จิตตสังเขป บทที่ ๑๒ คำอธิบาย อสังขาริก และ สสังขาริก

จิตต่างกันโดยประเภทของสังขาร คือ เป็นอสังขาริก หรือ สสังขาริก

คําว่า สังขาร ในพระไตรปิฎกมีความหมายหลายนัย คือ

สังขารธรรม ๑

สังขารขันธ์ ๑

อภิสังขาร ๑

อสังขาริก และสสังขาริก ๑

สังขารธรรม คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยที่สุดแล้วก็ดับไปหมดสิ้น

สังขารธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก และรูป

ปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ปรมัตถธรรม ๓ คือจิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น และตั้งอยู่ชั่วขณะที่สั้นมากแล้วก็ดับไป นิพพานไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง นิพพานจึงเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ นิพพานเป็นวิสังขารธรรม

สังขารธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป จําแนกเป็นขันธ์ ๕ คือ

รูปทุกรูป เป็น รูปขันธ์

เวทนาเจตสิก ๑ ดวง เป็น เวทนาขันธ์

สัญญาเจตสิก ๑ ดวง เป็น สัญญาขันธ์

เจตสิกที่เหลือ ๕๐ ดวง เป็น สังขารขันธ์

จิตทุกดวง เป็น วิญญาณขันธ์

ฉะนั้น สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง เว้นเวทนา เจตสิก และสัญญาเจตสิก ส่วนสังขารธรรม ได้แก่ จิตทั้งหมด ๘๙ ดวง เจตสิกทั้งหมด ๕๒ ดวง รูปทั้งหมด ๒๘ รูป

ความหมายของสังขารธรรมกว้างกว่าสังขารขันธ์ เพราะจิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม แต่เฉพาะเจตสิก ๕๐ ดวง เท่านั้นที่เป็นสังขารขันธ์ และในเจตสิก ๕๐ ดวง ซึ่งเป็นสังขารขันธ์นั้น เฉพาะเจตนาเจตสิกดวงเดียวเท่านั้นที่เป็นอภิสังขาร ในปฏิจจสมุปปาท อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ ฯลฯ สังขารในปฏิจจสมุปปาทหมายถึง เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นอภิสังขาร เป็นสภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง คือ เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ซึ่งจะทําให้เกิดผล คือ วิบากจิตและเจตสิก แม้ว่าเจตสิกอื่นๆ ก็ปรุงแต่งให้จิตเกิดขึ้น เช่น ผัสสเจตสิก ถ้าไม่มีผัสสเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ จิตเห็นก็มีไม่ได้ จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งกระทบสัมผัส จิตคิดนึกต่างๆ ก็มีไม่ได้ แต่ผัสสเจตสิกก็ไม่ใช่อภิสังขาร เพราะเพียงกระทบอารมณ์แล้วก็ดับหมดสิ้นไป

ฉะนั้น ในสังขารขันธ์ ๕๐ ดวงนั้น เฉพาะเจตนาเจตสิกดวงเดียวเท่านั้นที่เป็นอภิสังขาร คือเป็นสภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง โดยเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เป็นกัมมปัจจัยที่ทําให้ผล คือ วิบากจิตเกิดขึ้น

สังขารในปฏิจจสมุปปาทมี ๓ คือ ปุญญาภิสังขาร ๑ อปุญญาภิสังขาร ๑ อาเนญชาภิสังขาร ๑

ปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกามาวจรกุศลจิต และรูปาวจรกุศลจิต

อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต

อาเนญชาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอรูปาวจรกุศลจิต ซึ่งเป็นกุศลที่มั่นคงไม่หวั่นไหว

กามาวจรกุศลจิตเกิดขึ้นชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ และหวั่นไหวง่าย เพราะเกิดขึ้นวาระหนึ่งๆ เพียงชั่ว ๗ ขณะเท่านั้น การให้ทาน การวิรัติทุจริต การเจริญกุศลอื่นๆ ย่อมเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว นอกจากนั้นอกุศลจิตก็เกิดมากมายหลายวาระทีเดียว รูปาวจรกุศลจิตเป็นกุศลญาณสัมปยุตต์ ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก เป็นจิตที่สงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิที่มีรูปเป็นอารมณ์ จึงเป็นมหัคคตกุศลที่ใกล้เคียงกับกามาวจรกุศล เพราะยังมีรูปเป็นอารมณ์ อาเนญชาภิสังขารเป็นอรูปฌาน คือเป็นปัญจมฌานที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ จิตในขณะนั้นไม่หวั่นไหวเพราะไม่มีรูปเป็นอารมณ์ จึงให้ผลอย่างไพบูลย์ คือ ทําให้อรูปฌานวิบากจิตเกิดในอรูปพรหมภูมิ ซึ่งมีอายุที่ยืนยาวมากตามกําลังของอรูปาวจรกุศลจิต การเกิดในสวรรค์เป็นสุขเพราะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ทุกข์ยาก ลําบากกายอย่างในภูมิมนุษย์และในอบายภูมิ แต่มีอายุไม่ยืนยาวเท่ารูปพรหมภูมิ และรูปพรหมภูมิก็มีอายุไม่ยืนยาวเท่ากับอรูปพรหมภูมิ เพราะอรูปพรหมภูมิเป็นผลของอรูปฌานกุศล ซึ่งเป็นอาเนญชาภิสังขาร

สังขารธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ (เว้นเวทนาเจตสิก และสัญญาเจตสิก)

อภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิก ๑ ดวง (เป็นสังขารขันธ์ ๑ ในสังขารขันธ์ ๕๐ ดวง)

การจําแนกความต่างกันของจิตโดยประเภทอสังขาริกและสสังขาริกนั้นแสดงให้เห็นว่า แม้กุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือวิบากจิต หรือกิริยาจิต ซึ่งเกิดร่วมกับเจตนาเจตสิกนั้นก็ยังต่างกันออกไปโดยประเภทที่เป็นอสังขาริกบ้าง และเป็นสสังขาริกบ้าง ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความอธิบายว่า ชื่อว่า สสังขารเพราะเป็นไปกับด้วยสังขาร (เครื่องชักจูง) สังขารในที่นี้หมายความถึงชักจูงด้วยตนเอง หรือผู้อื่นชักจูง หรือสั่งให้กระทํา นี่เป็นสภาพจิตในชีวิตประจําวัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม บางครั้งก็เกิดขึ้นเองโดยอาศัยการสะสมมาในอดีต เป็นปัจจัยแรงกล้าที่ทําให้กุศลหรืออกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดมีกําลังเกิดขึ้นเอง ไม่ต้องอาศัยการชักจูงใดๆ เลย สภาพจิตที่เกิดโดยไม่อาศัยการชักจูงนั้นเป็นอสังขาริก คือ ไม่อาศัยการชักจูง แต่ว่าบางครั้งบางขณะไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตามที่เกิดขึ้นนั้นมีกําลังอ่อน เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยการชักจูงของตนเอง หรือการชักจูงของบุคคลอื่นก็ได้ อกุศลและกุศลที่มีกําลังอ่อนที่อาศัยการชักจูงนั้นเป็นสสังขาริกจิต

นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ยังต่างกัน บางขณะเป็นกุศลหรืออกุศลที่มีกําลังแรง เกิดขึ้นโดยมีการสะสมของตนเองเป็นปัจจัย และบางครั้งบางขณะก็เป็นกุศลหรืออกุศลที่มีกําลังอ่อน ต้องอาศัยการชักจูงของตนเองหรือการชักจูงของบุคคลอื่นจึงเกิดขึ้นได้

บางครั้งอกุศลจิตมีกําลังเกิดขึ้นทันทีตามการสะสมที่พอใจหรือไม่พอใจอารมณ์ขณะนั้น แต่บางครั้งไม่เป็นอย่างนั้น เช่น ไม่ค่อยอยากไปดูหนังหรือละคร แต่เมื่อญาติพี่น้องเพื่อนฝูงชวนก็ไป จิตในขณะนั้นอยากจะไปหรือเปล่า ไปดูก็ได้ไม่ดูก็ดี แต่เมื่อมีใครชวนก็ไป ถ้าลําพังคนเดียวก็ไม่ไป หรือบางครั้งก็นึกว่าหนังเรื่องนี้ก็คงจะสนุกน่าดู ก็อยากจะไปเหมือนกัน แต่ไม่ไปเพราะว่ายังไม่มีกําลังกล้าถึงกับจะไปทันที ชีวิตประจําวันจริงๆ นั้นรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นจิตที่มีกําลังกล้า หรือขณะใดเป็นจิตที่มีกําลังอ่อน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอกุศลที่เป็นโลภะ โทสะ หรือฝ่ายกุศลก็ตาม บางคนเมื่อทราบข่าวว่ามีการทอดกฐินก็อยากจะไปทันที และชักชวนคนอื่นไปด้วย แต่บางคนนั้นถึงแม้ว่าจะถูกชักชวนแล้ว แต่ถ้าคนนี้ไม่ไปคนนั้นไม่ไปก็ไม่ไปด้วย ฉะนั้น สภาพของกุศลจิตและอกุศลจิตก็มีกําลังต่างกันตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น แม้ว่าจะมีเจตสิกประกอบเท่ากันก็ตาม

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอสังขาริกจิตและสสังขาริกจิต เพื่อให้เห็นความละเอียดของจิตว่า แม้เป็นจิตที่มีจํานวนเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่ากัน ไม่ต่างกันเลย แต่สภาพของจิตก็ต่างกันเป็นอสังขาริก และสสังขาริก ตามกําลังของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพื่อที่จะให้เห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรมโดยละเอียด ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์แสดง “อนันตะ” ความกว้างใหญ่ที่สุด ๔ อย่างว่า

ในที่นี้ท่านถือเอา “อนันตะ” ๔ อย่าง ก็อนันตะ ๔ อย่าง คือ อากาศเป็นอนันตะไม่มีที่สุด ๑ จักรวาลเป็นอนันตะไม่มีที่สุด ๑ สัตตนิกาย คือ หมู่สัตว์เป็นอนันตะไม่มีที่สุด ๑ พุทธญาณเป็นอนันตะไม่มีที่สุด ๑

จริงอยู่การกําหนดอากาศว่าในทิศบูรพา ในทิศปัจฉิม ในทิศอุดร หรือในทิศทักษิณ มีเท่านั้นร้อยโยชน์หรือมีเท่านั้นพันโยชน์ย่อมไม่ได้ (ลองกําหนดอากาศทางทิศตะวันออกว่ามีเท่าไร กี่โยชน์ กี่ร้อยโยชน์ กี่พันโยชน์ ก็ไม่มีใครกําหนดได้ แม้ทิศอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน) แม้จะพึงเอาฆ้อนเหล็กขนาดเท่าเขาสิเนรุทุบแผ่นดินแยกเป็น ๒ ส่วนแล้วโยนฆ้อนเหล็กไป ฆ้อนเหล็กก็พึงตกลงไปข้างล่างโดยแท้ หามีที่รองรับไว้ได้ไม่ ชื่อว่าอากาศเป็นอนันตะ คือ ไม่มีที่สิ้นสุดเลยอย่างนี้

การกําหนดจักรวาลทั้งหลายว่ากี่ร้อย กี่พัน หรือกี่แสนจักรวาลย่อมไม่ได้ จริงอยู่แม้ถ้าว่าท้าวมหาพรหมทั้ง ๔ ผู้เกิดในอกนิฏฐภพ (รูปพรหมภูมิชั้นสุทธาวาสชั้นที่ ๕ ซึ่งเป็นรูปพรหมภูมิชั้นสูงที่สุด) ผู้มีความเร็วขนาดที่สามารถผ่านแสนจักรวาลไปได้ชั่วเวลาเพียงเท่าที่ลูกศรที่เร็วมากของนายขมังธนูผู้มีกําลังแข็งแรง ผ่านเงาต้นตาลด้านขวางจะพึ่งวิ่งมา ด้วยความเร็วขนาดนั้น ด้วยคิดว่าเราจักดูขอบแห่งจักรวาล ท้าวมหาพรหมเหล่านั้นไม่ทันได้เห็นขอบแห่งจักรวาล ก็จะพึงปรินิพพานก่อนโดยแท้ จักรวาลทั้งหลายจึงชื่อว่าเป็นอนันตะ ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้

ก็ประมาณแห่งสัตว์ที่อยู่ในน้ำ และที่อยู่บนบก ในจักรวาลทั้งหลายว่า มีประมาณเท่านี้ ย่อมไม่มี สัตตนิกายจึงชื่อว่า อนันตะ (ไม่มีที่สิ้นสุด) อย่างนี้

พุทธญาณ ชื่อว่า อนันตะแท้แม้กว่าอนันตะทั้ง ๓ นั้น

อากาศก็เห็นอยู่แล้วว่าไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีใครสามารถจะวัดว่ากี่ร้อย กี่พัน กี่แสนโยชน์ หรือแม้จักรวาล ก็ไม่มีใครสามารถจะนับได้ว่าทั้งหมดมีเท่าไร ใครอยากจะนับดาว นับจักรวาล ก็ไม่มีวันสําเร็จ เพราะว่าจักรวาลเป็นอนันตะไม่มีที่สิ้นสุด หรือแม้สัตตนิกาย คือ หมู่สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในจักรวาลก็ไม่มีใครสามารถทําสถิติว่ามีจํานวนเท่าไหร่ ทั้งมนุษย์ ทั้งเทพ ทั้งพรหม ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ ทั้งสัตว์ในอบาย แต่พุทธญาณชื่อว่าเป็นอนันตะ คือ ไม่มีที่สิ้นสุดแม้กว่าอนันตะทั้ง ๓ นั้น คือบรรดาสัตว์ที่หาประมาณมิได้ ในจักรวาลอันหาประมาณมิได้ ในอากาศอันหาประมาณมิได้ อย่างนี้

เมื่อคิดถึงสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในจักรวาลมากมายนับไม่ถ้วนแล้ว จิตของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นจะวิจิตรต่างๆ กันมากสักเพียงไหน

กุศลจิตที่เป็นกามาวจร สหรคตด้วยโสมนัส (เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา) เป็นญาณสัมปยุตต์ เป็นอสังขาริก (เกิดโดยไม่อาศัยการชักจูง) ย่อมเกิดแก่สัตว์หนึ่งๆ มากมาย แม้สัตว์มีจํานวนมาก จิตก็เกิดขึ้นมากดวง

กุศลจิตไม่ใช่มีดวงเดียว กุศลจิตที่เกิดแม้โดยประเภทที่เป็นกามาวจรกุศล ซึ่งเกิดพร้อมกับปัญญา คือเป็นญาณสัมปยุตต์ และเป็นอสังขาริก คือมีกําลังแรงกล้านั้นก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะดวงเดียว ต้องเป็นไปต่างๆ ตามจํานวนของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งจิตของคนหนึ่งเกิดขึ้นเพียงขณะหนึ่ง แม้จิตจะเกิดขึ้นมากดวงตามจํานวนของสัตว์ทั้งหลาย แต่กุศลจิตแม้ทั้งปวงเหล่านั้นก็เป็นอย่างเดียว โดยอรรถว่าเป็นกามาวจร โดยอรรถว่าสหรคตด้วยโสมนัส โดยอรรถว่าเป็นญาณสัมปยุตต์ โดยอรรถว่าโดยฐานะเป็นอสังขาริกด้วยกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกําหนดกามาวจรกุศลจิตแม้ทั้งปวงที่เกิดแก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ ในจักรวาลทั้งหลายอันหาประมาณมิได้อย่างนี้ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ดุจว่าทรงชั่งด้วยตราชั่งใหญ่ ประดุจทรงใส่ในทะนานนับอยู่ฉะนั้น และทรงกระทําให้ ๘ ส่วนเท่านั้น ทรงแสดงว่าจิตเหล่านั้น (กามาวจรกุศลจิต) มี ๘ ดวงพอดี โดยอรรถที่บัณฑิตพึงเห็นพ้องด้วย (คือ คัดค้านไม่ได้)

แสดงว่าถึงแม้ว่ากามาวจรกุศลจิตจะมีมาก แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงนับ และทรงจัดกามาวจรกุศลเป็นมหากุศล ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถที่จะคัดค้านได้โดยความต่างกันที่อุเบกขาเวทนา และโสมนัสเวทนา โดยความต่างกันที่จะประกอบด้วยปัญญาและไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยความต่างกันที่เป็นอสังขาริกและสสังขาริก

ดังนั้น กามาวจรกุศล หรือ มหากุศล ๘ ดวง คือ

ดวงที่ ๑ โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๒ โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๓ โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๔ โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๕ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๖ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๗ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ

ดวงที่ ๘ อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

เคยง่วง เคยเพลีย เคยเบื่อไหม บางขณะจิตคิดจะทํากุศลอย่างนั้นอย่างนี้ แต่แล้วก็อ่อนกําลังไป หรือว่าเกิดง่วงขึ้นมา สติจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นไหม ถ้าไม่ระลึกก็เป็นเรา ความง่วงมีจริง ความท้อถอย ความท้อแท้ ความเหนื่อยหน่าย ความรู้สึกอ่อนเพลียมีจริง ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง ก็ไม่รู้ว่าสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงลักษณะของจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงจิตโดยประเภทต่างๆ เช่น โดยประเภทที่เป็นอสังขาริกและสสังขาริก โลภมูลจิตที่เป็นอสังขาริกก็มี เป็นสสังขาริกก็มี โทสมูลจิตที่เป็นอสังขาริกก็มี สสังขาริกก็มี กุศลจิตที่เป็นอสังขาริกก็มี สสังขาริกก็มี ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้น ก็รู้ว่าเป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม

คําถามทบทวน

๑. สังขารธรรม สังขารขันธ์ อภิสังขาร อสังขาริก สสังขาริก คืออะไร

๒. โลภมูลจิต ๘ ดวง และมหากุศลจิต ๘ ดวง มีอะไรเหมือนกันและมีอะไรต่างกัน

เปิด  953
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ