เป็นเรื่องของปัญญา


    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่คนมีความต้องการที่จะไม่มีอกุศล เพราะฉะนั้น เขาพยายามมากหลายทางที่จะไม่มีอกุศล ทางหนึ่งก็คือ เขาคิดว่าไปนั่งปฏิบัติ แล้วจะไม่มีอกุศล คิดว่าจะมีปัญญา ที่อกุศลจะหมดไปได้ ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา อกุศลก็หมดไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เขาคิดว่า เมื่อไปนั่งแล้วปัญญาจะเกิด บางคนก็ไม่รู้เรื่องปัญญาเลย คิดว่าเมื่อไปนั่งแล้วก็จะได้เป็นพระโสดาบัน ไม่รู้เรื่องปัญญาว่าปัญญารู้อะไร การเป็นพระโสดาบันบุคคลละอะไรที่เป็นอกุศลก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น เขาไปด้วยความหวัง แต่ไม่ได้ไปด้วยความรู้ เพราะว่าถ้ารู้จริงๆ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ถ้ารู้จริง คือไม่ว่าเมื่อไร ที่ไหน ปัญญาก็สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรมได้ เพราะว่าเป็นปัญญาตรงกันข้ามกับอวิชชา อวิชชาก็เป็นธรรม เป็นอกุศลธรรม แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ความจริงของธรรม แม้กำลังเผชิญหน้ากับธรรมขณะนี้ ก็ไม่รู้ความจริงของธรรม นี่คือ อวิชชา

    เพราะฉะนั้น คนเราก็สามารถที่ว่าเมื่อฟังธรรมแล้วก็รู้จักตัวเองได้ว่า เรามีอวิชชา มากแค่ไหน ทั้งทางตาที่กำลังเห็น ทางหูกำลังได้ยิน ทางจมูกเวลาได้กลิ่น ทางลิ้นกำลังลิ้มรส ทางกายกำลังกระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก อวิชชากองใหญ่แค่ไหน ถ้าเป็นวัตถุสิ่งของ ไม่มีที่จะเก็บเลย แต่เพราะเป็นนามธาตุ หรือเป็นนามธรรม แต่ก็สะสมไว้ จนกระทั่งเป็นสภาพของจิตซึ่งต่างกัน ประมาณไม่ได้เลย คนมีเท่าไรที่เรียกว่าเป็นคนก็คือจิตต่างกันเท่านั้น ที่เราเห็นเป็นประเภทต่างๆ ไม่ว่าใครจะพูดดี ไม่ว่าใครจะพูดไม่ดี ก็ต้องมีจิตที่ดีหรือไม่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดการพูด การคิด หรือการทำอย่างนั้น

    นี่ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจตามลำดับ แล้วต้องมีเหตุผล ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็ไปนั่ง แล้วคิดว่าจะไม่มีกิเลส หรืออยู่ดีๆ ไปนั่งจะเป็นพระโสดาบัน อยู่ดีๆ ไปนั่ง แล้วก็จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าการรู้แจ้งต้องเป็นเรื่องของปัญญา

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าท่านนั่งสมาธิ ใช่ไหมคะ ถึงได้ตรัสรู้

    ท่านอาจารย์ ยามของอินเดียแบ่งเป็น ๓ ยามใหญ่ๆ ยามละ๔ ชั่วโมง เพราะฉะนั้น ปฐมยามระลึกชาตินับไม่ถ้วนเลย ระลึกไป ระลึกไปเท่าไร ไม่จบ ซึ่งเป็นอดีต

    เพราะฉะนั้น ก็ระลึกถึงอนาคต เช่น เมื่อสัตว์นี้ตายแล้วก็เกิดเป็นอะไร แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม จนกว่าสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วยพระปัญญาบารมีทั้งหลายที่ได้สะสมมา ทำให้สามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรม และประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจนเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ด้วยปัญญาในยามสุดท้าย

    ผู้ฟัง แสดงว่าท่านนั่งสมาธิ แล้วก็คิดไป

    ท่านอาจารย์ ในยามที่ ๑ ระลึกชาติ ถ้าพูดถึงเรื่องสมาธิหรือสัมมาสมาธิ สมถภาวนา ต่อไปจะทราบว่าจิตที่เป็นกุศล ที่สงบประณีต เมื่อมีกำลัง และสามารถที่จะกระทำ อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้จริงๆ สามารถแม้แต่จะระลึกชาติต่างๆ ได้

    นี่ก็เป็นเรื่องของการที่จะเข้าใจว่า สภาพจิตที่สงบ ที่มีกำลังจะเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ได้รู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะเป็นคนละเรื่อง นั่นเป็นเรื่องความสงบของจิต แต่นี่เป็นเรื่องการอบรมเจริญปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ ซึ่งต้องเป็นยามที่ ๓ ปัจฉิมยาม


    หมายเลข 9962
    15 ส.ค. 2567