จิตตสังเขป บทที่ ๑๐ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรม

จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จึง จําแนกจิตโดยนัยของเวทนาเภท คือ โดยประเภทของเวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างกัน คือ

โสมนสฺสสหคตํ จิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาเจตสิก (ความรู้สึกดีใจ)

โทมนสฺสสหคตํ จิตเกิดร่วมกับโทมนัสเวทนาเจตสิก (ความรู้สึกเสียใจ)

อุเปกฺขาสหคตํ จิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาเจตสิก (ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์)

สุขสหคตํ จิตเกิดร่วมกับสุขเวทนาเจตสิก (ความรู้สึกเป็นสุขทางกาย)

ทุกขสหคตํ จิตเกิดร่วมกับทุกขเวทนาเจตสิก (ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย)

ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น ขณะนั้นต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ฉะนั้น เวทนาเจตสิกดวงหนึ่งเกิดกับจิตดวงหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นเวทนาเจตสิกประเภทใด จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ แต่เวทนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้สึกดีใจหรือเสียใจ สุขหรือทุกข์ หรือเฉยๆ ในขณะที่รู้อารมณ์

เมื่อจิตต่างกันโดยชาติ คือ เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยา เจตสิกที่เกิดกับจิตใดก็ต้องเป็นชาติเดียวกับจิตนั้น อกุศลเจตสิกจะเกิดกับกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิตไม่ได้ กุศลเจตสิกจะเกิดกับอกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิตไม่ได้ วิบากเจตสิกก็เกิดกับอกุศลจิต กุศลจิต และกิริยาจิตไม่ได้

ฉะนั้นเวทนาเจตสิกจึงต่างกัน เป็น กุศล อกุศล วิบาก กิริยา เช่นเดียวกับเจตสิกอื่นๆ ด้วย แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละประเภทไว้โดยละเอียด ก็จะมีผู้เข้าใจผิดในลักษณะของเวทนาเจตสิก เช่น ทุกขเวทนาทางกาย ซึ่งเป็นความรู้สึกไม่สบาย ปวด เจ็บนั้น เกิดร่วมกับกายวิญญาณซึ่งเป็นจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายที่เกิดขึ้นชั่วขณะจิตเดียว ไม่ใช่ขณะที่รู้สึกโทมนัส ไม่แช่มชื่นเมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทางกายแล้ว เมื่อจิตแต่ละขณะต่างกันโดยละเอียดตามเวทนา เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตแต่ละขณะ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า จิตที่เป็นอกุศลแต่ละประเภทนั้นมีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย จิตที่เป็นวิบากแต่ละประเภทนั้นมีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย จิตที่เป็นกิริยาแต่ละประเภทนั้นมีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย

ชั่วขณะที่รู้สึกเจ็บนั้นเป็นทุกขเวทนาทางกาย เป็นอกุศลวิบาก แต่ขณะที่ไม่พอใจ เดือดร้อนกังวลเพราะทุกขเวทนานั้นไม่ใช่วิบาก ขณะนั้นอกุศลเวทนาเกิดกับอกุศลจิตจึงไม่สบายใจ

การศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียดทําให้เข้าใจสภาพของเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตได้ถูกต้อง มิฉะนั้นก็จะพอใจ หลงติดในโสมนัสเวทนา ในสุขเวทนา หรือในอุเบกขาเวทนา โดยไม่รู้ว่าเวทนาขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นวิบาก ขณะใดเป็นกิริยา

ในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ สนิมิตตวรรคที่ ๓ ข้อ ๓๒๘ มีข้อความว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นบาปอกุศล มีเวทนาจึงเกิดขึ้น ไม่มีเวทนาไม่เกิดขึ้น เพราะละเวทนานั้น ธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นจึงไม่มีด้วยประการ ดังนี้ ฯ

(ข้ออื่นๆ กล่าวถึงสัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ และจิตซึ่งเป็นวิญญาณขันธ์)

แสดงว่าเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นความรู้สึกนั้น เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น เมื่อไม่รู้ความจริงของเวทนาเจตสิก ก็ไม่สามารถละความรู้สึกว่าเป็นเราได้

การรู้สภาพของเวทนาเจตสิกจะเกื้อกูลให้สติเริ่มระลึกรู้ ลักษณะของเวทนาได้ มิฉะนั้นก็จะไม่ระลึกได้เลยว่าในวันหนึ่งๆ นั้นมีเวทนา เช่นเดียวกับในวันหนึ่งๆ ก็มีแต่สภาพที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะจิตเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมนั้นๆ แต่ลองคิดดูว่าถ้าเห็นแล้วไม่มีความรู้สึกอะไรเลยก็ไม่เดือดร้อน ถ้าได้ยินแล้วไม่รู้สึกอะไรเลยก็ไม่เดือดร้อนอีกเหมือนกัน เมื่อได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ แล้วไม่รู้สึกอะไรเลยก็ไม่เดือดร้อน ก็ย่อมไม่มีบาปอกุศลกรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อมีความรู้สึกเกิดขึ้น จึงติดและยึดมั่นในความรู้สึก และอยากได้สิ่งที่ทําให้รู้สึกดีใจเป็นสุข ทําให้อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นบ่อยๆ เนื่องๆ โดยไม่รู้ตัว ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถยับยั้งไม่ให้เวทนาเจตสิกเกิดขึ้น ไม่ว่าจิตเกิดขึ้นขณะใด ก็จะต้องมีเวทนาเจตสิกที่รู้สึกในอารมณ์ขณะนั้น ขณะนี้เวทนาเจตสิกย่อมจะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือ อุเบกขาเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา การศึกษาธรรมไม่ใช่เพียงเพื่อให้รู้จํานวนหรือรู้ชื่อ แต่เพื่อให้รู้ลักษณะของความรู้สึกซึ่งกําลังมี ซึ่งถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกที่กําลังมีในขณะนี้ แม้ความรู้สึกนั้นมีจริงเกิดขึ้นแต่ก็ดับไปแล้ว เมื่อไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของความรู้สึก ก็ย่อมจะยึดถือความรู้สึกว่าเป็นเราซึ่งเป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ

ฉะนั้น ตราบใดที่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก ย่อมไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะทุกคนยึดมั่นในความรู้สึกว่าเป็นสิ่งสําคัญในชีวิต ทุกคนต้องการความรู้สึกที่เป็นสุข ไม่มีใครต้องการความรู้สึกเป็นทุกข์ ฉะนั้น ไม่ว่าจะมีทางใดที่จะให้เกิดสุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนา ก็ย่อมจะพยายามขวนขวายให้เกิดความรู้สึกนั้น โดยไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นการติด เป็นความพอใจยึดมั่นในความรู้สึก ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เมื่อความรู้สึกเป็นสิ่งสําคัญที่ทุกคนยึดถือ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเวทนาเจตสิก ๑ ดวง เป็นเวทนาขันธ์ เพราะเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นที่ยึดมั่นว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล อย่างสําคัญชนิดหนึ่ง การที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นปรากฏนั้น จะต้องอาศัยการศึกษา การฟังเรื่องของสภาพธรรมให้ละเอียดยิ่งขึ้น และพิจารณาพิสูจน์สภาพธรรมที่มีจริงนั้นในชีวิตประจําวันด้วย

เวทนาเจตสิกมี ๔ ชาติ คือ เวทนาที่เป็นกุศล ๑ เวทนาที่เป็นอกุศล ๑ เวทนาที่เป็นวิบาก ๑ เวทนาที่เป็นกิริยา ๑ เวทนาเป็นสังขตธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เวทนาที่เป็นวิบากย่อมเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เวทนาที่เป็นกุศล อกุศล กิริยา ไม่ใช่วิบาก จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่ก็จะต้องเกิดเพราะปัจจัยอื่น โดยนัยของเวทนา ๕ นั้น สุขเวทนาทางกายและทุกขเวทนาทางกายเป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรม เวทนาเจตสิกที่เป็นวิบากนั้น มีกรรมที่ได้กระทําแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นรู้สึกอารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามประเภทของวิบากนั้นๆ

ขณะเห็น จักขุวิญญาณเป็นวิบากจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ซึ่งเป็นวิบากเจตสิกและวิบากเจตสิกอื่นๆ โสตวิญญาณฆานวิญญาณ และชิวหาวิญญาณก็โดยนัยเดียวกัน แต่กายวิญญาณอกุศลวิบากซึ่งรู้แจ้งลักษณะต่างๆ ของโผฏฐัพพารมณ์ที่กระทบสัมผัสกายนั้นเกิดร่วมกับทุกขเวทนา และกายวิญญาณกุศลวิบากเกิดร่วมกับสุขเวทนา ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงเวทนาที่เกิดกับจิตประเภทต่างๆ ได้ กายวิญญาณเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เมื่อกายปสาทรูปกระทบกับมหาภูตรูป (เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว) ที่เป็นอิฏฐารมณ์ สุขเวทนาก็เกิด เมื่อกายปสาทรูปกระทบกับมหาภูตรูปที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ทุกขเวทนาก็เกิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นปรากฏที่กายเป็นทุกขเวทนา หรือสุขเวทนาเท่านั้น จะเป็นอุเบกขาเวทนา หรือโสมนัสเวทนา หรือ โทมนัสเวทนาไม่ได้เลย ต้องแยกเวทนาทางกายและทางใจ ขณะที่เป็นกายวิญญาณ สุขเวทนา หรือทุกขเวทนา เป็นชาติวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม แต่ขณะที่เดือดร้อนเป็นห่วงกังวลนั้น เป็นความรู้สึกไม่สบายใจ ขณะนั้นจึงไม่ใช่ผลของอดีตกรรม แต่เป็นผลของการสะสมของอกุศลธรรม จึงเกิดความรู้สึกไม่สบายใจไม่แช่มชื่น

นอกจากทุกขเวทนาและสุขเวทนาซึ่งเป็นชาติวิบากอย่างเดียวเท่านั้น และโทมนัสเวทนาซึ่งเป็นชาติอกุศลอย่างเดียวเท่านั้น เวทนาอื่น คือโสมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนานั้น เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นวิบากก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ นี่เป็นความต่างกันซึ่งแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย

เคยระลึกรู้ลักษณะของเวทนาบ้างหรือยัง ขณะนี้เวทนากําลังเกิดขึ้นและกําลังดับไป บางท่านอาจจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของรูปที่กําลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย บางท่านอาจจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ในขณะกําลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ และนึกคิด แต่นั่นไม่พอ เพราะสติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กําลังปรากฏทั้ง ๕ ขันธ์ คือ ทั้งรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เมื่อสติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเหล่านี้จริงๆ ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ เพราะกิเลสไม่ใช่สิ่งซึ่งจะดับได้ด้วยความไม่รู้หรือโดยไม่มีสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏจนทั่วจริงๆ

ขณะที่กําลังหลับมีเวทนาเจตสิกไหม ธรรมเป็นเรื่องที่น่าคิด น่าพิจารณา เพราะยิ่งคิดยิ่งพิจารณาก็ยิ่งทําให้เข้าใจธรรมแจ่มแจ้งขึ้น ฉะนั้น จึงน่าคิดพิจารณาว่าในขณะที่กําลังหลับนั้นมีความรู้สึกไหม ขณะที่กําลังนอนหลับสนิท ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ได้นึกคิด ไม่ได้ฝัน แต่เมื่อยังไม่ใช่ผู้ที่สิ้นชีวิตก็ย่อมจะต้องมีจิตเกิดดับเป็นภวังคจิต ดํารงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะตื่นขึ้น แล้วจึงจะเห็นโลกนี้ต่อไปอีกจนกว่าจะถึงเวลาหลับอีก ขณะหลับสนิทนั้นไม่รู้อะไรในโลกนี้เลยสักอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยชอบ เคยคิดนึกถึง ในขณะที่นอนหลับสนิทนั้นไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏเลย แต่จิตก็เกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ นามขันธ์ทั้ง ๔ คือ จิตและเจตสิกต้องเกิดร่วมกัน แยกกันไม่ได้เลย ขณะที่นอนหลับสนิทเป็นวิบากจิต เป็นผลของอดีตกรรม จึงทําให้คนที่หลับนั้นยังไม่ตาย เพราะวิบากจิตเกิดดับสืบต่อดํารงภพชาติอยู่ และเมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เวทนาเจตสิกที่เกิดกับภวังคจิตเป็นวิบากเจตสิกที่รู้สึกอารมณ์เดียวกับภวังคจิต คือ ไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ จึงไม่รู้สึกตัวอย่างขณะที่จิตกําลังเห็นทางตา กําลังได้ยินทางหู เป็นต้น ไม่มีใครสามารถรู้ลักษณะของเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดในขณะที่กําลังหลับได้ แต่เมื่อตื่นขึ้นก็น่าที่จะคิดอีกว่าอะไรตื่น ตอนหลับก็น่าจะคิดว่าอะไรหลับ รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปจึงไม่ตื่นไม่หลับ แต่นามธรรมเป็นสภาพรู้เมื่อไม่รู้อารมณ์ที่ปรากฏในโลกนี้จึงชื่อว่าหลับ แต่จิตก็ยังเกิดดับสืบต่อดํารงภพชาติอยู่จึงยังไม่ตาย

ขณะที่ตื่นนั้น อะไรตื่น จิต เจตสิกตื่นโดยเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะใดที่รู้อารมณ์ของโลกนี้ ขณะนั้นตื่น แต่ก็น่าที่จะพิจารณาให้ละเอียดขึ้นไปอีก เพื่อประโยชน์แก่การเจริญสติปัฏฐาน เพราะการแสดงธรรมนั้นจุดประสงค์เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และเป็นวิริยารัมภกถา คือ คําพูดที่อุปการะเกื้อกูลให้เกิดวิริยะที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ฉะนั้น ก็ควรที่จะพิจารณาว่า ขณะที่ตื่นนั้น จิต เจตสิก เกิดขึ้นรู้อารมณ์ของโลกนี้ตามที่เข้าใจกัน แต่ก็น่าจะคิดให้ลึกซึ้งขึ้นอีกว่า อะไรตื่น จิต เจตสิกเกิดตื่นขึ้นพร้อมกัน วิบากจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง โดยยับยั้งไม่ได้เลย วิบากจิตเป็นผลของกรรม เกิดขึ้นแล้วดับไป จะหลับอยู่ตลอดไปได้ไหม ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย กรรมไม่ได้ทําให้เกิดขึ้นในชาตินี้แล้วหลับไปจนกระทั่งตาย แต่ว่ากรรมเป็นปัจจัยให้มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่น่าพอใจเป็นผลของกุศลกรรม เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเป็นผลของอกุศลกรรม ได้ยินเสียงที่ดีเป็นผลของกุศลกรรม ได้ยินเสียงที่ไม่ดีเป็นผลของอกุศลกรรม เป็นต้น

ฉะนั้น วิบากจิตและเจตสิกเกิดตื่นขึ้น รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในชีวิตประจําวัน นอกจากนั้นแล้วยังมีอะไรอีก เมื่อตื่นแล้วนอกจากวิบากจิตเกิดขึ้น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งกระทบสัมผัสแล้ว อกุศลธรรมหรือกิเลสทั้งหลายก็เริ่มตื่น เพราะขณะหลับอยู่นั้นมีอนุสัยกิเลส คือ กิเลสที่ยังไม่ได้ดับ สะสมอยู่ในภวังคจิตทุกดวงที่เกิดดับ ในขณะหลับนั้นกิเลสไม่ได้เกิดขึ้นกระทํากิจ ยินดี ยินร้าย เพราะยังไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัสอารมณ์ใดๆ ของโลกนี้ ขณะหลับสนิทอยู่นั้นกิเลสทั้งหลายก็ยังหลับอยู่ด้วย แต่เมื่อตื่นขึ้นแล้วกิเลสก็ตื่นขึ้นด้วย คือ หลังจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายแล้ว กิเลสทั้งหลายก็เกิดร่วมกับอกุศลจิต ตามเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลธรรมประเภทนั้นๆ

เมื่อจําแนกจิตโดยภูมิ ๔ คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โลกุตตรภูมินั้น จิตประณีตขึ้นตามลําดับขั้น แต่จิตของคนส่วนมากก็เป็นกามาวจรภูมิ คือ เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กามาวจรจิตเป็นภูมิขั้นต้นของระดับของจิต คือ เมื่อตื่นขึ้นก็เห็น ได้ยิน ผลัดเปลี่ยนเวียนไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในวันหนึ่งๆ จิตที่เกิดขึ้นนั้นนอกจากจะเป็นภูมิขั้นต้นแล้ว โดยชาติยังเป็นชาติที่เลวอีก คือ เป็นอกุศลจิตที่ตื่นขึ้นเป็นประจําขณะที่กุศลจิตไม่เกิด เมื่อเห็นก็ยินดีติดข้อง เมื่อได้ยินก็พอใจติดข้องในเสียงที่ได้ยิน เป็นปกติธรรมดา เพราะส่วนใหญ่โลภมูลจิตเกิดบ่อยกว่าโทสมูลจิต ซึ่งเป็นสภาพจิตที่หยาบกระด้างไม่แช่มชื่น

ในวันหนึ่งๆ ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า มีอกุศลจิต มากกว่ากุศลจิต ถ้าไม่รู้ก็จะอบรมเจริญกุศลให้พ้นจากสภาพของจิตที่เลวไม่ได้ ยังคงเป็นอกุศลจิตอยู่มากเหมือนเดิม และยังมีความยินดีพอใจในอกุศลนั้นๆ โดยไม่เห็นว่าเป็นโทษ ฉะนั้น ก็ควรทราบว่า ที่ตื่นขึ้นมานั้นส่วนใหญ่แล้วกิเลสตื่นทั้งนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่ว่ากิเลสของใครจะวุ่นวายแค่ไหน จะทําให้เกิดความเดือดร้อนใจและกายสักแค่ไหน ซึ่งเมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ควรขวนขวายอบรมเจริญกุศลยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขั้นทาน ศีล ความสงบของจิต หรือขั้นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏ

ไม่ใช่ว่าใครสามารถจะละโลภะได้เสียก่อน แล้วจึงจะอบรมเจริญปัญญาที่จะเป็นพระโสดาบันในภายหลัง ถึงแม้ว่าโลภะจะเกิดขึ้นก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ปัญญาจะต้องระลึกรู้ลักษณะของโลภะตามความเป็นจริงว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดดับ

เวทนา ๕ เกิดกับจิตต่างๆ ดังนี้ คือ

สุขเวทนาเกิดกับกายวิญญาณกุศลวิบากจิต ๑ ดวง

ทุกขเวทนาเกิดกับกายวิญญาณอกุศลวิบากจิต ๑ ดวง

โทมนัสเวทนาเกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

โสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนาเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้

โทมนัสเวทนาเกิดกับจิตที่เป็นกุศล วิบาก กิริยาไม่ได้ เกิดได้เฉพาะกับจิตที่เป็นอกุศล คือ โทสมูลจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น ถ้าไม่รู้อย่างนี้ บางท่านอาจจะเข้าใจว่าอกุศลเป็นกุศล เช่น เวลาสงสารคนที่ทุกข์ยากเดือดร้อน ใคร่ที่จะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์ยาก ขณะที่จิตเกิดกรุณานั้นเป็นกุศลจิตที่มีกรุณาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งจะต้องรู้ลักษณะของเวทนาด้วยว่ารู้สึกไม่แช่มชื่นบ้างหรือเปล่า ถ้ารู้สึกโทมนัสเสียใจไม่แช่มชื่นก็เป็นอกุศลจิต ไม่ใช่ขณะเดียวกับที่จิตเกิดร่วมกับกรุณาเจตสิก เมื่อรู้อย่างนี้ก็จะละคลายความรู้สึกเสียใจโทมนัส ไม่แช่มชื่นซึ่งเป็นอกุศล และสามารถช่วยคนอื่นให้พ้นความทุกข์ยากได้โดยแช่มชื่น ไม่โทมนัส ไม่เสียใจ ฉะนั้น จึงต้องรู้ว่าขณะใดเป็นอกุศล จึงจะละคลายได้ เพราะโดยมากเข้าใจกันว่า เมื่อสงสารคนที่กําลังเป็นทุกข์เดือดร้อน ก็จะต้องพลอยเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์กับบุคคลนั้นด้วย ถ้าถามว่าขณะนี้รู้สึกอย่างไร บางคนก็ตอบว่าเฉยๆ บางคนก็ดีใจ บางคนก็ไม่สบายใจ แม้เวลาที่สติระลึกตรงลักษณะของความรู้สึกนั้น ก็ยากที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ความรู้สึกนั้นๆ เป็นเพียงสภาพรู้ เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ

ขณะที่เสียงปรากฏ โสตวิญญาณเป็นสภาพรู้ที่ได้ยินเสียงนั้น ขณะนั้นมีเวทนาเจตสิกที่รู้สึกเกิดพร้อมกับโสตวิญญาณ เมื่อผัสสเจตสิกเกิดขึ้นกระทบอารมณ์นั้น จะไม่ให้เวทนาเจตสิกเกิดไม่ได้เลย เมื่อสติสามารถเริ่มระลึกรู้ลักษณะของจิตบ้าง หรือเวทนาเจตสิกบ้าง ก็ย่อมเป็นปัจจัยสะสมเกื้อกูลให้ไม่หลงลืม ดังนั้นเวลารู้สึกเฉยๆ ดีใจ สุข ทุกข์ หรือเสียใจนั้น แทนที่จะยิ่งเสียใจ สติก็ระลึกรู้ได้ว่าขณะนั้นก็เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ฉะนั้น สติปัฏฐานจึงมีคุณประโยชน์ที่ละคลายทุกข์ ในขณะที่รู้สึกไม่แช่มชื่นได้

คําถามทบทวน

๑. อุเบกขาเวทนา โสมนัสเวทนา เป็นชาติอะไร

๒. ทุกขเวทนา สุขเวทนา เป็นชาติอะไร

๓. โทมนัสเวทนา เป็นชาติอะไร

๔. ขณะหลับสนิท เวทนาเจตสิก เป็นชาติอะไร

๕. รูปตื่นหรือหลับได้ไหม เพราะอะไร

เปิด  683
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ