ประจักษ์แจ้งแต่ละขั้นได้เพราะละ
ผู้ฟัง ยิ่งอดทนยิ่งร้อน ก็เลยบอกช่างมันเถอะ เฉยซะ ไม่ทราบวิธียังไงจะถูก อย่างไรจะเป็นสติปัฏฐานหรือไม่เป็นสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ อย่างหนึ่งที่ไม่ลืมิก็คือว่ายังเป็นผู้หนา ปุถุชนด้วยความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเกิดความคิดแล้ว ก็ลืม ว่าแม้ที่คิดอย่างนั้นก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่งจากการเคยได้ฟัง ทำให้มีการคิดถึงว่าขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมเป็นกระดาษที่กร๊อบแกร๊บเป็นเสียง ซึ่งปกติธรรมดาอาจจะไม่ได้คิดอย่างนี้ แต่เริ่มปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น การปรุงแต่งจะนานสักแค่ไหน เราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่าเราได้เคยปรุงแต่งมาแล้วเท่าไหร่ แล้วก็ที่ขณะปรุงแต่งเขยิบเจริญขึ้นจากการปรุงแต่งเป็นความคิดด้วยความเป็นเรา หรือว่าค่อยๆ รู้ตรงลักษณะซึ่งเกิดแล้วก็หมดไป แต่ว่าผู้ที่ฟังเป็นผู้ที่ฉลาด เป็นผู้ที่เข้าใจมีสัจจญาณในอริยสัจจ์ ๔ จะมี ๓ รอบๆ ที่ ๑ คือสัจจญาณ รอบที่ ๒ คือกิจญาณ รอบที่ ๓ คือกตญาณ แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่รู้อย่างนี้จะถึงอริยสัจจ์ไม่ได้เลย เพราะไม่มีสัจจญาณ แต่สัจจญาณก็คือความมั่นคงที่จะเข้าใจว่าขณะนั้นก็เป็นลักษณะที่ปรากฏแล้ว ขณะนั้นไม่มีตัวคุณเด่นพงศ์ ไม่มีอะไรเลย ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
โลกคือจิตเกิดดับสืบต่อ ขณะนั้นเสียงกระทบกับโสตปสาทแล้ว จิตได้ยินเกิดแล้ว จิตคิดนึกเกิดต่อ เพียงแต่ว่าจิตคิดนึกซึ่งเกิดต่อจะปรุงแต่งด้วยสังขารขันธ์ระดับไหน จะปรุงแต่งด้วยสังขารขันธ์ที่นึกถึงว่านี่เป็นสภาพธรรมหรือว่าปรุงแต่งจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ลักษณะนั้น แล้วละ ไม่ได้ง่ายๆ ที่ว่าจะทันทีเลย เมื่อรู้แล้วยังต้องละ มิฉะนั้นก็จะมีความเป็นเราที่ต้องการรู้ แต่อาศัยความรู้ที่อบรมจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจถูกได้ว่าการที่สภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริงจนประจักษ์แจ้งแต่ละขั้นได้ เพราะละ ถ้ายังคงมีการติดคือเรานั้นนิดหน่อยก็มีใช่ไหม แล้วก็ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นที่ปรากฏทางทวารอื่นด้วย
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เฉพาะทวารเดียว แต่ทุกทวารที่ปัญญาต้องเจริญจนกว่าจะละ และอาการละก็คือว่าแล้วแต่สภาพธรรมนั้นเกิดเป็นอย่างไร หมดไปก็หมดไป แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นปรากฏ ต้องมีความอดทนกล้าหาญ อาจหาญที่จะรู้ว่าไม่มีเราเลย ทั้งหมดเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง นี่คือจิรกาลภาวนา ขันติบารมีจนกว่าจะถึงวันที่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกตญาณได้
ผู้ฟัง ถ้าเผื่อผมจะระลึกว่านี่เป็นแค่สภาพธรรม ผมไม่อดทนหรอก มันจะทำให้เบาบางลง ไม่ทราบว่าไหนถูก
ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วลักษณะของสภาพธรรมไม่มีชื่อเลย แต่อาศัยคำที่ทรงบัญญัติเป็นชื่อต่างๆ ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ชื่อต้องไม่มี ว่าเราจะทำยังไง เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นความต่างกันได้ ว่าเวลาที่เราคิดถึงคำ ขณะนั้นเป็นเรื่องราวของสภาพธรรม แล้วพอหยุดคิดมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แต่ตอนหยุดคิดนี่ไม่ค่อยจะรู้ว่าไม่ได้คิดแต่กำลังเห็น เพราะว่าเร็วมาก และก็เกิดดับสืบต่อกัน จนกว่าความเข้าใจของเราจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วเวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่ต้องคิดเลยว่านี่อดทน นี่หิริเกิดแล้วพร้อมโอตตัปปะ ไม่ต้องคิดเลยเพราะกุศลจิตเกิดแล้วดับ แต่ขณะนั้นก็จะประกอบด้วยโสภณธรรมแล้ว แต่ว่าจะเป็นระดับไหน จะเป็นวิริยะ (ความเพียร) ปรากฏให้รู้ว่าเป็นลักษณะของวิริยะหรือจะเป็นความอดทน ไม่โกรธแล้วก็มีความเมตตา ในขณะที่เมตตาก็มีความอดทนด้วย ขณะนั้นก็ไม่ต้องมาคิดถึงว่ามีลักษณะของอะไร เป็นเมตตาหรือว่าเป็นอดทน หรือว่าเป็นวิริยะ ไม่ต้องคิดเลย ให้เข้าใจเพียงว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรม เพราะจริงๆ แล้วกว่าปัญญาของเราจะถึงระดับที่จะทำให้ละความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏก็จะมีการปรุงแต่งของความคิดนึกซึ่งเป็นจินตามยปัญญาก่อนอย่างมากทีเดียว
ที่มา ...