ต้องตรงต่อความจริง


    ผู้ฟัง ในการที่เราจะเข้ามาสู่พระธรรม ที่อยากจะเรียนรู้ ที่อยากจะรับฟังเกี่ยวกับพระธรรม ที่เราแสวงหากันอยู่ทุกวัน ในการเรียน ในเรื่องของหนังสือ เราจะเห็นปริเฉท ๑ ถึง ๙ ที่เราเรียนได้ คือ ในการเรียน ส่วนในการปฏิบัติที่บอกว่า การเจริญภาวนา คือ การต้องปฏิบัติ ไม่มีขั้นใช่ไหม ว่าจาก ๑ ถึง ๙ จาก ๒ ถึงอะไร จากตรงไหนถึงตรงไหน อยู่ที่ความเข้าใจ จนกว่าเราจะเข้าใจแล้ว เราจึงลงมืออย่างนั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เมื่อเข้าใจแล้ว จะไม่มีเราจะลงมือ ถ้าเข้าใจจริงๆ สติปัฎฐานมีปัจจัยจะเกิด จึงเกิด เหมือนกับได้ยิน ถ้าไม่มีหู ไม่มีเสียงกระทบกัน ได้ยินก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ ก็ไม่มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม ทั้งๆ ที่เราเรียนเรื่องธรรม เราพูดเรื่องธรรม เราพูดเรื่องจิต เราพูดเรื่องเจตสิก เราพูดเรื่องรูป ซึ่งขณะนี้ก็เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป แต่สติปัฏฐานก็ไม่ได้ระลึก เพราะเหตุว่าปัจจัยยังไม่พร้อม ยังไม่เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสัมมาสติ ต้องเป็นอนัตตา เลือกอารมณ์ไม่ได้ เลือกเวลาไม่ได้ ไม่มีเราที่จะทำ ถ้าเกิดมีความรู้สึกว่า เราจะระลึก ขณะตรงที่เราจะระลึก นั่นผิด แต่เวลาที่สัมมาสติระลึก ขณะนั้นปัญญารู้ ว่าขณะนั้นเป็นสัมมาสติ เราไม่ได้ตั้งใจ เหมือนได้ยิน เราก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อมีเหตุที่จะได้ยิน ได้ยินก็เกิด เพราะฉะนั้นเมื่อมีเหตุที่สัมมาสติจะเกิด สัมมาสติก็เกิดได้ และเราก็รู้ด้วยว่า ขณะนั้นเป็นสัมมาสติจริงๆ เพราะว่าไม่มีเราที่จะไปทำ ตรงกับที่เราเรียนมาว่า ไม่มีเรา ก็ต้องไม่มีเรา

    ผู้ฟัง หมายความว่า ไม่มีการลงมือ ไม่มีการเริ่มต้นใดๆ ทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการเอาไปใช้ ไม่มีการเอาไปทำทั้งสิ้น เพราะว่าปัญญาเขาจะรู้ว่า ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เรื่องเข้าใจ

    ผู้ฟัง เข้าใจได้มากเท่าไร มันจะเกิดเอง

    ท่านอาจารย์ แน่นอน นั่นคือ อนัตตา แล้วปัญญา ก็คือ เข้าใจถูก ถ้าเข้าใจถูก ก็ไม่ทำให้ผิด ใช่ไหม

    ผู้ฟัง คนที่เป็นพระอรหันต์ ก็คือ อยู่ในโลกอย่างนี้ไม่ได้ ใช่ไหม เพราะกิเลสเยอะมากเลย

    ท่านอาจารย์ กิเลสอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ที่ตัวเรา

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่จิต ถ้าจิตนั้นไม่มีกิเลส ใครจะทำให้จิตนั้นเศร้าหมองหรือเกิดเป็นอกุศลไม่ได้ พระอรหันต์ทุกองค์ ไม่มีการอยู่ครองเรือน เพราะว่าไม่ใช่วิสัยของผู้ที่หมดกิเลส ที่จะอยู่ครองเรือน แต่พระอนาคามี อยู่ได้ เมื่อมีความจำเป็นที่จะอยู่ ท่านก็อยู่ ไม่ได้หมายความว่า ท่านต้องเป็นพระภิกษุ มีคฤหัสถ์ที่เป็นพระอนาคามี อยู่ในเพศของคฤหัสถ์ แต่ว่าไม่เกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

    ผู้ฟัง การรู้เท่าทันกิเลส ถือว่ามีปัญญา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ธรรม ไม่มีการถือ เพราะถือ ถือว่ากุศลเป็นอกุศล หรือถือว่าอกุศลเป็นกุศลก็ได้ แต่ถ้าธรรมเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าเรารู้ว่า เรากำลังมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่

    ท่านอาจารย์ ใครๆ ก็รู้ มีใครบ้างที่ไม่รู้ กำลังโกรธ มีใครบ้างไม่รู้ว่าโกรธ

    ผู้ฟัง ถือว่าตอนนั้นเราก็มีสติ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถือได้อย่างไร ถืออีกแล้ว ความจริงต้องเป็นความจริง อย่าใช้คำว่าถือ ถือ หมายความว่า เราคิดเอาเอง ถูกหรือผิดไม่ทราบ แต่ที่ถูก ก็คือ ต้องเข้าใจว่า ธรรม ขณะนั้นเป็นอย่างไร ตรงต่อความจริงของธรรม ในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ขณะนั้น ก็หมายความว่า เราจะรู้เท่าทันกิเลส

    ท่านอาจารย์ ทำไมเราถึงต้องไปคิดเรื่องปัญญา เพราะเราอยากมีปัญญา หรือเปล่า เพราะว่าถ้าพูดถึงโกรธ คนที่โกรธ ก็รู้ว่ากำลังโกรธ มีใครบ้างที่ไม่รู้ แล้วจะบอกว่าตรงนั้นเป็นปัญญา หรือเปล่า แสดงว่าอยากจะให้เป็น หรืออย่างไร แข็ง นี่แข็งไหม รู้ว่าแข็งอย่างนี้ เป็นปัญญา หรือเปล่า ต้องตรง เป็นหรือไม่เป็น รู้ว่าแข็ง เป็นปัญญาไหม

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น ก็ไม่เป็น รู้ว่าโกรธเป็นปัญญาไหม ตราบใดที่เป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ขณะนั้นก็ไม่ใช่ความเห็นถูก


    หมายเลข 9981
    3 ก.ย. 2567