สมถภาวนา กับ สติปัฏฐาน


    เพราะฉะนั้น ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค มีผู้ที่อบรมเจริญความสงบ เพราะเป็นผู้ที่เห็น อกุศล ตามความเป็นจริงว่า เป็น อกุศล แต่ไม่รู้ว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะใด จิตเป็นกุศล จิตเป็นอกุศล แต่ยังยึดมั่นในกุศลจิต และ อกุศลจิต นั้นว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา นี่คือการเจริญสมถภาวนา แต่ปัญญาต้องรู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ ว่า ในองค์ของฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป ผู้นั้นมีปัญญารู้ว่า ฌานจิตประกอบด้วย วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า วิตกเจตสิก เป็นวิตกเจตสิก แต่ยึดถือว่าเป็นเรา ยังไม่เข้าถึงสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ว่าปัญญารู้ชัดในลักษณะของวิตก ของวิจารณ์ ของปีติ ของสุข ของเอกัคคตา ซึ่งเป็นองค์ของปฐมฌาน จนกระทั่งเห็นโทษของวิตก จึงอบรมความสงบให้ยิ่งขึ้น ที่จะละวิตก แล้วก็ให้เหลือแต่เพียง วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา แต่ว่าลักษณะของวิตก และวิจารณ์ ก็ใกล้ชิด ใกล้เคียงกันมาก มีปัจจัยอาศัยกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญา ก็ละพร้อมวิตก วิจารณ์ สำหรับ ทุติยฌาน โดยนัยของ จตุถนัย คือฌาน ๔ ฌานที่ ๒ ก็ปราศจากทั้ง วิตก และวิจารณ์ มีแต่เพียงปีตี สุข เอกัคคตา ไมใช่หมายความว่าท่านเหล่านั้นไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม รู้คะ แต่ว่ายึดถือว่าเป็นเรา เป็นของ เรา เพราะเหตุว่า ไม่ใช่สติปัฏฐาน ท่านรู้ลักษณะของอกุศลจิตที่เป็นโทสมูลจิต รู้ลักษณะของโลภมูลจิต รู้ลักษณะของอกุศลธรรม แต่ว่ายึดถือสภาพธรรม นั้นๆ เป็นเรา ตราบใดที่ยังไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ที่จะเป็นการรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมโดยความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสมถภาวนา ก็ต้องมีปัญญา ไม่มีปัญญาเจริญไม่ได้


    หมายเลข 4346
    3 ส.ค. 2567