อดทนจนกว่าจะเข้าใจ


    ผู้ฟัง ในส่วนที่ว่า อาจารย์กล่าวถึงความอดทน มันอดทนถึงระดับอย่างไร ขันติ แปลว่า อดทน อดทนที่จะให้สติเกิด

    ท่านอาจารย์ อดทน รู้ว่า ธรรมเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ เพราะว่าคนที่เพิ่งฟังธรรมทุกคน จะบอกว่า ธรรมยากเหลือเกิน แม้แต่ในขั้นที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้น เมื่อยากแล้ว หันหลังให้เสีย คงจะง่ายดี คือไม่ฟัง แล้วก็ไม่เห็นจะต้องมาลำบากที่จะต้องมารู้เรื่องจิต เจตสิกอะไรเลย ทำไมถึงจะต้องมาอดทนฟังให้เข้าใจ เพราะว่าบางคนที่ได้ยินได้ฟัง พอได้ยินเรื่องภาษาบาลี หรือจิต เจตสิก เขาบอกยาก ไม่ฟังเลย ยาก ไม่ฟังเลย เพราะไม่มีความอดทน แต่ยาก แล้วอดทนที่จะฟังจนกว่าจะเข้าใจ

    นี่คือความอดทน ต้องอดทนจริงๆ แล้วเมื่อมีความเข้าใจแล้วเป็นปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ยิ่งฟังยิ่งเข้าใจขึ้น ถ้าไม่เคยฟังเรื่องปรมัตถธรรม ไม่มีการระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ ต้องฟังแล้วก็ต้องพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจ นี่คือความอดทนตั้งแต่เริ่มรู้ว่า พุทธศาสนา คือ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้แล้วว่า ไม่ใช่คำสอนของคนธรรมดา ไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องซึ่งยากแสนยาก ที่คนอื่นจะกล่าว จะแสดง หรือว่าจะทรงเทศนาไว้มากมายตั้ง ๔๕ พรรษา

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นของง่ายๆ ก็ไม่ต้องถึง ๔๕ พรรษา แต่เพราะเหตุว่ายากอย่างนี้ แม้ว่าเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ จะน้อมพระหฤทัยที่จะไม่ทรงแสดง แต่ผู้ฟังซึ่งมีความอดทน หรือว่ามีการสะสมมาแล้ว ก็สามารถที่จะค่อยๆ รับฟังไตร่ตรองจนกระทั่งประจักษ์สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงได้ ในครั้งโน้นตลอดมาจนถึงในสมัยนี้ก็ยังมีผู้ที่มีความอดทนที่จะฟัง นี่คือความอดทน

    ผู้ฟัง ในความอดทนที่กล่าว กระผมยังมีความนึกคิดไปว่า ความอดทนคือฟังมาตั้งนานแล้ว สติไม่เกิดเสียที

    ท่านอาจารย์ นั่นโลภะ

    ผู้ฟัง โลภะ เพราะฉะนั้น ก็ต้องพิจารณาดูก่อน แต่ถ้าเผื่อไม่ทราบว่าโลภะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ความอดทนอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกโลภะพาไปทั้งวัน ก็ไปหาทางอื่นด้วยโลภะ เพราะฉะนั้น ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ารู้ว่าทรงแสดงเพื่อละ จะรู้เลยว่า ขณะที่กำลังอยาก หรือต้องการนั้นผิดแล้ว ผิดหนทางแล้ว แล้วฝืน ไม่ตรงธรรมด้วย ฝืนคำที่ได้ตรัสไว้ว่า รู้แล้วละ

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ยังไม่เข้าใจก็ฟังก่อนให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจยังไม่พอ ก็เข้าใจขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของความรู้จริงๆ และความรู้เท่านั้นที่จะทำกิจละได้ ตัวตนละอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความรู้ สภาพธรรมใดที่จะละกิเลส นอกจากปัญญาแล้วไม่มี อวิชชา ก็ละกิเลสไม่ได้

    ผู้ฟัง สภาพความเข้าใจที่จะเกิดขึ้น ผมฟังแล้ว ทราบว่าไม่ใช่เป็นเราเข้าใจ คือเป็นหน้าที่ เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นเข้าใจ เข้าใจนี่ก็จะมีความรู้สึกว่า จะอดทนไปเท่าไร ถึงจะได้เข้าใจสักที

    ท่านอาจารย์ ต้องเห็นตัวโลภะจริงๆ ถึงจะละโลภะได้ ไม่อย่างนั้นก็อยู่กับโลภะทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี โลภะเขาไม่พาไปเที่ยว ก็โลภะพามาคอยว่าเมื่อไรจะเข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง ขณะที่ไม่เข้าใจเสียที เกิดความโกรธขึ้นมาอย่างนี้ว่า

    ท่านอาจารย์ ก็โลภะเป็นเหตุให้เกิดโทสะ ไม่มีโลภะ โทสะก็ไม่เกิด


    หมายเลข 9984
    12 ส.ค. 2567