ศึกษาเพื่อให้รู้ความจริงของธรรม


    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรเป็นธรรม ที่ว่าเรียนธรรม อะไรเป็นธรรม

    ผู้ฟัง สิ่งที่ว่าให้เราทำเพื่อให้ดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ มีทั้งกุศลธรรม และอกุศลธรรม สิ่งที่ไม่ดีก็เป็นธรรม บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะมีจริงๆ ไม่ใช่ไม่มี ถ้าเราพูดถึงสิ่งที่มีจริง เราต้องยอมรับ สิ่งที่มีจริงที่เป็นกุศลก็มี สิ่งที่มีจริงที่เป็นอกุศลก็มี ไม่ใช่เฉพาะกุศลเท่านั้นที่เป็นธรรม แม้อกุศลเมื่อมีจริงก็เป็นธรรมฝ่ายอกุศลธรรม แล้วก็ทั้งหมด ถ้าใช้คำว่าธรรม ถ้าเราเข้าใจลึกซึ้งในความหมายของคำนี้จริงๆ หมายความว่าไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ว่าไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น เป็นเพียงลักษณะหนึ่งซึ่งเกิดแล้วก็ทำหน้าที่นั้นแล้วก็ดับ กุศลจิตเกิด ทำหน้าที่ของกุศลนั้นๆ แล้วก็ดับ อกุศลจิตเกิดแล้วก็ดับ ไม่อย่างนั้นก็ต้องมีกุศลตลอดไป หรือต้องมีอกุศลตลอดไป แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทุกอย่างจะเกิดต้องมีเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วก็ดับ ได้ยินเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม สำหรับทุกคนหรือสำหรับดิฉัน

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่สำหรับใคร ตัวธรรม ใครจะรู้หรือไม่รู้ ธรรมก็เป็นธรรม ไม่ใช่เพราะคนนี้รู้จึงเป็น คนนี้ไม่รู้ไม่เป็น ไม่ใช่ ใครจะรู้หรือไม่รู้ อย่างความโกรธ มีจริงๆ ลักษณะของความโกรธก็คือทำร้าย ทำให้จิตใจเร่าร้อน ไม่สบาย ไม่ว่าจะเกิดกับเด็ก เกิดกับผู้ใหญ่ ชาติไหน ภาษาไหน ลักษณะของความโกรธไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้น ความโกรธเป็นธรรมหรือ เปล่า เป็นธรรม ได้ยินนี้เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นธรรม เราบังคับไม่ให้ได้ยินได้ไหม ไม่ได้ เราบังคับไม่ให้คิดนึกได้ไหม ไม่ได้ ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียดจะทราบความหมายของคำว่า อนัตตา ไม่ใช่ของเรา เพราะมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ถ้าได้ยินเป็นเรา ได้ยินดับแล้ว เราอยู่ที่ไหน เสียงเป็นเราหรือเปล่า เสียงของเราหรือเปล่า สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว ใครจะยังยึดถือว่าเป็นเรา หรือของเรา หมดเลย ไม่มีเหลือเลย สิ่งที่ดับ หมายความว่าดับจริงๆ นี่คือการเรียนธรรม ไม่ใช่ไปนั่งสมาธิ แล้วบอกว่าการนั่งสมาธิเป็นการเรียนธรรม เรียนธรรมหมายความว่า เข้าใจว่า อะไรเป็นธรรม อย่างขณะนี้ ถ้ามีความเข้าใจว่า อะไรเป็นธรรม

    ผู้ฟัง หนูเคยทำสมาธิ สมาธิคือธรรมชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ สมาธิมี ๒ อย่าง มิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ สมาธิที่เป็นมิจฉา เป็นอกุศลก็มี สมาธิที่เป็นสัมมา เป็นกุศลก็มี ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ ๒ อย่าง ความจริงก็เป็น ๒ อย่าง ถ้าสมาธินั้นไม่เกิดกับปัญญาก็ต้องเป็นมิจฉา ขณะใดที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็เป็นกุศล เป็นสัมมา เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจถูกจริงๆ ว่า ปัญญาคืออะไร ปัญญารู้อะไร ปัญญาจะเจริญขึ้นได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากจะมีปัญญามากๆ แต่ไม่รู้อะไรเลย แล้วไปคิดว่า ถ้าไปนั่งสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดมากๆ เหตุกับผลไม่ตรงกันเลย นั่งสมาธิแล้วไม่รู้ว่าอะไรเป็นธรรม เพราะฉะนั้น จะชื่อว่าเป็นปัญญาได้อย่างไร แต่ขณะนี้ที่ฟัง ยังไม่ต้องไปไหน เพียงได้ยิน แล้วก็พิจารณาให้เข้าใจ ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นปัญญา ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง อาจารย์ ดิฉันคิดว่า คนเรามันไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ต้องฟัง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่ว่าดิฉันมีความรู้สึกว่า อาจารย์คิดผิดที่ว่าการฟัง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าสำหรับดิฉัน ถ้าไม่ฟัง จะไม่มีอะไรให้พิจารณา

    ผู้ฟัง อาจารย์ก็ต้องพูดถึงว่า นั่นคือตามอาจารย์ โดยอาจารย์เอง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ไม่ใช่เอง

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ทุกคนต้องเหมือนอาจารย์

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ไม่ทรงแสดงธรรม หรือทรงแสดงธรรม เรื่องจริงคือเข้าใจอะไร รู้อะไร ต้องมีสิ่งที่เราสามารถที่จะบอกได้ว่า เรารู้อะไร เราเข้าใจอะไร ไม่ใช่ว่าบอกไม่ได้ หรือรู้ไม่ได้ เพราะสิ่งที่จะต้องเข้าใจมีมาก

    ผู้ฟัง อย่างที่ดิฉันจะพูดประสบการณ์ของฉันว่า การที่ดิฉันคิดอยู่ดีๆ คิดว่าคนนี้เป็นอย่างไร ไม่ดี นั่นก็คือความคิดที่ไม่ดีแล้ว แต่ดิฉันไม่อยาก คือ ดิฉันไม่อยาก อย่างนี้ให้เกิดขึ้น เราเข้าใจว่านั่น คือ สิ่งที่ไม่ดี แต่มันออกไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นเครื่องแสดงอยู่แล้วว่า สภาพธรรมเป็นอนัตตา แต่เพราะเราไม่รู้ความจริงว่า ธรรมเป็นอนัตตา เราก็เลยอยากจะบังคับ แต่ว่าเราบังคับไม่ได้ เพราะเราจะต้องเกิดความคิดอย่างนี้อีกแน่นอน ในเมื่อมีเหตุปัจจัยจะให้คิดอย่างไหน ความคิดอย่างนั้นก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเรารู้หมดแล้ว ไม่ใช่เลย ไม่ใช่ว่า เรารู้ว่า นี่ไม่ดี แค่นี้ยังไม่ใช่ความรู้ เพราะทุกคนก็รู้ได้ มีใครบ้างที่รู้ไม่ได้ อะไรไม่ดี ทุกคนก็บอกได้ แต่สิ่งที่ไม่ดีนั้นคืออะไร นี่ต่างหากที่ไม่รู้ ที่ต้องอาศัยการฟัง เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงธรรม ถ้าไม่ทรงแสดงธรรม ใครก็คิดเองไม่ได้

    ผู้ฟัง สิ่งที่ไม่รู้คืออะไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ทางตาที่กำลังเห็น เป็นเราหรือเปล่า ที่เห็น

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นคนอื่น

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรม เราหมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ มีจริงๆ แน่นอน เพราะเราสามารถที่จะเห็นได้ ได้ยิน หรือว่าได้กลิ่น หรือว่าลิ้มรส หรือว่ากระทบสัมผัส สิ่งที่มีจริงๆ สิ่งนี้ เราจะเรียกอะไร หรือไม่เรียกอะไรก็ตาม สิ่งนั้นก็ยังมีจริงๆ ภาษาหนึ่งอาจจะเรียกอย่างหนึ่ง อีกภาษาหนึ่งอาจจะเรียกอย่างหนึ่ง จะเรียกชื่อต่างกันอย่างไร แต่สภาพธรรมยังคงเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทราบไหมคะว่า คนมีทั้งดีทั้งชั่ว แล้วก็ทรงแสดงธรรม เพื่อให้เขาเกิดปัญญาก่อน เพราะเหตุว่าเราพยายามจะบังคับเท่าไรให้เราดี หรืออยากจะให้คนอื่นดี ในเมื่อธรรมเป็นธรรม เราจะบังคับธรรมซึ่งเพียงเกิดแล้วดับ ไปบังคับตรงไหน อย่างได้ยิน จะบังคับไม่ให้ได้ยินได้ไหม ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะให้ได้ยินเกิด เมื่อได้ยินเกิดจะบังคับได้ยินว่า อย่าดับ ได้ยินนี้อย่าดับ บังคับได้ไหม ก็บังคับไม่ได้ เมื่อได้ยินเกิดแล้วดับไป ไม่ทันที่มีใครจะไปบังคับอะไรสักอย่างเดียว สภาพธรรมทั้งหมดเกิดดับเร็วอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ บังคับบัญชาไม่ได้อย่างนี้ แต่เราสามารถที่จะศึกษาให้เข้าใจความจริงของธรรม แล้วเราจะไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่าเมื่อเรารู้ความจริงแล้ว ขณะใดที่มีปัจจัยที่กุศลจิตจะเกิด ก็เกิดแล้วก็ดับ ขณะใดที่มีปัจจัยที่อกุศลเกิด อกุศลเกิดแล้วก็ดับ เราก็ไม่เดือดร้อนที่จะไปบังคับ เพราะเรารู้ความจริง แล้วความรู้อันนี้จะทำให้เราคลายความยึดถือว่าเป็นเรา เพราะว่าอกุศลทั้งหลายเพิ่มพูนเจริญขึ้น เพราะมีเรา หรือความเป็นเรา แต่ถ้าหมดความเป็นเราแล้ว กุศลก็จะเจริญมากกว่าอกุศล


    หมายเลข 9960
    15 ส.ค. 2567