ถ้าไม่รู้แล้วปฏิบัติอะไร ๑


    ผู้ฟัง ผมอยากจะถามอาจารย์ อันนี้เป็นความรู้ในทางพระอภิธรรมว่า ผู้ที่ได้ มหคตกุศล ตั้งจิตปรารถนาจะไปเกิดในภูมิอื่นได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องของความตั้งใจ แต่เป็นเรื่องของเหตุ คือ แล้วแต่ว่าก่อนจะจุติ จิตประเภทไหนเกิด

    ผู้ฟัง สรุปแล้วผู้ที่ได้รูปฌานไปเป็นรูปพรหมได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ได้อรูปฌานแล้วไม่เสื่อม เหตุอะไรที่เขาจากรูปฌาน ไปสู่อรูปฌาน เขาต้องเห็นโทษของรูปแล้ว

    ผู้ฟัง อรูปฌานต้องแน่วแน่แล้ว นะครับ อาจารย์

    . อรูปฌาน คือ ไม่หวั่นไหว อเนญชาภิสังขาร

    ผู้ฟัง เมื่อไม่หวั่นไหวแล้ว คือไปโดยธรรมชาติ ก็ต้องไปอย่างนั้นอยู่แล้ว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คือใครจะว่าอะไรก็แล้วแต่ การเรียนไป ถ้าถามเขาถึงเรื่องสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ ทำอย่างไรจะรู้ได้ อันนั้นเป็นสิ่งที่ควรฟัง แต่ถ้าเป็นเรื่องราวของบุคคลนั้น บุคคลนี้ แล้วก็มีความเห็นต่างกัน แต่ไม่สามารถที่จะยุติ เพราะเหตุว่าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ อะไรควรจะรู้มากกว่ากัน เรื่องราวสิ่งอื่นหรือว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เราจะรู้จุดประสงค์ของที่ต่างๆ ได้ หรือคำสอนต่างๆ ได้ว่า เพื่อให้เชื่อ หรือว่าเพื่อให้ทำอย่างที่บอก หรือว่าเพื่อให้รู้ความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็เลือกเอาตามใจชอบ ใครก็บังคับใครไม่ได้

    ผู้ฟัง คือส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ศึกษาภาคปริยัติ ผมคิดว่าในที่นี้ก็คงจะมีบางท่าน เมื่อศึกษาปริยัติอยู่ ก็ต้องการที่จะไปปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ชีวิตเราที่เหลืออยู่ เราจำเป็นไหม จำเป็นที่ต้องแสวงหามีสถานที่ปฏิบัติที่เป็นสัปปายะหรือไม่ครับ หรือว่าได้ทุกสถานที่ครับ

    ท่านอาจารย์ ที่มีคำนี้ เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจคำนี้ ปฏิปัตติ แปลว่าอะไร ผู้ที่ศึกษาบาลี อย่างท่านอาจารย์สมพร ท่านให้ความหมายว่า ถึงเฉพาะ แปลตรงๆ ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติ แปลว่า ถึง ถึงเฉพาะ เราก็ไม่เข้าใจ ถ้าเราไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ขณะนี้ สภาพธรรมมี มีปัญญาที่จะถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างหรือเปล่า ขณะนี้ทางตาเป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ทางหูก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ทุกอย่างที่เกิดปรากฏ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เป็นลักษณะธรรมแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ ถ้าธรรมนั้นเป็นจิต ก็เป็นจิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ถ้าธรรมนั้นเป็นรูป ก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก แม้กระนั้นจิตก็ไม่ใช่เจตสิก และจิตก็มีมากมายหลายประเภท แล้วจิตก็ไม่ใช่ว่ามีอยู่เป็นประจำ แล้วก็เกิดทำหน้าที่ต่างๆ แต่ให้ทราบความไม่มี แล้วมี แล้วไม่มี ซึ่งข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก แสดงว่าสภาพธรรมทุกอย่างจะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยเกิดไม่ได้เลย แม้แต่จิต หรือเจตสิก แต่ก็ต้องทราบความละเอียดของธาตุซึ่งต่างกัน อย่างรูปธาตุเกิดขึ้นเพราะสมุฏฐาน คือ มีกรรมเป็นสมุฏฐานก็มี ประเภทหนึ่ง มีจิตเป็นสมุฏฐานก็มี มีอุตุเป็นสมุฏฐานก็มี มีอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี แต่สำหรับนามธรรม คือ จิต และเจตสิกเป็นธาตุพิเศษ ซึ่งเราจะต้องศึกษาให้รู้ลักษณะของธาตุนี้ ซึ่งกำลังมีอยู่ในขณะนี้ว่า เป็นธาตุ ซึ่งทันที่ที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับลง ก็เป็นปัจจัยให้จิตอีกขณะหนึ่งเกิดสืบต่อ ไม่มีใครสามารถที่จะไปยับยั้งหรือดับไม่ให้จิตนี้ดับแล้วไม่ให้เกิดอีกเลย จิตที่จะเกิดแล้วดับ แล้วไม่ให้มีจิตอื่นเกิดสืบต่อมีขณะเดียว คือ จุติจิตของพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดที่ไม่ใช่จุติจิตของพระอรหันต์ เมื่อจิตนั้นดับก็เป็นปัจจัยให้จิตอื่นเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น

    เพราะฉะนั้น ปัจจัยนี้สภาพธรรมนี้ ชื่อว่า อนันตรปัจจัย คือเป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่น

    นี่คือการศึกษาตามลำดับจริงๆ เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ภาวนา ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ปฏิบัติ เราอยากปฏิบัติ เราเป็นอะไร ความเห็นถูกหรือความเห็นผิด อยาก เป็นอะไร เป็นกุศลหรืออกุศล แต่ถ้าเรามีความเข้าใจจริงๆ ตั้งแต่เบื้องต้น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วเราก็รู้ว่ากุศลดีกว่าอกุศล ปัญญาก็ดีกว่าอวิชชา แต่เราจะมีปัญญามากๆ มีกุศลเยอะๆ อย่างที่เราอยากนี้ได้ไหม ถ้าทุกอย่างสำเร็จด้วยความอยาก เราไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากอยากเข้า

    นี่ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้ว โลภะมีอำนาจมหาศาลแค่ไหน อยากได้หมดทุกอย่าง แต่สิ่งเดียวซึ่งโลภะจะเข้าไปใกล้ชิดไม่ได้เลย คือโลกุตรธรรม เพราะแม้แต่ปัญญา โลภะยังอยากเลย ที่ไปปฏิบัติกันไม่ทราบว่าอยากอะไร อยากมีปัญญา หรือว่าอยากรู้แจ้งนิพพาน หรืออยากดับกิเลส หรืออะไร แต่นั่นคืออยาก

    เพราะฉะนั้น เหตุไม่ตรงกับผลเลย ปัญญาจะไม่ได้เกิดขึ้นหรือมีได้ด้วยความอยาก แต่ด้วยการฟัง ฟังใคร ฟังผู้ที่ตรัสรู้ แล้วก็พิจารณาว่าเป็นจริงหรือเปล่า จนกระทั่งเป็นความเข้าใจ เป็นปัญญาของตัวเอง ค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น

    เพราะฉะนั้น คำว่า “ภาวนา” หมายความถึงการอบรมเจริญสิ่งที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น สิ่งซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อยก็ให้เพิ่มมากขึ้น นี่คือความหมายของภาวนา เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เข้าใจคำนี้ เราไปทำอะไร หรือว่าแม้แต่คำว่า ปฏิปัตติ มรรคมีองค์ ๘ หรือว่ามรรคมีองค์ ๕ แล้วเราทำ เราทำได้ไหม หรือว่าเป็นหน้าที่ของสัมมาสติ เป็นหน้าที่ของสัมมาสังกัปปะซึ่งเป็นวิตกเจตสิก เป็นหน้าที่ของสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ เพราะว่าเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ เป็นหน้าที่ของสัมมาสมาธิ หรือเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับปัญญา ต้องมีปัญญาเป็นหัวหน้า ต้องมีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ปฏิบัติอะไร เพราะเหตุว่าการทำสมาธิ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะในประเทศไทย ถ้าฟังดูอาจารย์หลายท่านมาจากต่างประเทศ แล้วแต่ว่าความคิดเห็นอย่างไร จะเป็นทางเวียตนาม จะเป็นทางไต้หวัน จะเป็นทางยุโรป หรือแม้แต่ต่างประเทศเองซึ่งเขาไม่ได้นับถือพุทธศาสนาแต่เขาก็มีสมาธิ เพราะฉะนั้น เขาไม่แยก ไม่สามารถจะรู้ความจริงว่า สมาธิไม่ใช่สติ สมาธิไม่ใช่ปัญญา แล้วเขาก็มีความหวังเลื่อนลอยว่า เมื่อสงบเป็นสมาธิ แล้วปัญญาจะเกิด แต่ถามเขาว่าปัญญารู้อะไร ตอบไม่ได้ แล้วจะได้ปัญญาอะไรจากความไม่รู้ ตั้งแต่ขั้นต้น แต่อยากปฏิบัติ แล้วก็ไปปฏิบัติ แล้วก็ไม่รู้อะไรตลอด สามารถจะรู้ไหมว่า สติสัมปชัญญะมีลักษณะอย่างไร ถ้าไม่รู้แล้วปฏิบัติอะไรคะ


    หมายเลข 9930
    18 ส.ค. 2567