ถ้าไม่รู้แล้วปฏิบัติอะไร ๒


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ส่วนมากเขาไปเขาบอกว่า สงบ ได้ความสงบ

    ท่านอาจารย์ แต่เขาไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วสงบที่นี้คือสงบจากอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องเป็นกุศลจิต ถ้าขณะนี้ไม่มีสติสัมปชัญญะ เพียงแต่ฟังเรื่องจิต จะสามารถรู้ไหมคะว่า จิตสงบต่างจากจิตที่ไม่สงบอย่างไร เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับแสนเร็วเกินกว่าที่จะประมาณได้ ในขณะนี้เพียงเกิดขึ้นรู้อารมณ์แล้วดับทันที เร็วแสนเร็ว จนไม่ปรากฏความดับ นี่คือความเร็วที่สุดจึงจะเป็นอย่างนี้ได้ ในเมื่อจิตเกิดแล้วดับ โดยที่สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต แล้วต้องเป็นกุศลจิตจึงสงบ

    เพราะฉะนั้น เขาเพียงแต่ว่า เขาไม่ยุ่งยาก เขาห่างไกลไปอยู่ในที่จำกัด แล้วเขาไม่ได้คิดอย่างอื่น คือสงบ แต่ความจริงถ้าปัญญาไม่เกิดที่จะรู้ว่า กุศลจิตต่างกับอกุศลจิตไม่มีทางที่จะเป็นกุศลจิตได้ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล แต่พอใจ เพราะฉะนั้น ก็เป็นลักษณะหนึ่งของโลภะ

    ด้วยเหตุนี้มิจฉามรรคมีในพระไตรปิฎก ไม่ใช่ไม่มี แสดงเทียบกันเลย มีมิจฉามรรค ๘ แล้วมีมิจฉัตตะ ๑๐ แล้วก็สัมมา ที่เป็นถูกอีก ๑๐ ซึ่งตรงกันข้ามกัน เพราะฉะนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การศึกษาธรรม ถ้าไม่ละเอียด ไม่มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง อย่างที่เรากล่าวสรรเสริญพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ แล้วคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ถ้าเราไม่รู้จักจริงๆ ไม่ศึกษา ไม่เข้าใจ ธรรมรัตนะจะเป็นที่พึ่งกับเราในลักษณะไหน ไม่ได้มีแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรินิพพานแล้ว แต่ยังมีพระธรรมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ไม่ใช่พึ่งอย่างอื่น แต่พึ่งให้เราได้พิจารณาความถูกต้อง สิ่งไหนที่ผิดก็ผิด สิ่งไหนที่ถูกก็ถูก ถ้าความเห็นผิดหรือการปฏิบัติผิด ไม่มีในครั้งโน้น จะไม่มีมิจฉามรรคในพระไตรปิฎก แต่ในพระไตรปิฎกทำให้ผู้ที่ศึกษาโดยละเอียด สามารถที่จะช่วยตัวเองจากความเห็นผิดต่างๆ ซึ่งรอบข้างจากการไม่ศึกษาโดยละเอียด ให้เข้าใจถูกขึ้น

    เพราะฉะนั้น โดยมากทุกคนพูดถึงทำสมาธิ แต่ไม่ได้แสดงว่า มิจฉาสมาธิ ต่างกับสัมมาสมาธิอย่างไร ทุกคนพูดเรื่องการปฏิบัติ แต่ไม่ได้แสดงความต่างกันของสัมมามรรคกับมิจฉามรรค เพราะฉะนั้น ทุกคนก็คิดว่าที่ปฏิบัตินั้นถูกแล้ว เป็นสัมมามรรคแล้ว แต่เทียบซิคะว่าต่างกันอย่างไร ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจเลย เราแน่นอนที่ปฏิบัติ แต่ถ้ามีความรู้ความเข้าใจขึ้น เราไม่มีที่จะปฏิบัติ แต่ว่ามีการภาวนา คือ อบรมความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ จนกว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งทำให้สัมมาสติ ซึ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา เกิดระลึกลักษณะ คือ เฉพาะลักษณะหนึ่งที่กำลังปรากฏ จึงจะเป็น ปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะแต่ละลักษณะ เพื่อที่จะได้รู้ชัดเจนตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้น เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง สภาพธรรมใดเกิดกับจิต ถึงเรียกว่าปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐาน ถ้าศึกษาโดยละเอียดจะทราบว่า เหตุใดไม่ทรงแสดงว่า ผัสสปัฏฐาน เจตนาปัฏฐาน หรือเจตสิกอื่นๆ แต่ใช้คำว่า สติปัฏฐาน เพราะอะไร เพราะ สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แสดงว่าไม่มีตัวตนไปจัดสรร ไปทำ ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ไม่มีใครทำอะไรได้เลยสักขณะเดียวตั้งแต่เกิดจนตาย แม้แต่เห็นขณะนี้ก็เกิดแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่งทำให้เห็น มีปัจจัยปรุงแต่งทำให้จิตได้ยินเกิด

    เพราะฉะนั้น สติไม่ได้ไปทำอะไรเลย แต่ว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้นในขณะนี้ จึงปรากฏ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น บุคคลไม่เข้าใจสติปัฏฐาน เลยไปนั่งสมาธิบ้าง ไปเดินจงกรมบ้าง ๓ วัน ๕ วัน ก็คิดว่าคงไม่น่าจะเกิดประโยชน์อันใด

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ในพระศาสนา คือ ปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้อง นี่จึงจะเป็นประโยชน์ เพราะว่าคำสอน คือ ศาสนา พุทธะ คือ ปัญญา เพราะฉะนั้น เป็นคำสอนที่ทำให้ผู้ศึกษาหรือผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง


    หมายเลข 9931
    18 ส.ค. 2567