จิตตสังเขป บทที่ ๑๑ สัมปยุตตธรรม
สัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่จําแนกจิตให้ต่างกัน โดยประเภทต่อไป คือ โดยสัมปยุตต์ หรือวิปปยุตต์
อกุศลสัมปยุตต์ ๔ คือ
ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ จิตเกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิก คือ ความเห็นผิด
ปฏิฆสัมปยุตต์ จิตเกิดร่วมกับโทสเจตสิก
วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ จิตเกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิก คือความสงสัยในสภาพธรรม
อุทธัจจสัมปยุตต์ จิตเกิดร่วมกับอุทธัจจเจตสิก คือ สภาพธรรมที่ไม่สงบ
โสภณสัมปยุตต์ ๑ คือ
ญาณสัมปยุตต์ จิตเกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก
อกุศลจิต ๑๒ ดวง จําแนกโดยสัมปยุตต์
โลภมูลจิต ๘ ดวง
เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิกความเห็นผิด เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง
ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง
โทสมูลจิต ๒ ดวง เป็นปฏิฆสัมปยุตต์ คือ เกิดร่วมกับโทสเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้างทั้ง ๒ ดวง
โมหมูลจิต ๒ ดวง
เกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิก เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง
เกิดร่วมกับอุทธัจจเจตสิก เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ ๑ ดวง
รวมอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นสัมปยุตต์ ๘ ดวง เป็น วิปปยุตต์ ๔ ดวง
โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ (และทิฏฐิคตวิปปยุตต์) นั้นต่างกันเป็น ๔ คือ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๒ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๒ ดวง
รวมโลภมูลจิต ๘ ดวง คือ
โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
โทสมูลจิต ๒ ดวงนั้นเกิดร่วมกับปฏิฆะ คือ โทสเจตสิก จึงเป็นปฏิฆสัมปยุตต์ทั้ง ๒ ดวง เพราะเมื่อโทมนัสเวทนาเกิดขึ้นนั้น ต้องมีโทสเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้างประทุษร้ายเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ไม่เหมือนกับโสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนา ซึ่งเกิดร่วมกับโลภมูลจิต หรือกุศลจิต หรือวิบากจิต หรือกิริยาจิตก็ได้ ฉะนั้น เมื่อโทสมูลจิต ๒ ดวง เกิดร่วมกับโทมนัสเวทนาจึงต้องเป็นปฏิฆสัมปยุตต์ทั้ง ๒ ดวง และโทสมูลจิตต่างกันเป็น ๒ ดวง ก็เพราะเป็นอสังขาริก คือ เกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยการชักจูง ๑ และเป็น สสังขาริก คือ เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง ๑ ดังนั้น โทสมูลจิต ๒ ดวง คือ
โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ
โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ
โมหมูลจิตต่างกันเป็น ๒ ดวง คือ ดวงหนึ่งเป็นวิจิกิจฉา สัมปยุตต์ เกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิกซึ่งสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขันธ์ ธาตุ อดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นต้น อีกดวงหนึ่งเป็น อุทธัจจสัมปยุตต์
โมหเจตสิก เป็นเจตสิกที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้ว่ากําลังเผชิญหน้ากับอารมณ์ ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะที่แท้จริงของอารมณ์ที่ปรากฏได้ เช่น ในขณะที่กําลังเห็นนี้ ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เมื่อไม่รู้ก็สงสัยว่าลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตานั้น ต่างกับที่เคยเข้าใจว่าสิ่งที่เห็นเป็นคน หรือเป็นวัตถุสิ่งของอย่างไร ขณะใดที่สงสัย ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าความสงสัยจะเกิดตลอดเวลา ขณะใดที่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิตที่เกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิก
โดยปกติ เมื่อเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายแล้ว ถ้าขณะนั้นจิตที่เกิดต่อไม่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตประเภทอื่นๆ ก็เป็นโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฉะนั้น จึงรู้ลักษณะของโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ได้ว่า ขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้นกําลังไม่รู้ในสภาพของอารมณ์ที่ปรากฏ และขณะที่อกุศลจิตไม่เกิดร่วมกับโลภเจตสิก หรือโทสเจตสิก และวิจิกิจฉาเจตสิก อกุศลจิตขณะนั้นก็เป็น โมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์ ดังนั้น โมหมูลจิต ๒ ดวง คือ
อุเปกฺขาสหคตํ วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตฺตํ ๑ ดวง
อุเปกฺขาสหคตํ อุทฺธจฺจสมฺปยุตฺตํ ๑ ดวง
รวมอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นสัมปยุตต์ ๘ ดวง เป็น วิปปยุตต์ ๔ ดวง
คําถามทบทวน
๑. ทิฏฐิเจตสิก เกิดกับจิตกี่ดวง
๒. ทิฏฐิเจตสิก เกิดร่วมกับเวทนาอะไร
๓. โทสเจตสิก เกิดร่วมกับเวทนาอะไร
๔. โสมนัสเวทนา เกิดกับอกุศลจิตประเภทใด
๕. อุเบกขาเวทนา เกิดกับอกุศลจิตอะไรบ้าง
- พระพุทธศาสนามีองค์ ๙
- ปรมัตถธรรมสังเขป
- จิตตสังเขป บทที่ ๑ ความสำคัญของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๒ คำอธิบายจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๓ คำอธิบายจิต (ต่อ)
- จิตตสังเขป บทที่ ๔ วิถีจิต, ทวาร, วัตถุ
- จิตตสังเขป บทที่ ๕ ชาติของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๖ จิต ๘๙ จำแนกเป็น ๔ ชาติ, กิจของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๗ อรรถของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๘ อรรถของจิต (ต่อ)
- จิตตสังเขป บทที่ ๙ ภูมิของจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๐ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรม
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๑ สัมปยุตตธรรม
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๒ คำอธิบาย อสังขาริก และ สสังขาริก
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๓ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรมที่เป็นเหตุ
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๔ จิตต่างกันโดยนัยของโสภณะและอโสภณะ
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๕ จิตต่างกันโดยนัยของโลกิยจิตและโลกุตตรจิต
- จิตตสังเขป บทที่ ๑๖ อรรถของจิตประการที่ ๕ ชื่อว่า จิต เพราะกระทำให้วิจิตร
- บัญญัติ
- ภาคผนวก จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท
- ภาคผนวก เจตสิก ๕๒ ประเภท
- ภาคผนวก รูป ๒๔ ประเภท
- สมถภาวนา
- วิปัสสนาภาวนา
- แนวทางเจริญวิปัสสนา