ปัญญาไม่ได้รู้แต่ทุกข์
ผู้ฟัง ผมอยากจะให้ท่านอาจารย์ได้ตอบในคำถามที่ผม เพื่อความกระจ่างชัดของเราทุกคนว่า จำเป็นไหมครับที่ว่าจะต้องทำจนกระทั่งเมื่อย หรือปรากฏทุกข์เวทนา อย่างแรงกล้าตรงนั้น แล้วจึงเห็นทุกข์
ท่านอาจารย์ ที่จริงที่ทำๆ กันก็ในลักษณะนี้ ใช่ไหมคะ ที่ว่านั่งจนเมื่อย เพื่อที่จะได้เห็นว่าลักษณะที่เมื่อยนั้นเป็นทุกข์ ทนไม่ได้ ซึ่งคนที่ถูกถามน่าจะคิดว่า แล้วตอนที่ทุกข์ไม่เกิด ระลึกรู้ได้ไหม ไม่ได้ เพราะปัญญาก็ไม่เกิด ปัญญาจะไปรู้แต่ทุกข์อย่างเดียว แล้วตอนที่ทุกขเวทนาไม่เกิด ไม่มีอะไรที่ปัญญาจะรู้หรือคะ กำลังนั่งเดี๋ยวนี้ มีอะไรที่ปัญญาจะรู้ไหม มีแน่นอน ถ้าไม่รู้ เป็นอะไรคะ อวิชชา ก็ ๒ อย่าง ก็ตรงกันข้ามกันอยู่แล้ว ถ้าไม่รู้ก็เป็นอวิชชา ถ้ารู้ก็คือวิชชา แล้วอวิชชาไม่รู้อะไร ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ วิชชารู้อะไร วิชชารู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จะให้วิชชาไปรู้อะไร ลองหาสิ่งที่ปัญญาจะรู้สิว่าจะให้ไปรู้อะไร ถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เพราะเราทราบอยู่แล้วทุกคนมีจิตทีละ ๑ ขณะจิต แน่นอน ขณะที่กำลังเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่จิตเห็นแล้ว เป็นจิตได้ยิน เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ถ้าปัญญาจะรู้ของจริง ก็คือรู้ของจริง ตามปกติในชีวิตประจำวัน นั่นจึงเป็นปัญญา ถ้าเป็นอวิชชาแล้วไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้ทั้งนั้น รู้ไม่ได้เลย ขณะนี้ถ้าไม่รู้ก็คือ อวิชชา เวลาที่เราศึกษาหรือได้ยิน “ปฏิจจสมุปบาท” อวิชชา เป็นปัจจัยแก่สังขาร ทุกคนก็พอใจ แต่อวิชชาอยู่ที่ไหน เมื่อไร ไม่รู้ แต่ถ้าเราเป็นคนละเอียด อวิชชาไม่รู้อะไร ต้องขณะที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วไม่รู้
เพราะฉะนั้น วิชชารู้อะไร ก็รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏแทนอวิชชา อันนี้ก็เป็นความถูกต้อง มิฉะนั้นจะให้ปัญญารู้อะไร ถ้าไม่รู้ความจริงขณะนี้ทุกๆ ขณะ แล้วต้องไปทำอะไรหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ขณะนี้ ทางที่จะรู้ได้ คือฟังก่อน ถ้าไม่มีการฟังเลยอย่างไร อย่างไรก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่กำลังเห็นอย่างนี้ก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้น เริ่มที่จะรู้ได้ ก็คือว่าฟังพระธรรม ซึ่งในพระไตรปิฎก ใครก็ตามที่จะไปอ่าน จะไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่ปรากฏ เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ปรากฏ รสที่ถูกลิ้น สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ความคิดนึกต่างๆ ทุกอย่างเป็นชีวิตประจำวัน เป็นธรรมทั้งหมด ในพระไตรปิฎกเป็นเรื่องจริง เป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่ทุกคนพิสูจน์ได้
เพราะฉะนั้น ธรรมไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปเชื่อคนหนึ่งคนใด แต่ถ้าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังตรงกับความจริงที่กำลังเป็นอยู่ แล้วเรามีความรู้ ความเข้าใจถูกขึ้น นั่นคือการอบรมปัญญา ซึ่งในพระไตรปิฎกใช้คำว่า จิรกาลภาวนา ทรงแสดงไว้ทุกอย่างที่จะไม่ให้เราเข้าใจผิด ภาวนา คืออบรม กาล คือเวลา จีระ คือ ยาวนาน เราก็รู้เลย ไม่ใช่ไปนั่งแล้วไปทำอะไรขึ้นมา แล้วเราก็ไม่รู้อะไร แล้วก็คิดว่าเป็นปัญญา แต่ขณะนี้เครื่องทดสอบปัญญา ก็คือว่า กำลังมีสภาพธรรม แล้วรู้สิ่งที่เป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน ต้องเริ่มต้นจากการฟัง ฟังแล้วพิจารณา นี่คือการอบรม จนกว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้สัมมาสติ เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือปฏิบัติ ไม่ใช่ปริยัติ ขณะนี้ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นปริยัติ คือฟังเรื่องของสภาพธรรม จนกว่าสติจะเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรม จึงเป็นสติปัฏฐาน จึงเป็นปฏิบัติ แต่ไม่ใช่มีเราไปนั่งทำอะไรที่ไหน โดยความไม่รู้เลย แล้วปัญญาจะเกิดได้อย่างไร
ผู้ฟัง หลายๆ คนพูดว่า ตอนนั่งนั้นสบาย แต่จริงๆ แล้วนั่งชั่วโมง ตอนลุก เจ็บ ปวดขาไปหมดเลย ตรงนี้ลืม ส่วนใหญ่จะลืมคิดตรงนี้ ที่ว่านั่งสบาย ไม่ทราบว่าสบายอะไร สบายใจ ใช่ไหมครับ แต่ความจริง นั่ง ๑ ชั่วโมงขาเจ็บแน่ๆ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง เจ็บ เจ็บทุกคน
ท่านอาจารย์ แล้วอีกอย่างจะสุข หรือจะทุกข์ ต้องมีเหตุปัจจัย แม้แต่ที่ว่าเจ็บปวดเมื่อย ก็ต้องมีเหตุปัจจัย หรือว่าจะสบายใจเมื่อไรก็ต้องมีเหตุปัจจัย ทำไมไม่คิดถึงปัญญา ทำไมไปคิดเรื่องสบาย ทำไมไปคิดเรื่องต้องนั่ง แต่ตามความเป็นจริงรู้อะไรไม่สำคัญกว่าหรือคะ แม้แต่ขณะที่ฟังเดี๋ยวนี้ ถ้ามีความเข้าใจดีกว่าไปนั่งชั่วโมงหรือเปล่า แล้วไม่รู้อะไรเลย
เพราะฉะนั้น พระธรรมไม่ข้ามขั้นเลย ไม่มีเลยว่าบอกให้ไปปฏิบัติ ในพระไตรปิฎกคนที่ไปเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ไม่เคยตรัสว่าให้ไปปฏิบัติ แต่ทรงแสดงพระธรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับปัญญาของผู้ฟังว่า เมื่อฟังแล้ว มีความเข้าใจแค่ไหน สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือเพียงถึงไตรสรณะคมน์ มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ยังไม่ถึงขั้นระดับที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ความเข้าใจมีหลังจากที่ฟังแล้ว พิจารณา เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็ต้องอบรมอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ว่าไปข้ามขั้น ไปปฏิบัติก่อน เพราะว่าไม่มีความรู้อะไรเลย ถ้าขืนเรียนไป ก็ตายเปล่า บางคนก็อาจจะพูดอย่างนั้น ปฏิบัติเสียก่อน แล้วก็กลับมารู้ทีหลัง บางคนเข้าใจว่าอย่างนั้น แต่ความจริงนั่นเป็นการข้ามขั้นหรือเปล่า แล้วปฏิบัติโดยไม่รู้ ไม่มีทางที่จะรู้ทีหลัง จะรู้ทีหลังได้อย่างไร ความรู้ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น จะไปจบแพทย์แล้วมาบวกเลข ๑ ๒ ๓ ได้อย่างไรคะ
ผู้ฟัง หมายความว่าพระพุทธองค์ตรัสไว้เลย อย่างไรก็จะต้องรู้ข้อความคำสอนก่อน ให้ถูกต้องก่อน ถึงจะปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ ปฏิบัติทีนี้ก็ไม่ใช่ไปด้วยปฏิบัติ คือ มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึก สติปฏิบัติกิจของสติ เป็นมรรคมีองค์ ๘ มรรคหนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องการทรงแสดงธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล แม้แต่ปัญญาก็ต้องเริ่มจากขั้นการฟัง แล้วพิจารณา แล้วเข้าใจ ถ้าไม่มีความเข้าใจ สังขารขันธ์ แสดงไว้ทำไม ก็เอาตัวตนไปปฏิบัติ แต่นี่ทรงแสดงให้เห็นเลยว่า มรรคมี ๒ อย่าง มิจฉามรรคกับสัมมามรรค สัมมามรรคต้องสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก แล้วความเห็นถูกเวลานี้ มีหรือเปล่า ถ้าไม่มีแล้วไปปฏิบัติอะไร แต่เวลาที่มีความเห็นถูก ต่อไปถ้าเรียนเรื่องเจตสิก จะทราบได้ว่า เวลากุศลจิตที่เกิดพร้อมกับปัญญา มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่มีเราเลย เป็นสภาพธรรมที่แม้แต่วิริยะ ก็ต้องเป็นฝ่ายดี เวลาที่เกิดกับกุศล วิริยเจตสิกจะเกิดกับอกุศลก็ได้ เราเพียรกันทุกวัน เราเพียรทางฝ่ายอกุศล เพียรทำอาหารให้อร่อย เพียรตัดเสื้อ เพียรทำอะไร ปลูกต้นไม้ อะไรๆ ก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องเพียร แต่ไม่ใช่ในกุศล แต่เวลาที่มีปัญญา เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีความเพียร ไม่ใช่ว่าต้องมีตัวตน คือเราไปทำความเพียร แต่เวลาที่ปัญญาเกิด วิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วก็เป็นสัมมาวายาโม ไม่ต้องไปทำอะไรเลย มีความเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้น แล้วก็สังขารขันธ์ทั้งหลายก็เจริญขึ้น ในทางฝ่ายที่เป็นโสภณ