จิตตสังเขป บทที่ ๙ ภูมิของจิต
จิต ๘๙ ดวงซึ่งต่างกันนั้น จําแนกโดยประเภทของภูมิ คือ ระดับขั้นของจิตเป็น ๔ ภูมิ คือ
กามาวจรภูมิ ๑
รูปาวจรภูมิ ๑
อรูปาวจรภูมิ ๑
โลกุตตรภูมิ ๑
จิตที่เป็นกามาวจรภูมิ ได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ ดวง ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายความหมายของกามาวจรจิต ๔ นัย มีข้อความว่า
นัยที่ ๑ บทว่า กามาวจรํ ได้แก่ จิต อันนับเนื่องในกามาวจรธรรมทั้งหลาย คือ เป็นจิตที่อยู่ในขั้นของกาม (คําเต็ม คือ กามาวจร แต่ตัดบทหลังออกเหลือเพียงกามเท่านั้นได้) โดยท่องเที่ยวอยู่ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงเป็นจิตขั้นกาม เป็นกามาวจรจิต
ทุกขณะในชีวิตประจําวันเป็นกามาวจรจิต เมื่อไม่ใช่จิตระดับอื่นที่ละเอียดกว่า ประณีตกว่าขั้นกาม เมื่อใดที่อบรมเจริญกุศลจิตที่สงบขึ้นโดยมีรูปเป็นอารมณ์ จนจิตสงบมั่นคงขึ้นถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ ขณะนั้นก็เป็นรูปาวจรภูมิหรือรูปาวจรจิต พ้นจากระดับของกาม และเมื่อจิตสงบมั่นคงกว่านั้นอีก โดยเป็นจิตที่สงบแนบแน่นในอารมณ์ที่พ้นจากรูปก็เป็นอรูปาวจรจิต และจิตที่ละเอียดประณีตกว่าอรูปาวจรจิต คือ โลกุตตรจิต ซึ่งประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน จึงเป็นโลกุตตรภูมิ ฉะนั้น จิตจึงต่างกันโดยภูมิ คือ จิต ๘๙ ดวง จําแนกเป็น
กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
โลกุตตรจิต ๘ ดวง
ขณะใดที่ไม่ใช่รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต ขณะนั้นต้องเป็นกามาวจรจิต
ชื่อว่า “กาม” เพราะอรรถว่า อันสัตว์ใคร่ กามมี ๒ อย่าง คือ กิเลสกาม ๑ วัตถุกาม ๑
กิเลสกาม ได้แก่ ฉันทราคะ คือ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ยินดีพอใจติดข้องในอารมณ์
วัตถุกาม คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจ ความปรารถนา ฉะนั้น วัตถุกาม ได้แก่ วัฏฏะ ซึ่งเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ คือ ทั้งกามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ เพราะไม่พ้นจากการเป็นวัตถุที่ยินดีพอใจของกิเลสกาม ตราบใดที่ยังดับโลภะไม่ได้ก็ยังมีวัตถุกาม คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นที่ยินดีพอใจของกิเลสกาม
กามาวจรจิตซึ่งยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั้นเหนียวแน่นมาก แม้ว่ารูปจะปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยเหลือเกิน คือชั่วขณะที่กระทบจักขุปสาท คือ ตา เสียงก็ปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยเหลือเกิน คือชั่วขณะที่กระทบกับโสตปสาท กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ก็เช่นเดียวกัน ล้วนเป็นปริตตธรรม คือเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับไป แต่จิตก็ยินดีพอใจติดข้องในปริตตธรรมนั้นอยู่เสมอ เพราะการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของปริตตธรรมนั้นๆ จึงดูเสมือนไม่ดับไป
ความเพลิดเพลินยินดีพอใจในกามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่หมดสิ้น แม้ว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นๆ จะดับไปแล้ว แต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอื่นๆ ก็เกิดสืบต่อ ทําให้เกิดความหลงติดยินดีพอใจในรูป เสียง ฯลฯ สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ เมื่อเห็นรูปใดก็ตามซึ่งเป็นที่พอใจแล้ว ก็อยากจะเห็นอีกบ่อยๆ เมื่อได้ยินเสียงที่พอใจแล้วก็อยากได้ยินเสียงนั้นอีก กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็เช่น เดียวกัน เมื่อบริโภครสใดที่พอใจแล้วก็อยากบริโภครสนั้นซ้ำๆ อีก ความยินดีพอใจติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เกิดขึ้นเป็นประจําทุกวัน ซ้ำแล้วซ้ำอีกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง
เมื่อชอบสิ่งใดก็อยากจะเห็นสิ่งนั้นอยู่ตลอดเวลาได้ไหม ไม่ได้ เพราะสังขารธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา เมื่อรสอร่อยเกิดขึ้นปรากฏ ความพอใจก็อาศัยลิ้นเกิดขึ้น ขณะนั้นความพอใจทางตา หู จมูก กายไม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดความพอใจในกลิ่นที่ปรากฏ ขณะนั้นความพอใจทางตา หู ลิ้น กาย ก็ไม่เกิด เพราะจิตเกิดขึ้นทีละขณะเท่านั้น จะมีจิต ๒ ดวงเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้เลย ทุกคนพอใจในสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏสลับกันทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ไม่ใช่พอใจเฉพาะในสีเดียว เสียงเดียว กลิ่นเดียว รสเดียว และโผฏฐัพพะเดียวเท่านั้น ทั้งนี้เพราะความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะสะสมสืบต่ออยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต
ฉะนั้น กามาวจรจิต คือ จิตขั้นกามที่ท่องเที่ยวไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นจิตที่ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นจิตที่ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ บางท่านก็บอกว่าทําบุญแล้วอยากจะเกิดในสวรรค์ สวรรค์ก็ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่เป็นกามอารมณ์ที่ประณีตกว่ากามอารมณ์ในโลกมนุษย์
ฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะใดที่จิตสงบไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ คือ ไม่เป็นฌานจิต และไม่เป็นโลกุตตรจิต ขณะนั้นก็เป็นกามาวจรจิต ขณะหลับและตื่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกต่างๆ นั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเลย แต่เป็นจิตขั้นกาม คือ กามาวจรจิตทั้งสิ้น
ผู้ที่ไม่ใช่พระอนาคามีและพระอรหันต์นั้น ยังมีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แสดงว่าความพอใจในกามอารมณ์ที่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นละได้ยากเพียงใด และถึงแม้ว่าจะอบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต และเกิดในพรหมโลก ก็ยังละความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้เป็นสมุจเฉท เมื่อยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ เป็นผู้ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้น จึงไม่ควรประมาทกิเลส และจะต้องเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงตามเหตุผล จึงจะสามารถอบรมเจริญปัญญาที่ดับกิเลสได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท
บทว่า กามาวจร ได้แก่ จิตอันนับเนื่องในกามาวจรธรรม ข้อความในอัฏฐสาลินีแสดงว่า ภูมิของกามาวจรธรรมนั้น เบื้องต่ำตั้งแต่อเวจีนรกขึ้นมา เบื้องบนตั้งแต่เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีลง มา ภูมิเหล่านี้เป็นภูมิของกามอารมณ์ทั้งหมด
ส่วนคําว่า “วัตถุกาม” นั้นมีความหมายกว้างกว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดทั้งสิ้นเมื่อเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจก็เป็นวัตถุกาม เมื่อเกิดเป็นพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ รูปพรหมภูมินั้นก็เป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจของรูปพรหมบุคคลนั้น ผู้ที่เกิดในอรูปพรหมภูมิ อรูปพรหมภูมิก็เป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจของอรูปพรหมบุคคลนั้นได้ โลภเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ยินดีพอใจติดข้องในอารมณ์ทุกอย่าง นอกจากโลกุตตรธรรมเท่านั้น ฉะนั้น นอกจากโลกุตตรธรรมแล้ว ธรรมอื่นๆ จึงเป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งเป็นที่ยินดีพอใจของโลภะได้
ความหมายของกามาวจรจิตนัยที่ ๑ คือ เป็นจิตขั้นกามไม่ พ้นไปจากกาม
นัยที่ ๒ เป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมิ ๑๑ คือ อบายภูมิ ๔ มนุสสภูมิ ๑ และสวรรค์ ๖ ชั้น
นัยที่ ๓ ชื่อว่า กามาวจรจิต เพราะว่าย่อมท่องเที่ยวไป ด้วยสามารถแห่งการกระทําให้เป็นอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ย่อมท่องเที่ยวไปในจิตนั้นๆ ด้วยสามารถแห่งการกระทําให้เป็นอารมณ์ แม้เพราะเหตุนั้นๆ ชื่อว่า กามาวจร
ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ก็คือ จิตใดก็ตามที่เกี่ยวเนื่องเป็นไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ จิตนั้นเป็นกามาวจร
ถาม พระอรหันต์มีกามาวจรจิตไหม
ตอบ มี เมื่อพระอรหันต์เห็นรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา รูปารมณ์ที่เป็นกามอารมณ์ จิตเห็นจึงเป็นกามาวจรจิต ไม่ว่าจะเป็นจิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก หรือจิตของบุคคลใดขณะใดๆ ก็ตามที่มีกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ จิตนั้นเป็นกามาวจรจิต
นัยที่ ๔ อีกอย่างหนึ่ง จิตใดย่อมยังปฏิสนธิให้ท่องเที่ยวไปในกาม กล่าวคือ กามภพ (อบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖) เหตุนั้น จิตนั้นชื่อว่า กามาวจร
ทุกท่านที่อยู่ในโลกมนุษย์นี้ เพราะกามาวจรจิตทําให้กามปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์ ซึ่งเป็นกามภูมิ
ผู้ที่เจริญสมถภาวนาจนจิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิเป็นรูปฌานจิต หรืออรูปฌานจิต ถ้าฌานจิตไม่เสื่อม และฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต ฌานกุศลจิตนั้นไม่เป็นปัจจัยให้เกิดในโลกนี้ แต่เป็นปัจจัยให้เกิดในรูปพรหมภูมิ หรือในอรูปพรหมภูมิตามขั้นของฌานนั้นๆ การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกามาวจรกุศล คือ ทาน ศีล การอบรมเจริญสมถภาวนา การอบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งยังไม่พ้นไปจากกาม ฉะนั้นจึงทําให้ปฏิสนธิในกามภูมิ
คําว่า “ภูมิ” มี ๒ ความหมาย คือ หมายถึงจิตซึ่งเป็นภูมิของสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน ๑ และ หมายถึง “โอกาส” คือ สถานที่เกิดของสัตวโลก ๑ โลกมนุษย์เป็นภูมิ คือ สถานที่เกิดภูมิ ๑ ในที่เกิดทั้งหมด ๓๑ ภูมิ
เมื่อจิตต่างกันเป็นประเภทๆ และจิตแต่ละประเภทนั้นก็วิจิตรต่างกันมาก ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของสัตวโลกก็ต้องต่างกันไป ไม่ใช่มีแต่มนุสสภูมิ คือโลกนี้โลกเดียว และแม้ว่าจะเป็นกามวจรกุศล กําลังของศรัทธา ปัญญา และสัมปยุตตธรรม คือเจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นก็วิจิตรต่างกันมาก จึงจําแนกให้ได้รับผล คือ เกิดในสุคติภูมิต่างๆ ไม่ใช่แต่ในภูมิมนุษย์เท่านั้น
สําหรับอกุศลกรรมก็เช่นเดียวกัน ขณะที่ทําอกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ถ้าสังเกตจะรู้ความแตกต่างกันของอกุศลกรรมว่าหนักเบาด้วยอกุศลธรรมเพียงไร บางครั้งก็ประกอบด้วยความพยาบาทมาก บางครั้งก็ไม่ได้ประกอบด้วยความพยาบาทรุนแรง บางครั้งก็ขาดความเพียร ไม่ได้มีวิริยะอุตสาหะที่จะทําร้ายเบียดเบียน แต่เป็นการกระทําซึ่งประกอบด้วยเจตนาเพียงเล็กน้อยและสัตว์เล็กๆ นั้นก็ตายลง เมื่อแต่ละกรรมที่ได้กระทําไปนั้นประกอบด้วยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกขั้นต่างๆ อกุศลกรรมนั้นๆ ก็เป็นปัจจัยจําแนกให้อกุศลวิบากจิตทํากิจปฏิสนธิ คือ เกิดในอบายภูมิต่างๆ ๔ ภูมิ
เมื่อกุศลกรรมและอกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลวิจิตรต่างๆ กัน ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดที่เหมาะที่ควรแก่กรรมนั้นๆ ก็ย่อมต้องมีมาก ไม่ได้มีแต่เฉพาะมนุสสภูมิแห่งเดียวเท่านั้น
คําว่า “ภูมิ” หมายถึง โอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของ สัตวโลกนั้นมีทั้งหมด ๓๑ ภูมิ ตามระดับขั้นของจิต คือ กามภูมิ ๑๑ ภูมิ รูปพรหม ๑๖ ภูมิ อรูปพรหม ๔ ภูมิ รวมโอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตวโลกทั้งหมดมี ๓๑ ภูมิ คือ ๓๑ ระดับขั้น ซึ่งสถานที่เกิดแต่ละขั้นนั้นมีมากกว่านั้น คือ แม้แต่ภูมิของมนุษย์ก็ไม่ได้มีแต่โลกนี้โลกเดียว ยังมีโลกมนุษย์อื่นๆ อีกด้วย
กามภูมิ ๑๑ ภูมินั้นเป็นอบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ และสวรรค์ ๖ ซึ่งขอกล่าวถึงเพียงย่อๆ คือ
อบายภูมิ ๔ ได้แก่ นรก ๑ สัตว์ดิรัจฉาน ๑ ปิตติวิสัย (เปรต) ๑ อสุรกาย ๑
นรกไม่ใช่มีเพียงแต่แห่งเดียวหรือขุมเดียว นรกขุมใหญ่ๆ มีหลายขุม เช่น สัญชีวนรก กาฬสุตนรก สังฆาตนรก โรรุวนรก มหาโรรุวนรก ตาปนนรก มหาตาปนนรก และอเวจีนรก นอกจากนรกใหญ่ ก็ยังมีนรกย่อยๆ ซึ่งในพระไตรปิฎกก็ไม่ได้กล่าวถึงโดยละเอียดมากนัก เพราะจุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภูมิต่างๆ ก็เพื่อทรงแสดงให้เห็นเหตุและผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรม สิ่งใดซึ่งไม่สามารถที่เห็นชัดประจักษ์แจ้งด้วยตา ก็ย่อมไม่เป็นสิ่งที่ควรแสดงเท่ากับสภาพที่สามารถจะพิสูจน์โดยอบรมเจริญปัญญาให้รู้ได้
การเกิดในอบายภูมิ ๔ นั้น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมหนักก็เกิดในนรก ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่หนักมากก็เกิดในมหานรกที่สุดจะทรมาน คือ อเวจีนรก และเมื่อพ้นจากนรกขุมใหญ่ๆ แล้วก็เกิดในนรกขุมย่อยๆ อีก เมื่อยังไม่หมดผลของอกุศลกรรม ขณะที่กระทําอกุศลกรรมนั้นไม่คิดเลยว่าภูมินรกรออยู่แล้วข้างหน้า แต่ว่ายังไปไม่ถึง เพราะว่ายังอยู่ในโลกนี้ ตราบใดที่ยังไม่พ้นจากสภาพของการเป็นบุคคลในโลกนี้ก็ยังไม่ไปสู่ภูมิอื่น แม้ว่าเหตุคืออกุศลกรรมมีแล้ว เมื่อทําอกุศลกรรมแล้วย่อมเป็นปัจจัยให้ไปสู่อบายภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่งเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว
ผลของอกุศลกรรมที่น้อยกว่านั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในอบายภูมิอื่น เช่น เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน จะเห็นได้ว่าสัตว์ดิรัจฉานนั้นมีรูปร่างประหลาดๆ ต่างๆ นานา บางชนิดมีขามาก บางชนิดมีขาน้อย บางชนิดไม่มีขาเลย มีปีกบ้าง ไม่มีปีกบ้าง อยู่ในน้ำบ้าง อยู่บนบกบ้าง มีรูปร่างลักษณะต่างๆ มากมาย ตามความวิจิตรของจิต มนุษย์มีตา หู จมูก ลิ้น กายคล้ายกัน แต่ผิวพรรณวัณณะ ความสูงต่ำก็ยังวิจิตรต่างๆ กัน ไม่เหมือนกันเลย ไม่ว่าจํานวนคนในโลกนี้จะมากสักเท่าไรก็ตาม รวมทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตด้วย แต่สัตว์ดิรัจฉานก็ยิ่งวิจิตรต่างกันมากกว่ามนุษย์ ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก และสัตว์ที่บินได้ ซึ่งก็ย่อมเป็นไปตามกรรม อันเป็นเหตุให้มีรูปร่างวิจิตรนั้นๆ
ผลของอกุศลกรรมที่น้อยกว่านั้นเป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิของ เปรต ซึ่งภาษาบาลีใช้คําว่า ปิตติวิสัย เปรตทรมานด้วยความหิวโหยอยู่เสมอ และภูมิของเปรตก็วิจิตรต่างๆ กันมาก
มนุษย์ทุกคนมีโรคประจําตัวประจําวัน คือ โรคหิว ซึ่งจะว่าไม่มีโรคไม่ได้ เพราะความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ลองหิวมากแล้วจะรู้สึก ถ้าหิวนิดหน่อยแล้วรับประทานอาหาร ซึ่งถ้าเป็นอาหารอร่อยๆ ก็เลยลืมว่า แท้จริงนั้นความหิวไม่ใช่ความสบายกายเลย เป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไขบรรเทาให้หมดไป คนที่หิวมากเมื่อไม่ได้รับประทานอาหารก็จะรู้สภาพที่เป็นความทุกข์ของความหิวว่า ถ้าหิวมากๆ กว่านั้นจะเป็นอย่างไร
ท่านผู้หนึ่งมีมิตรสหายมาก วันหนึ่งท่านรับโทรศัพท์ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นไม่ได้รับประทานอาหาร พอค่ำก็เลยรู้สึกว่าหิวที่แสนทรมาน ที่ใช้คําว่าแสบท้องหรือแสบไส้นั้นเป็นอย่างไร และท่านก็ไม่สามารถรีบร้อนรับประทานเพื่อแก้ความหิว เพราะถ้าทําอย่างนั้นก็จะเป็นลม เป็นอันตรายต่อร่างกาย ท่านต้องค่อยๆ บริโภคแก้ไขความหิวไปทีละน้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นลม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง เป็นโรคประจําวัน ที่ยังไม่ต้องพูดถึงโรคอื่นๆ แล้วอย่างนี้ผู้ที่เป็นเปรตจะหิวสักแค่ไหน ในภูมิเปรต ไม่มีการค้าขาย ไม่มีกสิกรรม จะไปปลูกข้าวทํานา หุงข้าวเอง หรือซื้อขายแลกเปลี่ยนอะไรกับใคร เพื่อให้ได้อาหารมาบริโภคก็ไม่ได้ การเกิดเป็นเปรตนั้นเป็นผลของอกุศลกรรม เปรตใดอนุโมทนากุศลที่บุคคลอื่นกระทําแล้วอุทิศไปให้ กุศลจิตที่อนุโมทนานั้นเป็นปัจจัยให้ได้อาหารที่เหมาะสมแก่ภูมิของตนบริโภค หรืออาจจะพ้นสภาพของเปรต โดยจุติแล้วปฏิสนธิในภูมิอื่น เมื่อหมดผลของกรรมที่ทําให้เป็นเปรตต่อไป
อบายภูมิอีกภูมิหนึ่ง คือ อสุรกาย การเกิดเป็นอสุรกายเป็นผลของอกุศลกรรมที่เบากว่าอกุศลกรรมอื่น เพราะผู้ที่เกิดเป็นอสุรกายนั้น ไม่มีความรื่นเริงใดๆ อย่างในภูมิมนุษย์และสวรรค์ ในภูมิมนุษย์มีหนังสือพิมพ์อ่าน มีหนังละครดู มีเพลงฟัง แต่ในอสุรกายภูมิไม่สามารถที่จะแสวงหาความเพลิดเพลินสนุกสนานได้เหมือนในสุคติภูมิ
เมื่ออกุศลกรรมมีต่างกัน ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดย่อมต่างกันออกไปตามเหตุ คือ อกุศลกรรมนั้นๆ
สําหรับภูมิซึ่งเป็นผลของกามาวจรกุศลมี ๗ ภูมิ คือ มนุษย์ ๑ ภูมิ สวรรค์ ๖ ภูมิ
ในพระไตรปิฎกแสดงภูมิที่เกิดของมนุษย์ว่า มนุสสภูมิ คือ ที่เกิดของมนุษย์นั้น มี ๔ ทวีป คือ
๑. ปุพพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุ
๒. อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ
๓. ชมพูทวีป (โลกนี้) อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ
๔. อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ
ผู้ที่เกิดในโลกนี้ซึ่งเป็นชมพูทวีป ก็เห็นแต่ชมพูทวีป ไม่ว่าจะท่องเที่ยวไปที่ใดก็เห็นแต่อารมณ์ต่างๆ ของชมพูทวีป ยังไม่สามารถที่จะไปถึงทวีปอื่น ซึ่งเป็นโลกของมนุษย์อื่นอีก ๓ โลก
สวรรค์มี ๖ ภูมิ ตามลําดับ คือ
สวรรค์ภูมิที่ ๑ คือ จาตุมหาราชิกา มีเทวดาซึ่งเป็นใหญ่ ๔ องค์ คือ
ท้าวธตรัฏฐ์ เป็นเทพผู้เป็นใหญ่ทางทิศตะวันออก บางครั้งมีชื่อว่า อินทะ เป็นผู้ปกครอง คันธัพพเทวดา (คนธรรพ์)
ท้าววิรุฬหกเป็นเทพผู้เป็นใหญ่ทางทิศใต้ บางครั้งมีชื่อว่า ยมะ เป็นผู้ปกครองกุมภัณฑ์เทวดา
ท้าววิรูปักข์ เป็นเทพผู้เป็นใหญ่ทางทิศตะวันตก บางครั้งมีชื่อว่า ท้าววรุณ เป็นผู้ปกครองนาคเทวดา
ท้าวกุเวร เป็นเทพผู้เป็นใหญ่ทางทิศเหนือ บางครั้งมีชื่อว่า ท้าวเวสสุวัณณ์ เป็นผู้ปกครองยักขเทวดา
สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นสวรรค์ชั้นต้น ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากภูมิมนุษย์ สวรรค์ซึ่งเป็นภูมิของเทพนั้นสูงขึ้นๆ ตามระดับความประณีตของสวรรค์
สวรรค์ภูมิที่ ๒ คือ ดาวดึงส์ อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีพระอินทร์เป็นจอมเทพ ทุกท่านคงได้ยินชื่อสวนสวรรค์ในชั้นดาวดึงส์บ่อยๆ สวนสวรรค์ในชั้นดาวดึงส์มี ๔ คือ สวนนันทวันอยู่ทางทิศตะวันออก สวนจิตรลดาวันอยู่ทางทิศตะวันตก สวนมิสสกวันอยู่ทางทิศเหนือ สวนผารุสกวันอยู่ทางทิศใต้
สวรรค์ภูมิที่ ๓ คือ ยามา อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
สวรรค์ภูมิที่ ๔ คือ ดุสิต อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นยามา
สวรรค์ภูมิที่ ๕ คือ นิมมานรดี อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นดุสิต
สวรรค์ภูมิที่ ๖ คือ ปรนิมมิตวสวัตตี อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
ใครอยากจะอยู่สวรรค์ชั้นไหน เมื่อไม่ใช่พระอรหันต์ก็ยังต้องเกิดอีก แต่จะเกิดที่ไหน คงไม่ถึงพรหมภูมิ เพราะการที่จะเกิดเป็นพรหมบุคคลในพรหมภูมิได้นั้น ต้องเป็นผลของฌานกุศลที่ไม่เสื่อมตามที่กล่าวแล้ว ฉะนั้น ก็คงจะเกิดในกามภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นอบายภูมิหรือสุคติภูมิตามเหตุ คือ กรรมหนึ่งที่ได้กระทําแล้วในสังสารวัฏฏ์
รูปาวจรภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของรูปพรหมบุคคลมี ๑๖ ภูมิ คือ
ปฐมฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ คือ
ปาริสัชชาภูมิ ๑ เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุปฐมฌานกุศลจิตที่มีกําลังอ่อน
ปุโรหิตาภูมิ ๑ เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุปฐมฌานกุศลจิตที่มีกําลังปานกลาง
มหาพรหมาภูมิ ๑ เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุปฐมฌานกุศลจิตที่มีกําลังประณีต
ทุติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุทุติยฌานโดยจตุกกนัย หรือทุติยฌาน และตติยฌานโดยปัญจกนัย คือ
ปริตตาภาภูมิ ๑
อัปปมาณาภาภูมิ ๑
อาภัสสราภูมิ ๑
ตติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุตติยฌานโดยจตุกกนัย หรือจตุตถฌานโดยปัญจกนัย คือ
ปริตตสุภาภูมิ ๑
อัปปมาณสุภาภูมิ ๑
สุภกิณหาภูมิ ๑
จตุตถฌานภูมิ มี ๗ ภูมิ คือ
เวหัปผลาภูมิ ๑ เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุจตุตถฌาน โดย จตุกกนัย หรือ ปัญจมฌานโดยปัญจกนัย
อสัญญสัตตาภูมิ ๑ เป็นที่เกิดของผู้ที่บรรลุปัญจมฌานที่มีแต่รูปปฏิสนธิ ไม่มีจิตเจตสิกเกิดเลย
อวิหาภูมิ ๑, อตัปปาภูมิ ๑, สุทัสสาภูมิ ๑, สุทัสสีภูมิ ๑, อกนิฏฐาภูมิ ๑ รวมเป็นสุทธาวาสภูมิ ๕ เป็นที่เกิดของพระอนาคามีบุคคลผู้ได้จตุตถฌานโดยจตุกกนัย หรือ ปัญจมฌานโดยปัญจกนัย
อรูปพรหมภูมิ มี ๔ ภูมิ เป็นภูมิที่เกิดของผู้ที่บรรลุอรูปฌาน (ปัญจมฌานที่เพิกรูปแล้วมีอรูปเป็นอารมณ์) ตามลําดับขั้น คือ
อากาสานัญจายตนภูมิ ๑
วิญญาณัญจายตนภูมิ ๑
อากิญจัญญายตนภูมิ ๑
เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ๑
ในอรูปพรหม ๔ ภูมินี้ มีแต่นามขันธ์ คือ จิตและเจตสิก ไม่มีรูปใดๆ เกิดเลย
ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต จุฬนีสูตร พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของโลกและจักรวาลไว้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โดยละเอียดอย่างที่บางท่านสงสัยใคร่รู้ แต่ก็แสดงให้เห็นพระปัญญาบารมีของพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นโลกวิทู คือ ผู้ทรงรู้แจ้งโลกทั้งสิ้น
อรรถของจิตประการที่ ๔ คือ อนึ่ง จิตแม้ทุกดวงชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอํานาจแห่งสัมปยุตตธรรม (เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ทําให้จําแนกจิตออกเป็นประเภทต่างๆ ได้หลายนัย เช่น โดยชาติ ๔ ได้แก่ เป็นกุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ โดยภูมิ ๔ คือ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต
กามาวจรจิต มีทั้ง ๔ ชาติ คือ เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี นอกจากกามาวจรจิตแล้ว จิตระดับที่สูงกว่านั้นไม่เป็นอกุศล คือ รูปาวจรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี อรูปาวจรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี โลกุตตรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี (และที่เป็นกิริยาไม่มี)
ฉะนั้น รูปาวจรจิตจึงมี ๓ ชาติคือ กุศล วิบาก กิริยา รูปาวจรกุศลจิตเป็นเหตุให้รูปาวจรวิบากจิต ทํากิจปฏิสนธิเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลกภูมิหนึ่งภูมิใดในรูปพรหม ๑๕ ภูมิ และรูปาวจรปัญจมฌานเป็นปัจจัยให้รูปปฏิสนธิเป็นอสัญญสัตตาพรหมบุคคลในอสัญญสัตตาพรหมภูมิ ๑ ภูมิ รูปาวจรกิริยาเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ขณะที่เป็นรูปฌานจิตขั้นต่างๆ
อรูปาวจรจิตก็มี ๓ ชาติคือ กุศล วิบาก กิริยา โดยนัยเดียวกัน
รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตเป็นมหัคคตจิต ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายความหมายของ “มหัคคตะ” ว่า ชื่อว่า มหคฺคต เพราะถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้ เพราะมีผลไพบูลย์
กิเลสเป็นสิ่งที่ข่มไม่ได้ง่าย เพราะพอเห็นก็เกิดพอใจหรือไม่พอใจ แต่ในขณะที่จิตเป็นอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิตนั้น จิตสงบแนบแน่นในอารมณ์ทางมโนทวาร ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้โผฏฐัพพะ ขณะที่เป็นฌานจิตไม่ว่าจะเป็นระยะเวลานานเท่าไรก็ตาม ภวังคจิตจะไม่เกิดคั่นแทรกเลย ไม่เหมือนกับเวลาที่เป็นกามาวจรจิตซึ่งเป็นขณะที่เล็กน้อยและสั้นมากเป็นปริตตธรรม เพราะเห็นชั่ววาระสั้นๆ ได้ยินชั่ววาระสั้นๆ คิดนึกชั่ววาระสั้นๆ ขณะที่เป็นกามาวจรจิตนั้นรู้อารมณ์หนึ่งๆ ชั่ววาระที่สั้นจริงๆ เมื่อจักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาดับไป ภวังคจิตก็ต้องเกิดต่อทันทีก่อนที่มโนทวารวิถีจิตจะรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อจากจักขุทวารวิถีจิต กามาวจรธรรม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและจิตที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจึงเป็นปริตตธรรม แต่มหัคคตจิตซึ่งได้แก่ รูปาวจรจิต และอรูปาวจรจิตนั้น ถึงความเป็นสภาวะอัน ใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้ จึงเป็นมหัคคตจิต
ขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิ คือฌานจิตเกิดดับสืบต่อกันนั้น ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้โผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และไม่คิดนึกเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ เลย จึงชื่อว่าสามารถข่มกิเลส แต่เมื่อฌานจิตดับหมดแล้ว กามาวจรจิตก็เกิดต่อ เมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นทางทวารต่างๆ อกุศลชวนวิถีก็เกิดได้ถ้าไม่ใช่กุศล เพราะเมื่อยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เมื่อเห็นแล้วอกุศลจิตก็เกิดขึ้น เมื่อได้ยินแล้วอกุศลจิตก็เกิด เมื่อกายกระทบสัมผัสแล้วอกุศลจิตก็เกิด มีใครรู้บ้างว่าอกุศลจิตเกิดอยู่เรื่อยๆ เมื่อไม่รู้ก็ไม่ได้ข่ม และไม่ได้อบรมเจริญหนทางที่จะดับกิเลส
ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธ เจ้า ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจิตซึ่งเกิดสืบต่อจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ ก็ได้พยายามหาทางที่จะข่มกิเลส และรู้ว่าทางเดียวที่จะข่มกิเลสได้ คือ ต้องไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส และ ไม่รู้โผฏฐัพพะ เพราะถ้าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส และรู้โผฏฐัพพะ ก็กั้นกิเลสไม่ได้ เมื่อรู้อย่างนี้จึงอบรมเจริญกุศลจิตที่ทําให้สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ จนถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ นอกจากอารมณ์ที่ทําให้จิตเป็นกุศล สงบ มั่นคงแนบแน่นทางใจเพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น อัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิตนั้นไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส เพราะเมื่อฌานจิตไม่เกิด กิเลสก็เกิด ชั่วขณะที่เป็นรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตนั้นเป็นสภาวะอันใหญ่ เป็นมหัคคตะ เพราะข่มกิเลสได้โดยไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่เหมือนพระอนาคามีบุคคล ซึ่งเห็นแต่ดับความยินดีพอใจในรูป ได้ยินแต่ดับความยินดีพอใจในเสียง ได้กลิ่นแต่ดับความยินดีพอใจในกลิ่น ลิ้มรสแต่ดับความยินดีพอใจในรสกระทบสัมผัสแต่ดับความยินดีพอใจในเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหวที่ปรากฏ ฉะนั้น จิตจึงต่างกันเป็น ๔ ภูมิ คือ ๔ ระดับขั้น
รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตมี ๓ ชาติ คือ กุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑
โลกุตตรจิตมี ๒ ชาติ คือ เป็นโลกุตตรกุศลประเภท ๑ เป็นโลกุตตรวิบากประเภท ๑ ไม่มีโลกุตตรกิริยาจิต โลกุตตรจิตมี ๘ ดวง คือ
โสตาปัตติมัคคจิตเป็นโลกุตตรกุศล
โสตาปัตติผลจิตเป็นโลกุตตรวิบาก
สกทาคามิมัคคจิตเป็นโลกุตตรกุศล
สกทาคามิผลจิตเป็นโลกุตตรวิบาก
อนาคามิมัคคจิตเป็นโลกุตตรกุศล
อนาคามิผลจิตเป็นโลกุตตรวิบาก
อรหัตตมัคคจิตเป็นโลกุตตรกุศล
อรหัตตผลจิตเป็นโลกุตตรวิบาก
โลกุตตรกุศลจิต เป็นปัจจัยให้โลกุตตรวิบากจิตเกิดสืบต่อทันที ไม่มีจิตอื่นเกิดคั่นได้เลย กุศลอื่นทั้งหมดไม่สามารถที่จะให้ผลทันที คือ ไม่ทําให้วิบากจิตเกิดสืบต่อจากกุศลจิตได้ทันที แต่โลกุตตรกุศลเป็นปัจจัยให้โลกุตตรวิบากเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีจิตอื่นคั่น ระหว่างโลกุตตรกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ และโลกุตตรวิบากจิตซึ่งเป็นผลเลย ทันทีที่โสตาปัตติมัคคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลดับ โสตาปัตติผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตก็เกิดสืบต่อทันที ทันทีที่สกทาคามิมัคคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลดับ สกทาคามิผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตก็เกิดสืบต่อทันที ทันทีที่อนาคามิมัคคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลดับ อนาคามิผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตก็เกิดสืบต่อทันที ทันทีที่อรหัตตมัคคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลดับ อรหัตตผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตก็เกิดสืบต่อทันที
ฉะนั้น โลกุตตรวิบากจิตทั้ง ๔ จึงไม่ได้ทําปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ ไม่เหมือนโลกิยกุศลวิบากและอกุศลวิบาก เมื่อโลกุตตรกุศลจิตดับ โลกุตตรวิบากจิตก็เกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ต่อจากโลกุตตรกุศลทันที ฉะนั้น ผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตนั้น จึงเป็นชวนวิถีจิตเช่นเดียวกับโลกุตตรกุศลจิต ผลจิตเป็นวิบากจิตประเภทเดียวเท่านั้นที่เป็นชวนวิถีจิต ทําชวนกิจและมีนิพพานเป็นอารมณ์ โลกุตตรกุศลจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ โดยดับกิเลสเป็นสมุจเฉทตามขั้นของโลกุตตรกุศลจิตนั้นๆ แต่โลกุตตรวิบากจิตที่เกิดต่อจากโลกุตตรกุศลจิตนั้น เกิดดับสืบต่อกันโดยมีนิพพานเป็นอารมณ์อีก ๒ หรือ ๓ ขณะตามประเภทของบุคคล
พระโสดาบันบุคคลยังเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ แต่ปฏิสนธิจิตของพระโสดาบันไม่ใช่โสตาปัตติผลจิตทํากิจปฏิสนธิ แล้วแต่ว่าพระโสดาบันบุคคลนั้นจะเกิดในภูมิใด วิบากจิตระดับภูมินั้นๆ ก็ทํากิจปฏิสนธิในภูมินั้น คือ ถ้าพระโสดาบันบุคคลนั้นเกิดในสวรรค์ กามาวจรวิบากจิตก็ทํากิจปฏิสนธิ ถ้าพระโสดาบันบุคคลนั้นเกิดในพรหมภูมิใด รูปาวจรวิบากจิต หรืออรูปาวจรวิบากจิตก็ทํากิจปฏิสนธิในภูมินั้นๆ
ฉะนั้น คําว่า ภูมิ มี ๒ ความหมาย คือ หมายถึงระดับขั้นของจิต ๑ และหมายถึงภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของสัตวโลก ๑
ภูมิซึ่งเป็นระดับขั้นของจิตมี ๔ ภูมิ คือ
กามาวจรจิต ๑
รูปาวจรจิต ๑
อรูปาจรจิต ๑
โลกุตตรจิต ๑
ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของสัตวโลก หมายถึง โอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตวโลก มี ๓๑ ภูมิตามระดับขั้นของจิต คือ
กามภูมิ ๑๑ ภูมิ
รูปพรหมภูมิ ๑๖ ภูมิ
อรูปพรหมภูมิ ๔ ภูมิ
คําถามทบทวน
๑. กิเลสกามและวัตถุกามต่างกันอย่างไร
๒. ปริตตธรรมคืออะไร
๓. พระพุทธเจ้ามีกามาวจรจิตไหม
๔. คําว่าภูมิหมายถึงอะไรบ้าง
๕. สุทธาวาสภูมิคืออะไร ใครเกิดในสุทธาวาสภูมิได้
๖. รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิตมีกี่ชาติ
๗. โลกุตตรจิตมีกี่ชาติ
๘. มหัคคตจิตได้แก่จิตอะไร
๙. โลกุตตรจิตเป็นวิถีจิตอะไร
๑๐. โลกุตตรวิบากจิตทํากิจอะไร
- พระพุทธศาสนามีองค์ ๙
- ปรมัตถธรรมสังเขป
- จิตตสังเขป บทที่ ๑ ความสำคัญของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๒ คำอธิบายจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๓ คำอธิบายจิต (ต่อ)
- จิตตสังเขป บทที่ ๔ วิถีจิต, ทวาร, วัตถุ
- จิตตสังเขป บทที่ ๕ ชาติของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๖ จิต ๘๙ จำแนกเป็น ๔ ชาติ, กิจของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๗ อรรถของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๘ อรรถของจิต (ต่อ)
- จิตตสังเขป บทที่ ๙ ภูมิของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๐ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรม
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๑ สัมปยุตตธรรม
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๒ คำอธิบาย อสังขาริก และ สสังขาริก
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๓ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรมที่เป็นเหตุ
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๔ จิตต่างกันโดยนัยของโสภณะและอโสภณะ
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๕ จิตต่างกันโดยนัยของโลกิยจิตและโลกุตตรจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๖ อรรถของจิตประการที่ ๕ ชื่อว่า จิต เพราะกระทำให้วิจิตร
- บัญญัติ
- ภาคผนวก จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท
- ภาคผนวก เจตสิก ๕๒ ประเภท
- ภาคผนวก รูป ๒๔ ประเภท
- สมถภาวนา
- วิปัสสนาภาวนา
- แนวทางเจริญวิปัสสนา