มิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิ


    ผู้ฟัง อาจารย์ช่วยขยายความเรื่องมิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิ และยกตัวอย่าง บางตัวอย่างให้เพื่อประกอบการที่เราจะได้รู้ว่า ควรปฏิบัติกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โดยศัพท์ คงเข้าใจแล้วว่า มิจฉา แปลว่าผิด สัมมา แปลว่า ถูก ส่วน ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น

    เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงทิฏฐิ โดยทั่วไปแล้วเป็นคำกลาง เพราะเหตุว่า จะเป็นสัมมาทิฏฐิก็คือความเห็นถูก ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็เป็นความเห็นผิด แต่ว่าแล้วแต่ว่าจะอยู่หมวดไหน ถ้าพูดถึงอกุศลเจตสิก ใช้คำว่า “ทิฏฐิ” คำเดียว แต่หมายความถึง มิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องละเอียด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นขอความกรุณาอธิบายอีกเรื่องหนึ่ง คือ สัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ ที่พวกเราปฏิบัติกัน ก็เลยไม่ทราบว่า มันอันไหน เป็นอันไหน แล้ว วันนี้

    ท่านอาจารย์ ความเห็นถูก เวลาเกิดขึ้นก็มีสมาธิเกิดร่วมด้วย แล้วสมาธิที่เกิดกับความเห็นถูกก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่ขณะใดที่เป็นเพียงความตั้งมั่นในอารมณ์ แต่ไม่มีปัญญา ไม่มีความเห็นถูก ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด เป็นมิจฉาสมาธิ คือไม่อยากจะพูดถึงเพียงชื่อ แต่อยากจะให้เข้าใจธรรม สภาพธรรมที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง ในขณะนี้ก็จะไม่ค่อยเข้าใจกันตรงที่ว่า เห็นถูกคือเห็นอะไร เรียกว่าเห็นถูก เห็นผิดคือเห็นอย่างไร เรียกว่าเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เห็นถูก คือ ขณะนี้เป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ถ้ามีความเห็นผิด ก็ยึดถือสภาพธรรมว่า มีจริงๆ เป็นคนจริงๆ เป็นเราจริงๆ นั่นคือเห็นผิด ทั้งๆ ที่เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้น แต่ถ้ามีความเห็นถูก ก็คือว่า เริ่มที่จะมีความเห็นถูกเป็นขั้นๆ จะมีความเห็นถูก หมดความเป็นตัวตนทันทีไม่ได้ ต้องอาศัยการฟังว่า สิ่งที่มีจริงๆ เมื่อไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร เพราะว่าสิ่งนั้นมี

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็เป็นความเห็นถูกทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเห็นถูก ตรงกับคำที่พูดในตอนต้นว่า ไม่มีอะไรนอกจากนามธรรม และรูปธรรม นั่นก็เป็นความเห็นถูกที่เพิ่มขึ้นๆ จากการที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นในขณะที่ยังไม่ทราบว่า เห็นถูกหรือเห็นผิด ในการปฏิบัติทุกวันที่พวกเราคุยๆ กัน ทำๆ กันอยู่นี้ มันก็คงจะต้องอบรมกันไปเรื่อยๆ ๆ ๆ จนกว่าจะเห็นเองอย่างนั้น ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญาในขั้นต้น จะเอาอะไรไปเจริญขึ้น ในเมื่อไม่มีเลย แต่ต้องมีก่อน จากนิดหน่อยที่ละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง อาจารย์ครับ ผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิมีโอกาสที่จะเป็นมิจฉาสมาธิได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ระดับไหน ความเห็นถูก

    ผู้ฟัง ระดับต้นก็ตามแต่ เรายังไม่ถึงพระอริยบุคคล

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรม แม้ว่าจะเป็นจำนวนน้อยไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ศึกษา แต่ในบรรดาผู้ที่ศึกษา ศึกษาแบบเข้าใจธรรม หรือว่าเพียงจำ เพราะเหตุว่าทุกคนที่จะศึกษาสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะมีความสนใจในเรื่องราวของสิ่งนั้น อย่างศึกษาเรื่องจิต ก็บอกว่าจิตเป็นอนัตตา แล้วก็เป็นปรมัตถธรรม มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าถ้าไม่เข้าใจในความหมายของธรรมว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ แม้จิตขณะนี้ก็มีจิต แล้วก็จิตก็เป็นนามธาตุ หรือเป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ แล้วทำอย่างอื่น ขณะนั้นก็คือว่า ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่พูด แม้แต่นามธาตุ หรืออนัตตา ซึ่งกำลังมีในขณะนี้ แล้วปัญญาต้องรู้สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ จึงเป็นปัญญา เมื่อเพียงแต่ศึกษาโดยจำ หรือว่าโดยรู้เรื่องราว แต่ว่าไม่เข้าใจสภาพธรรม ก็ทำให้ปฏิบัติผิดได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ถึงแม้คนที่เรียนพระอภิธรรมจบชั้นสูงสุดก็ตาม ก็มีโอกาสที่จะเป็นมิจฉาสมาธิได้ แล้วก็บุคคลที่เรียนไม่สูงเท่าไร คือไม่ได้เรียนเอาประกาศนียบัตร ไม่ได้เรียนเพื่อสอบ แต่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่จะเป็นสัมมาก็มีมาก คือ ไม่ต้องเอาระดับความรู้มาเป็นการตัดสินใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าการฟังธรรมเพื่อเข้าใจ อย่างที่เราได้กล่าวถึงในตอนต้น ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่นเลย ดิฉันไม่ได้สอบพระอภิธรรมเลย เพราะการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรม ประการเดียว ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น


    หมายเลข 9978
    12 ส.ค. 2567