่กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ๑ ขณะแล้วดับ กรรมก็ยังทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ทำภวังคกิจ จนกว่าจะถึงขณะที่ รู้สึกตัว ระหว่างนั้นจะไม่รู้สึกตัวเลย เป็นจิตที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใด ทั้งสิ้น ไม่มีตา ถ้าเกิดในครรภ์ ไม่มีหู แล้วยังไม่คิดนึกด้วย เพราะเหตุว่าเป็นเพียงผลของกรรม เป็นวิบากจิต ซึ่งเมื่อเป็นผล หมายความว่า พร้อมที่จะต้องเกิด ผลทุกอย่างต้องมาจากเหตุ เราทำกรรมไว้มาก แต่ว่ากรรมใดจะเป็นปัจจัยพร้อมที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็เลือกไม่ได้ นี่คือความเป็นอนัตตาตั้งแต่ต้น
เพราะฉะนั้น เมื่อเราเกิดแล้ว ไม่มีการรู้สึกตัวเลย เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้คิดนึกอะไรทั้งสิ้น เหมือนตอนที่เรานอนหลับสนิท ไม่มีใครรู้ว่าชื่ออะไร อยู่ที่ไหน มีภรรยา สามี ลูก มีสมบัติพัสถาน บ้านอะไรก็ไม่รู้ ขณะนั้นก็ไม่รู้ใดๆ ทั้งสิ้น แต่วาระแรกที่รู้สึกตัว โลภะเกิด
นี่แสดงให้เห็นว่าทุกคนปฏิเสธไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าไม่รู้ลักษณะของความติดข้องว่า มีตั้งแต่อย่างหยาบจนกระทั่งถึงอย่างละเอียด
เพราะฉะนั้น ปัญญาตรงกันข้ามกับโลภะ แล้วใครสามารถที่จะละความติดข้อง ซึ่งเมื่อเกิดก็ติดแล้ว แล้วก็ติดมาเรื่อยๆ ทุกวัน ทุกอย่าง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เต็มไปด้วยโลภะ
เพราะฉะนั้น จึงเป็นสมุทัย เป็นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ เกิดสังสารวัฏฏ์อยู่เรื่อยๆ ปัญญาเท่านั้นที่สามารถจะดับโลภะ แต่ว่าก่อนที่จะดับหมดถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ต้องดับตามลำดับขั้น คือดับโลภะ ความติดข้องที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ความเข้าใจผิด
นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีการศึกษา ไม่มีความเข้าใจจริงๆ เราจะต้องมีความเห็นผิด ไม่อย่างหนึ่งก็อย่างใด เพราะบางคนก็อาจจะเห็นผิดว่า ไม่มีบุญ ไม่มีบาป กรรมไม่ให้ผล ตายแล้วก็สูญ หรือบางคนก็อาจจะคิดว่า บุญไม่มีผลเลย ให้ไปก็ยิ่งหมด หรืออะไรอย่างนี้ ซึ่งมีโอกาสหรือมีส่วนที่จะเป็นไปได้ด้วยความเห็นผิด จากการที่คุยกันกับเพื่อนๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรม เขาก็จะมีความเห็นต่างๆ กัน ตายแล้วก็ต้องสูญไป เพราะฉะนั้น ก็สนุกสนานเสียให้เต็มที่ชาตินี้
ผู้ฟัง สมมติบุคคลนี้ ตัวผมนี้ตายเข้าสู่ภวังค์
ท่านอาจารย์ เวลานี้ก็มีภวังค์ ยังไม่ต้องตายก็มี
ผู้ฟัง ครับ ระหว่างวาระจิตสุดท้าย จุติจิตเคลื่อนที่ แล้วก็ปฏิสนธิ แต่ระหว่างอยู่ ภวังค์ เมื่อกี้อาจารย์ ใช้คำว่า จนกว่าผู้นั้นจะระลึกรู้สึกตัว
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้สึกตัว
ผู้ฟัง จนกว่าจะรู้สึกว่า ซึ่งมีโลภะเข้ามา
ท่านอาจารย์ เป็นมโนทวาร
ผู้ฟัง อะไรเป็นแรงผลักดันให้เขาจนกว่าจะรู้สึกตัว
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าจะรู้สึกตัวเร็วหรือช้า
ผู้ฟัง ไม่มีอะไร
ท่านอาจารย์ ไม่มีการนับว่า ๑ ขณะแล้วถึงจะรู้สึก ๒ ขณะแล้วถึงจะรู้สึกตัว พระโพธิสัตว์ต่างจากบุคคลอื่น นี่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดมาก เพราะฉะนั้น เวลานี้เราไม่ต้องสนใจเลยว่า ภวังค์เท่าไร แต่เราจะค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ แล้วเมื่อกี้ที่ว่า บุคคลไม่มี ที่จะต้องเข้าไปสู่ความเป็นอย่างนั้น แต่หมายความว่าจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ แล้วก็ทำหน้าที่ของจิตแต่ละขณะ
เพราะฉะนั้น ต้องทราบจุดประสงค์ ทุกท่านที่นี่ ไม่ใช่เรียนเพื่อ ลาภ ไม่ใช่เรียนเพื่อยศ คือ การนับถือ สักการะ สรรเสริญ หรือแม้แต่คำชมว่าเก่ง หรือดี หรือเข้าใจ หรืออะไรอย่างนั้น แต่เรียนเพื่อเข้าใจสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และเมื่อเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ความรู้นั้นจะละความไม่รู้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของอกุศลทั้งหมด
เพราะฉะนั้น ผู้นั้นเป็นผู้รู้เอง ฟังแล้วเข้าใจแค่ไหน ยังไม่ต้องข้ามไปเรื่องอื่นเลย เอาเพียงกำลังได้ยินได้ฟัง แล้วก็เข้าใจหรือไม่เข้าใจในสิ่งนี้ เพราะว่าจะต้องกล่าวไปตามลำดับ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง ขออนุญาตตรงนี้ เราได้ยินท่านอาจารย์ย้ำว่า เราค่อยๆ เข้าใจ ท่านอาจารย์ได้อธิบายว่า เมื่อจุติจิต หมายความว่า จิตครั้งสุดท้ายที่ออกจากร่างนั้น
ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ นี่แสดงให้เห็นว่าหน้าที่ของจิตแต่ละอย่างต่างกัน จุติจิต คือ จิตที่ทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ แต่ไม่ต้องไปไหน เกิดแล้วดับ คือ พรากหรือพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ แต่ไม่มีแขน มีขา มีมือที่จะไปดึง ไปพราก ให้เข้าใจจริงๆ ว่า นามธรรมเป็นนามธรรม เมื่อเป็นขณะสุดท้าย ก็ขณะสุดท้ายจริงๆ คือ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ แม้ว่าจะใช้ภาษาอย่างไร แต่ต้องเข้าใจ
นี่เป็นสิ่งที่เราเริ่มเห็นความสำคัญของความเข้าใจว่า ต้องพิจารณาแล้วเข้าใจ เพราะฉะนั้น การศึกษาทั้งหมดเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องมีจุดประสงค์ว่าเราต้องตั้งจิตไว้ชอบ อย่างที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า ศึกษาทำไม เพื่ออะไร เพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า ตรงกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไหม ศึกษาพระอภิธรรม พระอภิธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่ทุกขณะที่เป็นสภาพธรรมใดเกิดขึ้น นั่นคืออภิธรรม ซึ่งศึกษาอันนี้ต้องเข้าใจ หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวพระอภิธรรมแล้ว ต้องไม่ลืมว่า นั่นเป็นขั้นปริยัติ ขั้นปฏิบัติก็คือมีการปรุงแต่งของสังขารขันธ์จากการได้ยินได้ฟังจนสัมมาสติระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเกิดแล้ว แล้วเกิดแล้วนี้สั้นแสนสั้น โดยการศึกษาเราทราบว่า จิตเกิดแล้วก็ดับ มีอนุขณะสั้นๆ ๓ ขณะ คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ อุปาทขณะ คือ ขณะที่เกิด ก็ไม่ใช่ขณะที่ดับ ฐีติขณะ ก็ไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ ภังคขณะ ขณะที่ดับ ก็ไม่ใช่ขณะที่เกิด หรือขณะที่เป็นฐิติ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราต้องมีความเข้าใจจริงๆ แล้วก็เวลาที่ศึกษาให้ทราบว่า ศึกษาเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เมื่อใดที่สติระลึก นั่นเป็นอนัตตา นั่นเป็นสัมมาปฏิบัติ นั่นเป็นมรรคมีองค์ ๕ ยังไม่ครบเป็นมรรคมีองค์ ๘ แล้วนั่นคือการที่เราจะเริ่มรู้จักตัวจริงของธรรม ซึ่งเราศึกษาจากตำรา
เพราะฉะนั้น ให้ทราบจริงๆ ถึงจุดประสงค์อันนี้ มิฉะนั้นเราจะเรียนแบบอื่น เรียนแบบท่อง เรียนแบบสอบ ซึ่งสอบเพื่ออะไร มีคนหนึ่งเขาก็มีเวลาว่างมากเลย สามีไปทำงาน เขาก็อยู่บ้าน ไม่รู้จะทำอะไรจริงๆ เขาก็ไปเรียนพระอภิธรรม แล้วก็สอบ ข้ออ้างคือว่า ถ้าไม่สอบเขาก็ไม่ขยัน นี่ไม่ใช่จุดประสงค์เพื่อขยัน เพื่ออะไรทั้งสิ้น หรือไม่ใช่เพื่อผลพลอยได้ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่ากุศลธรรม ขณะนี้ที่กำลังฟัง ขณะใดที่เข้าใจ เป็นจิตดวงไหนที่ศึกษามาแล้ว มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ไม่ใช่เรา แต่ความเข้าใจนั้นคือปัญญา เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นญาณสัมปยุตต์ และเป็นกุศล ถ้าขณะใดที่ไม่เข้าใจ ขณะนั้นจะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ได้ไหม ไม่ได้ แต่เป็นกุศลที่เห็นว่าการฟังมีประโยชน์ ฟังเพื่อที่จะได้พิจารณา ขณะใดที่เข้าใจก็เป็นสภาพธรรมที่เราเรียนมาแล้วทั้งหมด
เพราะฉะนั้น ให้ทราบจริงๆ แม้ผลพลอยได้ของกุศล ซึ่งต้องนำผลที่เป็นสุขมาให้ กุศลทั้งหมดไม่ว่าระดับทาน ระดับศีล ความสงบของจิต หรือว่าการอบรมปัญญา ก็เป็นกุศลที่จะนำกุศลวิบากมาให้ ก็ไม่หวังที่จะได้สิ่งเหล่านั้น เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น สิ่งเดียว คือ เพื่อเข้าใจ อย่าอ้างว่า เพราะว่าถ้าเราไม่สอบ เราจะไม่ขยัน ถ้าอย่างนั้นหมายความว่าเรามีความเป็นตัวตนที่ต้องการจะเป็นคนขยัน ที่ต้องการที่จะเรียน แต่ว่าธรรมเป็นเรื่องละเอียด ถ้าตราบใดที่ทำไปด้วยเป็นตัวตน หรือเพื่อตัวตน ก็ไม่ใช่เพื่อการละความเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้น การศึกษาเพื่อเข้าใจอย่างเดียว แล้วปัญญาทำหน้าที่ของปัญญาโดยตลอด ไม่ต้องห่วง เพราะว่าสังขารขันธ์ทั้งหมด เว้นเจตสิก ๒ ดวงเท่านั้น ก็จะปรุงแต่ง ไม่ใช่เราทำ