เริ่มสละบ้างหรือยัง
ผู้ฟัง ชีวิตประจำวันมีการเสียสละ เป็นตัวตนที่เสียสละ หรือว่าเป็นสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ คงไม่ลืมที่พูดว่า รู้ก็คือรู้ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เสียสละ รู้ว่า เสียสละ หรือไม่รู้ เราสามารถสละความสุขของเราให้คนอื่นเป็นสุข เคยไหม
ผู้ฟัง เคยค่ะ
ท่านอาจารย์ เคย ขณะนั้นรู้ไหมว่า กำลังสละความสุขให้คนอื่น
ผู้ฟัง ส่วนใหญ่จะเป็นเรา
ท่านอาจารย์ เป็นเราก็เป็นเรา แต่รู้ว่า ขณะนั้นกำลังสละ ซึ่งแต่ก่อนเราไม่ได้สละ ซึ่งทุกคนเห็นแก่ตัวมากมายเหลือเกิน ถ้ามองดูคนที่ไม่เคยสละ ทุกอย่างที่ดีต้องเป็นของเขา นั่นคือไม่สละ ถ้าสละก็คือ คนอื่นคงมีความสุขถ้าเขาได้สิ่งนั้น ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะเราสามารถสละความติดข้องในสิ่งนั้น เพื่อคนอื่นได้ กำลังไม่สละ กำลังติดข้อง สิ่งที่มีทั้งหมดเป็นของเรา เห็นก็รีบหยิบ รีบคว้าสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดีก็ให้คนอื่น ขณะนั้นก็รู้ได้ถึงความติดข้อง แต่ถ้าตรงกันข้าม เริ่มคิดถึงธรรม โดยไม่ต้องตระเตรียมเลย เพียงฟังแล้วเข้าใจขึ้น ก็จะทำให้เรารู้ว่า ทุกคนเหมือนกัน และกำลังสะสมอะไร สะสมกุศล หรือสะสมอกุศล สะสมความดีซึ่งยากจะเกิดได้ จะเกิดได้ก็ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเพิ่มขึ้น มีกำลังขึ้น จนกระทั่งการสละเป็นธรรมดา เพราะสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ธรรมทั้งหมดไม่ใช่เพื่อติดข้อง แต่เพื่อสละ จนกระทั่งปัญญาเกิด โดยที่อาจสละความสุขจากการไปเที่ยว แต่เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็สละสิ่งที่เคยติด เพื่อเข้าใจ จนเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งว่า ถ้ายังคงติดข้องอยู่ ก็ไม่มีวันหมดความติดข้อง แต่ถ้าเริ่มเป็นกุศล สละทีละเล็กทีละน้อย การละคลายกว่าจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ในชีวิตประจำวันไม่มีการสละเลย วันดีคืนดีก็สละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีปัญญาที่นำทางชีวิตว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร และประพฤติเป็นไปตามความเข้าใจถูก ตามความเห็นถูก ก็จะเริ่มความต่างของการที่ว่า แม้ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ก็ยังไม่ใช่การเข้าใจว่า เป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ก็ค่อยๆ สะสมไปที่เป็นผู้เริ่มสละแม้แต่การติดข้องในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งสะสมเป็นบารมีที่สามารถทำให้ใจสะอาดขึ้น ผ่องแผ้ว ศรัทธาคือขณะที่จิตผ่องใสจากอกุศล แล้วน้อมไปในกุศล ไม่ว่ากุศลประเภทใดทั้งสิ้น ก็เพราะศรัทธา ขณะนั้นจิตผ่องใสจากอกุศล จึงสามารถน้อมไปในกุศลประเภทต่างๆ ได้ แม้แต่ในเรื่องของการบริโภคอาหารพอประมาณ ก็คือว่า ตามที่มี และตามที่รับประทานได้ คือ อิ่ม ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อยค่ะ