ต้องรู้ว่าปัญญาของเราระดับไหน
ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า มีสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คำว่า ลักษณะสภาพธรรมเป็นอย่างไรครับ ใช่ลักษณะเป็นทั้ง ๔ ประการ ในที่เราเรียนมาหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ลักษณะใหญ่ๆ ที่ต่างกันมีอยู่ ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม ขณะนี้มีสภาพธรรมที่เกิด มีลักษณะต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิด แต่ไม่ใช่สภาพรู้ คือไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ส่วนสภาพธรรม ใช้คำว่า ธรรม ต้องแสดงว่าไม่ใช่ใครเลย แต่เป็นธาตุ เป็นธรรมที่มีปัจจัยก็เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น นามธรรม ใช้เรียกรวม สภาพธรรมที่สามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏเป็นนามธรรม
ผู้ฟัง แล้วนอกจากนามกับรูป ยังมีอย่างอื่นอีกไหมที่ต้องเข้าใจ ต้องรู้
ท่านอาจารย์ นามกับรูปนี้ก็ตลอด มาแล้วตั้งแสนโกฏิกัปป์ ถึงขณะนี้ ถึงปัจจุบัน ถึงอนาคต ต่อไปก็ไม่พ้นจากนามธรรม รูปธรรม
ผู้ฟัง อย่างนั้นที่เราไปเรียนมาลักษณะเป็นต้น ๔ ประการของจักขุวิญาณ บ้างอะไรบ้าง ตรงนั้นจะต้องเรียน ต้องเข้าใจไหม
ท่านอาจารย์ คือเราเรียนพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระองค์ทรงตรัสรู้อย่างนี้ อย่างนี้ ทรงแสดงความละเอียดอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างธรรม อย่างหนึ่งมีลักษณะอย่างไร มีกิจอะไร มีอาการปรากฏอย่างไร แล้วมีเหตุใกล้ให้เกิดอย่างไร นั่นโดยการตรัสรู้ แต่การศึกษาธรรมให้ทราบว่า ปัญญาของเรามีหรือเปล่าตั้งแต่ก่อนศึกษา เมื่อเริ่มศึกษาแล้วปัญญาของเราแค่ไหน นี่ต้องตรงตามความเป็นจริง แม้แต่เพียงการฟังเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม เราเข้าใจเรื่อง บอกว่ามีสภาพธรรม ๒ อย่าง ไม่ว่าในโลกนี้ นอกโลก ทั่วจักรวาล เมื่อไรก็เมื่อนั้น สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ภาษาบาลีใช้คำว่า “รูปธรรม”
เพราะฉะนั้น เราก็ดูว่ามีสภาพธรรมอะไรที่เป็นรูปธรรม แข็ง อ่อน กลิ่น เสียง พวกนี้ ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ลักษณะที่รู้ คือ เห็น ได้ยิน คิดนึก สุข ทุกข์ พวกนี้ เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความเข้าใจในระดับนี้ ปัญญาของเรารู้สิ่งที่เราเข้าใจระดับนี้ แค่ไหน นี่เราต้องพิจารณาแล้ว ขั้นฟังข้าใจ แต่ขั้นรู้จริง รู้หรือเปล่า
เพราะฉะนั้น ถ้าขั้นรู้จริงยังไม่รู้ ก็อบรมเจริญความรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ส่วนตัวหนังสือ ตัวเลขต่างๆ เป็นเพียงส่วนประกอบที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตา เพราะว่าเมื่อสติระลึกแล้วไม่ใช่ว่าจะละการเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทันที แม้แต่วิปัสสนาญาณต้องมีหลายขั้น ตามกำลัง ที่ว่าถึงขั้นที่จะละหรือยัง อย่างนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ได้ละการยึดถือสภาพนามธรรมรูปธรรมว่าเป็นตัวตน แต่มีปัญญาที่จะเห็นลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม จนกว่าจะถึงปัญญาระดับสูงขึ้นมาอีกประจักษ์ความเกิดดับ ก็ไม่ได้ละการยึดถือในนามธรรม และรูปธรรม จนกว่าจะถึง ระดับสูงขึ้นไปอีก
เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ด้วยปัญญาจริงๆ ว่า การรู้ก็เป็นเรื่องที่ยาก ยิ่งการละ ยิ่งยาก เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ศึกษาเรื่องจิต เจตสิก รูป โดยละเอียด จะมีอะไรเป็นสิ่งที่จะทำให้เราเมื่อสติระลึกแล้วละ ไม่มีอุปกรณ์ที่จะไปทำให้เกิดการละได้เลย แต่ว่าถ้าเรามีการศึกษาปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูป ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น เพื่อความเข้าใจ อย่าลืม ไม่ใช่เพื่อความจำ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จะเห็นเหตุให้เราละคลายการที่จะไปต้องการรู้มากๆ แต่ว่ามีการสามารถจะรู้ระดับปัญญาของเราเองว่า ระดับปัญญาของเรา รู้นามรูปแค่ไหน สามารถที่จะเข้าใจปัจจัยของนามรูปแค่ไหน ถ้าเรามีความรู้มากขึ้น เพิ่มขึ้น เราก็เข้าใจแม้แต่ปัจจัยที่ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้นได้ ไม่ใช่เพียงขั้นการฟัง แต่ขั้นพิจารณาเข้าใจด้วย มิฉะนั้นแล้วเหมือนกับว่า ปัญญาเราอยู่ในระดับที่ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรม แล้วเราไปจำ เพียงจำเรื่องอื่น แทนที่จะพิจารณาให้ตรงตามความเป็นจริงว่า กิจจริงๆ ที่ควรกระทำก็คือว่า ศึกษาเพื่อให้เข้าใจ และเพื่อการละความเป็นตัวตนก่อน แต่ว่าถ้าใครจะศึกษาไป แล้วก็จะจำไว้ ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ว่าควรที่จะได้ทราบจุดประสงค์ว่า ประโยชน์แท้จริงนั้นคืออะไร