กิจของผู้ที่เป็นปุถุชน


    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันของเราที่เจอโลภะก็ดี โทสะก็ดี โดยเฉพาะโทสะ ถ้าจะพิจารณาธรรมในหลักของสติปัฏฐานจะพิจารณาในลักษณะให้หลีกไปหรือค่อยๆ ศึกษาคือรู้จักมันให้ดีขึ้น ว่านั่นมันเป็นแค่สภาพธรรมเท่านั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ อย่างนี้ จะช่วยให้เราดีขึ้นกว่าหลบหลีกเฉยๆ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงศ์พูดถึงโดยนัยของสติปัฏฐาน ถ้าโดยนัยของสติปัฏฐานสิ่งที่ลืมไม่ได้คือมีสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ เราไม่ได้คิดถึงข้างหน้าเลย ถ้าไม่ใช่โดยนัยของสติปัฏฐาน เราควรจะทำยังไง ก็มีการข้ามการที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความต่างกันของขณะที่เป็นสติปัฏฐาน กับขณะที่เป็นกุศลระดับที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าเป็นสติปัฏฐานจะไม่มีข้างหน้าที่ยังไม่เกิดขึ้น และสิ่งที่ผ่านไปแล้วก็ไม่คำนึงถึง ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏแล้วก็กำลังฟังเรื่องลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้รู้ความจริงว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อใช้คำว่า “ธรรม” คือไม่เป็นของใคร บังคับให้เกิดไม่ได้ เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ ลักษณะที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นธรรมที่เกิดแล้วกำลังปรากฏ ไม่ต้องไปคิดเรื่องการเกิดดับหรืออะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องคิดถึงคำว่า “สติ” ไม่ต้องคิดถึงคำว่า “ปัฏฐาน” แต่ขณะที่ไม่ได้คิดเป็นเรื่องราว ไม่ได้คิดล่วงหน้า หรือถอยหลังไป กำลังมีลักษณะ และกำลังรู้ตรงลักษณะนั้น ซึ่งขณะนี้ก็มีการรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏด้วยจักขุวิญญาณ แต่ไม่ใช่ด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณก็เห็นๆ แล้ว จักขุวิญญาณเกิดแล้ว ดับแล้ว สติเกิดค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ปรากฏสืบต่อกันว่าเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความอดทนมากที่จะรู้ว่าลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาแม้ว่าจะปรากฏอยู่เสมอ คือในขณะนี้ก็กำลังปรากฏเสมือนว่าไม่ได้ดับเลย แต่ที่สติจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่ยังไม่ได้คิด แต่กำลังมีลักษณะนี้ที่กำลังปรากฏตรงนี้ ตรงลักษณะจริงๆ ที่ยังไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น แต่ว่าปกติธรรมดาหลังจากที่เห็นแล้วก็จะมีการคิดนึก มีสัญญาความจำซึ่งอย่าไปบังคับ อย่าไปพยายามทำให้เป็นอย่างนั้นเพราะว่าเป็นปกติ แม้ว่าจะเห็นเหมือนเดิมแต่ก็มีการที่เริ่มค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแม้เพียงเล็กน้อย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นจิรกาลภาวนา

    เพราะเหตุว่า ใครสามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏชั่วขณะที่กำลังปรากฏแล้วก็ดับไป ถ้ามีปัญญาเพิ่มขึ้น เพราะว่านี่เป็นเพียงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ล้วนมีลักษณะของสภาพธรรมเกิดแล้วดับแต่ก็ปรากฏเหมือนไม่ดับเลยสืบต่อกัน

    เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะก็จะค่อยๆ เริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่างทีละเล็กทีละน้อยด้วยความเบาใจ อย่าหนักใจ ถ้าหนักใจคือมีความต้องการมีความเป็นเราซึ่งถ้าเกิดขึ้น ปัญญาก็สามารถจะรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่เพราะความรู้ไม่ทั่ว ขณะนั้นจึงเป็นเราที่มีความจงใจหรือมีความต้องการ

    ด้วยเหตุนี้จึงเป็นภาระของผู้ที่เป็นปุถุชน เป็นงาน เป็นกิจที่จะต้องพึงกระทำจนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์คือหมดกิจ ทำกิจเสร็จแล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่ได้ทำกิจเสร็จก็จะต้องรู้ว่ากิจของผู้ที่เป็นปุถุชนก็คือว่าไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเลย เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเมื่อไหร่ เป็นสติ และปัญญาซึ่งเป็นสติปัฏฐานในขณะนั้นโดยไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ไม่ใช่สติขั้นฟังแน่นอน เพราะเหตุว่า มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 174


    หมายเลข 9986
    3 ก.ย. 2567