สัตติสูตรที่ ๑ - ละสักกายทิฏฐิก่อนที่จะละกามราคะ
เพราะเหตุว่าแม้แต่ผู้ที่เป็นเทวดา ก็ยังมีความเห็นผิด ความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติได้
มีเทวดาท่านหนึ่ง สรรเสริญการละกาม ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต สัตติวรรคที่ ๓ สัตติสูตรที่ ๑ ข้อ ๕๖ ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา อธิบายว่า
เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบเพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก มุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ ฉะนั้น
ฟังดูถ้าไม่พิจารณาแล้ว ก็คงจะสรรเสริญตามว่า เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ควรมีสติเว้นรอบ เพื่อละกามราคะ เหมือนกับคนที่ถูกประหารด้วยหอก มุ่งถอนหอกออก หรือเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น
แต่ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา อธิบายว่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า
คาถาที่เทวดานี้นำมาตั้งไว้ ทำอุปมาให้มั่นคง ถือเอาประโยชน์ได้นิดหน่อย แม้เธอจะกล่าวซ้ำๆซากๆ ก็เพราะคาถานี้ เทวดากล่าวถึงการละ โดยการข่มกามราคะเท่านั้น ก็กามราคะอันมรรคยังไม่ทำลายตราบใด ตราบนั้นก็ยังมีการตามผูกพันเรื่อยไป เพราะเหตุนั้นเราจะถือเอาความอุปมานั้นนั่นแหละดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงเปลี่ยนเทศนาแสดงด้วยสามารถแห่งปฐมมรรค (คือ โสตาปัตติมรรค) จึงตรัสพระคาถาที่ ๒ (ลำดับที่ ๕๗) ว่า
ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ เพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ ฉะนั้น
แสดงให้เห็นว่า ถ้ามุ่งที่จะดับกามราคะ คือ โลภะ โดยที่ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็กามราคะอันมรรคยังไม่ทำลายตราบใด ตราบนั้นก็ยังมีการตามผูกพันเรื่อยไป
นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ให้เห็นความลึกของโลภเหตุซึ่งเป็นมูล เป็นตัวที่จะทำให้อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ยินดี เพลิดเพลิน และเห็นความน่าพอใจในสิ่งที่ปรากฏ
ท่านผู้ฟังควรที่จะได้ทราบว่า ในชีวิตประจำวันจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะไหนเป็นโลภะ เพราะเหตุว่าพูดถึงชื่อว่า โลภะ แล้วก็รู้ลักษณะของโลภะ แต่เวลาใดบ้างที่โลภะกำลังเกิดขึ้นเป็นไป ถ้าไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด โลภะก็จะอยู่ในตำรา แต่ถ้าพิจารณาแล้วจะทราบได้ว่า โลภะมีอยู่เกือบจะทุกขณะในชีวิตประจำวัน