ลืมโลกใบเล็ก


    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่มีกิเลส โลกจะเกิดกับเราไหม คือทั้งโลภะ โทสะ โมหะ

    ท่านอาจารย์ คือทุกคนคิดถึงโลกใบใหญ่ กว้าง ลืมโลกใบเล็ก เล็กมาก คือ จิต ๑ ขณะ ถ้าไม่มีจิต ๑ ขณะนี้ โลกใหญ่นี้จะปรากฏไหม หรือโลกกว้างกว่านี้อีก จักรวาลจะปรากฏไหม แล้วเราก็มัวไปคิดถึงโลกใหญ่ โลกกว้าง ลืมโลกใบเล็กคือจิต ๑ ขณะ ๑ ขณะ ไปยุ่งเกี่ยวด้วยความคิดนึก อย่าลืม เพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย และคิด ทั้งหมด คิดทั้งนั้นเลย สิ่งที่เห็นดับแล้ว เสียงที่ได้ยินดับแล้ว ทุกอย่างที่กระทบสัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย ดับแล้ว แต่ใจไม่ยอมทิ้ง ยังคิดแล้วยังทรงจำว่า เป็นเรา เป็นเขา เป็นโลกนี้ โลกใหญ่ โลกจักรวาล แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าโลกคือ จิต ไม่เกิด โลกไหนๆ ก็ไม่มีทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง คือวางได้ก็ดี ตอนนี้ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่วาง ไม่วางเลย รู้ ค่อยๆ รู้ดีกว่า เพราะว่าทุกคนมุ่งไปถึงจุดสุดยอด คือ ไม่มีกิเลส ลดกิเลส เบาบางกิเลส ดูเหมือนรังเกียจกิเลสเหลือเกิน แต่วันไหนอาหารไม่อร่อย

    ผู้ฟัง ผมก็ตั้งคำถามว่า ในสังคมต้องการหาคนดี แต่ตัวเองเวลาไปกระทบผู้อื่นไม่ได้ถามตัวเองว่า ดีหรือเลวเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราไม่ได้คิดถึงโลกอื่น เราย่อมาที่โลกใบนี้ โลกใบนี้จะสุขหรือจะทุกข์อยู่ที่โลกใบนี้ โลกใบอื่นไม่เกี่ยวเลย เราจะบอกว่า เขาทำให้เราทุกข์ ผิด ไม่มีใครทำให้เราทุกข์ได้ ถ้าจิตของเราไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น ไม่มีใครอื่นใดทั้งสิ้น นอกจากความคิดนึก ให้คิดถึงโลกที่มืดมิดสนิท แต่มีธาตุรู้ ซึ่งเดี๋ยวก็รู้ทางตา แว้บเดียว ทางหู แว่บเดียว นอกจากนั้นโลกนี้คิดเอาหมด คิดเป็นสมมติสัจทั้งหมด

    ผู้ฟัง คือแว้บรู้ เพื่อวาง แต่ของผมแว๊บรู้ มันมีตัวโลภะเข้ามา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตใบนี้ จิตโลกนี้ ใบนี้ ถ้าเราจะเอาแว่นขยายส่องเป็นอย่างไรคะ มันน่าดู หรือว่ามันสะอาด

    ผู้ฟัง หนอนเยอะแยะเลยครับ

    ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ เพราะฉะนั้น มีหน้าที่ที่จะกระทำกับโลกนี้โลกเดียว ให้รู้ว่า เรากำลังคิดถึงว่า คนโน้นไม่ดี เรากำลังเจอคนที่ไม่ดี เมื่อไรเราจะเจอคนดี นี่คือความคิดของโลกนี้

    ผู้ฟัง ซึ่งไม่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต สำคัญที่สุดคือพระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เราเห็นความจริงของจิต จิตเป็นกุศล เป็นกุศล จิตเป็นอกุศล เป็นอกุศล พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ ถ้าไม่รู้แล้วละไม่ได้ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งไปเรื่องละ อย่าเพิ่งไปปฏิบัติ อย่าเพิ่งไปทำอะไรทั้งหมด ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วปัญญาก็จะเจริญขึ้น

    ผู้ฟัง อาจารย์ครับ ส่วนใหญ่เรายังเป็นมนุษย์ปุถุชน ส่วนใหญ่เราจะไปเอาเรื่องข้างนอก เรื่องของคนอื่นที่อาจารย์อธิบายว่า เราเอาเฉพาะจิตดวงเล็กๆ เรานี้ แต่มัน ๑ ขณะ จะเป็นอย่างนี้ ใช่หรือไม่ อย่างไร เพราะเราไปยุ่งกับของคนอื่น คนรอบๆ ตัวเราทั้งนั้น แต่ไม่ได้ลืมไปยุ่งกับตัวเราเอง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว เราคิดนึก จิตนี้คิดนึกตลอด เราถึงจะรู้ว่า สมมติสัจจะเมื่อไร เมื่อคิด เพราะว่ากำลังเห็น เพียงเห็น ยังไม่เป็นเรื่องราวอะไรเลย ถ้าไม่คิดต่อจากเห็น ได้ยินปุ๊บ ดับไป ยังไม่เป็นเรื่องราวอะไรเลย ถ้าไม่คิดต่อจากนั้น แต่ว่าสิ่งต่างๆ พวกนี้ เกิดดับเร็วมาก แต่จิตคิดนึกสืบต่ออยู่เรื่อยๆ

    ผู้ฟัง มันก็จะสร้างเหตุต่อไปว่า ดี ไม่ดี ชอบ ไม่ชอบ อย่างนี้ ใช่ไหม แล้วก็ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราที่คุยๆ กันมา กึ่งชีวิต นี่ก็คือ ค่อนชีวิต นี่ก็คือ เราไปยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นเสียส่วนใหญ่เลย ผมขยายความครับ เน้นๆ แล้วก็ชอบไปยุ่งว่า โน้นผิด โน้นเพ่งโทษคนโน้น คนนี้ แต่ลืมเพ่งโทษในจิตของตัวเอง

    ท่านอาจารย์ คงไม่ปฏิเสธว่า ทุกคนต้องเห็น แล้วก็มีความคิดเรื่องบุคคลต่างๆ เป็นของธรรมดาแน่นอน แต่อย่าคิดวิจารณ์ หรือว่าคิดว่า ทำไมเขาเป็นคนเลวอย่างนี้ เมื่อไรเขาจะเป็นคนดีอย่างนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของเรา ที่จะไปทำอะไรได้ ถ้าจะเกื้อกูล อนุเคราะห์ คือให้เขาเกิดปัญญา แต่ถ้าตราบใดที่เขาไม่มีปัญญา เขาก็เป็นอย่างนี้ ใครก็เป็นอย่างนี้ ทุกคนเหมือนกันหมด

    เพราะฉะนั้น เรามีปัญญาถึงระดับไหน ถ้าเรายังมีน้อยอยู่ ก็มีปัญญาเพิ่มขึ้น แล้วเราก็ไม่ต้องห่วงใยเรื่องคนอื่น นอกจากว่าเราก็จะคิดถึงเขา แต่คิดด้วยเมตตาได้ แทนที่จะคิดเป็นอกุศลอย่างแต่ก่อน แต่ก่อนนี้เราไม่ได้รู้เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เราไม่รู้เรื่องธรรม มีแต่ความเป็นคน แต่ถ้าเรารู้แล้ว วันนี้เดี๋ยวนี้ไม่มีคนเลย ชื่อคนทั้งหลายไม่ต้องนึกถึง แต่มีจิต เจตสิก รูป แล้วจิต เจตสิกที่สะสมกันมาหลากหลายต่างกัน ไม่มีใครอยากมีอกุศลเลย ทุกคนพยายามดิ้นรนแสวงหาที่จะไม่ให้เป็นอกุศล แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมจริงๆ ทุกคนก็เพียงแต่ไปหาวิธี ซึ่งมันไม่ใช่วิธี แล้วก็เข้าใจว่าเป็นวิธี เพราะเหตุว่าผู้ที่บอกไม่ใช่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ศึกษาธรรมของพระองค์

    เพราะฉะนั้น วิธีนั้นก็ใช้ไม่ได้ แต่ทีนี้ถ้าเราเข้าใจแล้วว่า ธรรมคือธรรม ที่เราเคยเห็นเป็นคน พอเริ่มเข้าใจว่า เป็นจิต เจตสิก คนไม่ดี เราสงสารไหม หรือเราไปคิดเมื่อไรเขาจะดี เขาจะทำอย่างไรจะดี เรื่องที่ว่าทำไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ถ้าเรามีเมตตา ถึงกาลที่จะอนุเคราะห์ให้เขาเกิดปัญญาได้ เราทำ โดยที่ว่า เราไม่ต้องไปคิดไม่ดีกับเขา ใจเราก็สบาย เพราะฉะนั้น สุขทุกข์อยู่ที่จิตนี้ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่เป็นทุกข์ แต่พอจิตเป็นทุกข์ เรารู้เลยว่า จิตนี้เป็นอกุศล


    หมายเลข 9980
    12 ส.ค. 2567