จิตตสังเขป บทที่ ๑๓ จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรมที่เป็นเหตุ

จิตต่างกันโดยสัมปยุตตธรรมที่เป็น “เหตุ”

สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมนั้นจะเกิดขึ้นมาเองลอยๆ โดยไม่อาศัยปัจจัยอะไรเลยไม่ได้ ปรมัตถธรรมที่เป็นสังขารธรรมมี ๓ คือ จิต เจตสิก รูป จิตอาศัยเจตสิกเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น และจิตบางดวงก็อาศัยเจตสิกและรูปเป็นปัจจัยเกิดขึ้น รูปอาศัยรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น และรูปบางรูปก็อาศัยจิตและเจตสิกและรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น ฉะนั้น จิตต่างกันโดยเหตุ คือ จิตบางดวงก็เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ และ จิตบางดวงก็เกิดร่วมกับเจตสิกที่ไม่ใช่เหตุ

ปรมัตถธรรมที่เป็นเหตุนั้น ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวงเท่านั้น

โลภเจตสิกเป็นโลภเหตุ ๑

โทสเจตสิกเป็นโทสเหตุ ๑

โมหเจตสิกเป็นโมหเหตุ ๑

(รวมเป็นอกุศลเหตุ ๓)

อโลภเจตสิกเป็นอโลภเหตุ ๑

อโทสเจตสิกเป็นอโทสเหตุ ๑

ปัญญาเจตสิกเป็นอโมหเหตุ ๑

(รวมเป็นโสภณเหตุ ๓)

นอกจากเจตสิก ๖ ดวงนี้แล้ว สภาพธรรมอื่นทั้งหมดไม่ใช่เหตุปัจจัย เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับจิตต่างก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เหตุปัจจัย คือ ไม่ใช่เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ เพราะเหตุปัจจัยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยต่างๆ กันถึง ๒๔ ปัจจัย (โดยประเภทปัจจัยใหญ่ๆ) เจตสิก ๖ ดวงที่เป็นเหตุนั้น อุปมาเหมือนกับรากแก้วของต้นไม้ซึ่งเป็นเหตุให้ต้นไม้นั้นเจริญสมบูรณ์งอกงามมีดอกมีผลมากมายฉันใด เจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ นี้ เมื่อเกิดขึ้นก็ทําให้สภาพธรรมทั้งหลายเจริญงอกงามและผลิตผลต่างๆ เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ยังมีอกุศลเหตุและกุศลเหตุ เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วดับทั้งอกุศลเหตุและกุศลเหตุ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก (อโมหะ) ที่เกิดกับจิตของพระอรหันต์จึงเป็นอัพยากตเหตุ คือ ไม่ใช่อกุศลเหตุและกุศลเหตุ

สภาพธรรมที่เป็นอัพยากตธรรมนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ฉะนั้น วิบากจิต กิริยาจิต วิบากเจตสิก กิริยาเจตสิก รูป และนิพพานจึงเป็นอัพยากตธรรม เพราะไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล

เหตุ ๖ จําแนกเป็น ๒ ประเภท คือ

อกุศลเหตุ ๓ ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑

โสภณเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ ปัญญาเจตสิก ๑

ควรสังเกตว่าไม่ใช้คําว่า กุศลเหตุ ๓ แต่ใช้คําว่าโสภณเหตุ ๓ เพราะกุศลเหตุเป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบากซึ่งเป็นผล แต่โสภณเหตุซึ่งเป็นเหตุที่ดีนั้นเกิดกับกุศลจิตก็ได้ กุศลวิบากจิตก็ได้ และโสภณกิริยาจิตก็ได้ โสภณเหตุจึงไม่ได้เกิดแต่เฉพาะกับกุศลจิตเท่านั้น

ปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เมื่อกล่าวโดยเหตุ

จิต ไม่ใช่เหตุ

เจตสิก ที่เป็นเหตุมีเพียง ๖ เจตสิกอื่นทั้งหมด (๔๖ เจตสิก) ไม่ใช่เหตุ

รูป ไม่ใช่เหตุ

นิพพาน ไม่ใช่เหตุ

ธรรมที่ไม่ใช่เหตุนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า นเหตุ ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายจึงจําแนกเป็นหมวด ๒ ได้ คือ เหตุ และนเหตุ

เจตสิก ๖ ดวงเป็นเหตุ จิต รูป นิพพาน และเจตสิกอื่น ๔๖ ดวง เป็น นเหตุ

จิต และเจตสิก ๔๖ ดวง เป็นนเหตุ คือไม่ใช่เหตุ แต่จิตและเจตสิกบางดวงก็มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย จิตและเจตสิกบางดวงก็ไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย จิตและเจตสิกใดไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ดวงเกิดร่วมด้วยเลย จิตและเจตสิกนั้นเป็นอเหตุกจิตและอเหตุกเจตสิก จิตและเจตสิกใดมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย จิตและเจตสิกนั้นเป็นสเหตุกจิตและสเหตุกเจตสิก

จักขุวิญญาณที่กําลังเห็นสิ่งที่ปรากฏนั้นมีเจตสิกเกิดกับจักขุวิญญาณเพียง ๗ ดวง คือ ผัสสเจตสิก ทํากิจกระทบรูปารมณ์ที่กระทบจักขุปสาท เวทนาเจตสิก ทํากิจรู้สึกเฉยๆ เป็นอุเบกขาเวทนา (อทุกขมสุข) สัญญาเจตสิก ทํากิจจํารูปารมณ์ เจตนาเจตสิก ทํากิจจงใจ ตั้งใจ ขวนขวาย กระตุ้นจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันให้สําเร็จกิจนั้นๆ ชีวิตินทริยเจตสิก ทํากิจบํารุงเลี้ยงสหชาตธรรม คือ จิตและเจตสิกทั้งหลายให้ดํารงอยู่ในฐีติขณะ เอกัคคตาเจตสิก ทํากิจตั้งมั่นในอารมณ์ที่ปรากฏ มนสิการเจตสิก ทํากิจใส่ใจในรูปารมณ์นั้น เจตสิก ๗ ดวงนี้ไม่ใช่เจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ฉะนั้น จักขุวิญญาณจึงเป็นอเหตุกจิต ส่วนโลภมูลจิตที่เกิดหลังจากจักขุวิญญาณนั้นมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ คือ มีโลภเจตสิก สภาพที่พอใจติดข้องในสิ่งที่ปรากฏเกิดร่วมด้วย และมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย โลภมูลจิตจึงเป็นสเหตุกจิต

เมื่อกล่าวโดยเหตุ ธรรมทั้งหลายจําแนกได้เป็น ๒ หมวด คือ เหตุ และนเหตุ สเหตุกะ และอเหตุกะ ได้ดังนี้ คือ

นิพพานและรูป เป็นนเหตุ และอเหตุกะ

จิต เป็นนเหตุ และบางดวงเป็นสเหตุกะ บางดวงเป็นอเหตุกะ

เจตสิก ๔๖ เป็นนเหตุ และบางดวงเป็นสเหตุกะ บางดวงเป็นอเหตุกะ

เจตสิก ๖ คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาเจตสิก เป็นเหตุ และเป็นสเหตุกะ เว้นโมหเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิต เพราะโมหเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิตเป็นอเหตุกะ

โลภเจตสิกเป็นสเหตุกะ เพราะต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ถ้าโมหเจตสิกไม่เกิด โลภเจตสิกก็เกิดไม่ได้ ฉะนั้น โลภเจตสิกจึงเป็นสเหตุกะ เพราะมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

โทสเจตสิกก็เป็นสเหตุกะ โดยนัยเดียวกับโลภเจตสิก

โมหเจตสิกที่เกิดกับโลภเจตสิกในโลภมูลจิตเป็นสเหตุกะ เพราะมีโลภเจตสิกซึ่งเป็นเหตุเกิดร่วมด้วย

โมหเจตสิกที่เกิดกับโทสเจตสิกในโทสมูลจิตเป็นสเหตุกะ เพราะมีโทสเจตสิกเป็นเหตุเกิดร่วมด้วย

โมหเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิตเป็นอเหตุกะ เพราะไม่มีโลภเจตสิกและโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ผัสสเจตสิกเป็นนเหตุ แต่ผัสสเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ถ้าจิตดวงใดเกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุหนึ่งเหตุใดในเหตุ ๖ ผัสสเจตสิกนั้นก็เป็นสเหตุกะ ถ้าจิตดวงใดเป็นอเหตุกะ คือไม่มีเจตสิก ๖ ซึ่งเป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ผัสสเจตสิกซึ่งเกิดกับอเหตุกจิตนั้นก็เป็นอเหตุกะด้วย ฉะนั้น ผัสสเจตสิกจึงเป็นนเหตุ และบางขณะก็เป็นสเหตุกะ บางขณะก็เป็นอเหตุกะ

ชีวิตของทุกท่านในวันหนึ่งๆ นั้นมีทั้งสเหตุกจิตและอเหตุกจิต แต่เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมก็ไม่ทราบว่าขณะไหนเป็นสเหตุกจิตและขณะไหนเป็นอเหตุกจิต พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพจิตแต่ละขณะไว้อย่างละเอียดว่า จิตขณะใดเป็นอเหตุกจิต ขณะใดเป็นสเหตุกจิต และจิตที่เป็นสเหตุกะนั้นเกิดร่วมกับเหตุกี่เหตุและมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง

โมหมูลจิตมีโมหเหตุเกิดร่วมด้วยเหตุเดียว ซึ่งเป็นเอกเหตุกะ

โลภมูลจิตเกิดร่วมกับ ๒ เหตุ คือ โมหเหตุ และโลภเหตุ จึงเป็นทวิเหตุกะ

โทสมูลจิตเกิดร่วมกับ ๒ เหตุ คือ โมหเหตุ และโทสเหตุ จึงเป็นทวิเหตุกะ

สําหรับกุศลจิตนั้นก็ต้องมีโสภณเหตุเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นก็เป็นกุศลจิตไม่ได้ กุศลจิต ๒ ประเภท คือ กุศลจิตที่ไม่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก และกุศลจิตที่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก ฉะนั้นกุศลจิตที่ไม่เกิดร่วมกับปัญญาจะมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ และอโทสเหตุ จึงเป็นทวิเหตุกะ และกุศลจิตที่เกิดร่วมกับปัญญาจะมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ จึงเป็นติเหตุกะกุศลจิต ไม่เป็นเอกเหตุกะเลย เพราะต้องมีทั้งอโลภเจตสิกและอโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง จึงจะเป็นกุศลจิตได้

คําว่า เหตุ กับคําว่า ปัจจัย ต่างกันอย่างไร

ปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่อุปการะเกื้อกูลให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น หรือดํารงอยู่ตามควรแก่ประเภทของปัจจัยนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิกไม่ใช่โลภเจตสิก แต่ทั้งผัสสเจตสิกก็ดี โลภเจตสิกก็ดี เป็นปัจจัยเกื้อกูลให้ธรรมอื่นๆ คือ จิต เจตสิก และรูปเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อสภาพลักษณะและกิจของผัสสเจตสิกต่างกับสภาพลักษณะและกิจของโลภเจตสิก ผัสสเจตสิกจึงเป็นสภาพปัจจัยที่ต่างกับโลภเจตสิก

ผัสสเจตสิกเป็นปัจจัยโดยเป็น อาหารปัจจัย อาหารเป็นสภาพธรรมที่นํามาซึ่งผล แต่ไม่มั่นคงถึงกับทําให้งอกงามไพบูลย์อย่างรากแก้วของต้นไม้ ส่วนสภาพธรรมที่เป็นเหตุนั้นเป็นปัจจัยโดยความเป็นเหตุ ซึ่งอุปมาเหมือนรากแก้ว ต้นไม้จะเจริญเติบโตโดยมีแต่รากแก้วอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีดิน น้ำเป็นอาหาร แต่ถ้าขาดรากแก้ว ดิน น้ำก็ทําให้ต้นไม้งอกงามไพบูลย์ไม่ได้ ต้นไม้ที่มีรากแก้วกับพืชที่ไม่มีรากแก้วนั้นย่อมเจริญงอกงามไพบูลย์เพราะปัจจัยต่างกันฉันใด เจตสิกอื่นและสภาพธรรมอื่นนอกจากเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ก็เป็นปัจจัยโดยเป็นปัจจัยอื่น ไม่ใช่โดยเป็นเหตุปัจจัย

ในคัมภีร์ปัฏฐาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ ๗ เป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระอภิธรรมปิฎกนั้น แสดงสภาพธรรมทั้งหลายโดยความเป็นปัจจัยแก่กันและกันโดยประเภทของปัจจัยต่างๆ ปัจจัยแรก คือ เหตุปัจจัย แสดงให้เห็นความสําคัญของสภาพธรรมซึ่งเป็นเหตุ ในงานศพ เมื่อพระภิกษุท่านสวดพระอภิธรรมจะเริ่มต้นด้วย “เหตุปจฺจโย” คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เพื่อเตือนให้รู้ว่าสภาพธรรมซึ่งเป็นตัวเหตุที่จะให้เกิดผลเกิดภพเกิดชาตินั้น ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก

ความจริงสภาพธรรมแต่ละประเภทมีความสําคัญเฉพาะของตนๆ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงเฉพาะเหตุปัจจัยเพียงปัจจัยเดียว มิได้ทรงแสดงเฉพาะอารมณ์ซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์นั้น โดยอารมณ์นั้นเป็น “อารัมมณปัจจัย” แก่จิตเพียงปัจจัยเดียว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปัจจัยต่างๆ โดยครบถ้วนละเอียด โดยประเภทปัจจัยใหญ่ๆ ๒๔ ปัจจัย และทรงแสดงปัจจัยย่อยของบางปัจจัยในปัจจัยใหญ่ ๒๔ ปัจจัยนั้นด้วย

จักขุปสาทรูปเกิดขึ้นเพราะปัจจัยอื่นๆ ไม่ใช่เพราะเหตุปัจจัยและจักขุปสาทก็เป็นปัจจัยด้วยโดยเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นอินทริยปัจจัย คือ เป็นปัจจัยโดยเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในกิจหน้าที่ของตน จักขุปสาทเป็นจักขุนทรีย์ เป็นรูปซึ่งมีสภาพเป็นใหญ่ในการเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท และกายปสาท รูปร่างกายนี้จะเหมือนอะไร ก็เหมือนท่อนไม้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ฉะนั้น ปสาทรูปทั้ง ๕ นี้จึงเป็นปัจจัยโดยเป็น อินทริยปัจจัย คือ เป็นใหญ่เฉพาะในกิจของตน เช่น จักขุปสาทรูปเป็นใหญ่ในการกระทบรูปารมณ์ เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะรูปอื่นไม่สามารถจะกระทํากิจนี้ได้ และสิ่งที่ปรากฏทางตาจะปรากฏชัดเจนหรือไม่ชัด ก็แล้วแต่สภาพความใสของจักขุปสาทรูป ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับเจตนาหรือความปรารถนาความต้องการของใครเลย แต่ขึ้นกับอินทริยปัจจัยของการเห็น คือ จักขุปสาทรูป

สภาพธรรมทุกประเภทเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิด โดยเป็นปัจจัยต่างๆ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ ในวันหนึ่งๆ นั้น มีอกุศลเหตุเกิดมาก กุศลเหตุก็มีบ้าง แต่เมื่อเทียบส่วนแล้ว กุศลเหตุก็น้อยกว่าอกุศลเหตุมาก

เมื่อไหร่กุศลเหตุจะค่อยๆ เจริญขึ้นๆ จนกระทั่งมีกําลังมากกว่าฝ่ายอกุศลเหตุเสียที ต้องอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้นเป็นปัญญาเจตสิก เป็นอโมหเหตุ ตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่จะไม่ให้โลภเหตุ โทสเหตุ หรือโมหเหตุเจริญงอกงามไพบูลย์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีธรรมอื่นเลยที่จะละคลายและดับอกุศลเหตุได้นอกจากปัญญาซึ่งเป็นอโมหเหตุ เมื่อศึกษาพระธรรมและเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน กุศลที่เป็นอโมหะ คือ ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะดับอกุศลธรรมเป็นประเภทๆ ได้จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์

ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามีนั้นเป็นพระเสกขบุคคล ซึ่งจะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไปอีก จนกว่าจะดับหมดทั้งอกุศลเหตุและกุศลเหตุ เพราะถ้ายังมีกุศลเหตุอยู่ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากไม่จบสิ้น พระอรหันต์ผู้ดับอกุศลเหตุและกุศลเหตุแล้วนั้น ถึงแม้ว่าจิตจะเกิดร่วมกับอโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็เป็นอัพยากตเหตุ ไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากต่อไป เมื่อไหร่จะถึงวันนั้น ย่อมถึงได้ในวันหนึ่ง เมื่อเพียรอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ผู้ที่บรรลุผลเช่นนั้นในอดีตมีแล้วเป็นอันมาก ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยก็จะไม่มีผู้ใดสามารถบรรลุผลเช่นนั้นได้ แต่ผลนั้นย่อมไม่เร็วตามที่หวัง ต้องตามควรแก่เหตุ คือ เมื่อปัญญายังไม่เกิด ยังไม่เจริญขึ้น ก็ดับกิเลสไม่ได้ และปัญญาก็ต้องเกิดขึ้นเจริญขึ้นตามลําดับขั้นที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงจนกว่าจะดับกิเลสได้จริงๆ

ฉะนั้น ควรระลึกเสมอว่าการศึกษาให้เข้าใจเรื่องจิต เจตสิก รูป นั้น ก็เพื่ออบรมเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้น ปรากฏแต่ละขณะตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อนจากที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ถ้าศึกษาเข้าใจอย่างหนึ่งแต่ปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงตามที่ได้ศึกษา ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

สําหรับอกุศลเหตุนั้นจะเป็นชาติอื่นไม่ได้เลย ไม่ว่าโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิกเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นชาติอกุศล เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตในขณะนั้น และสะสมสืบต่อไปในอนาคตด้วย แต่โสภณเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ ปัญญาเจตสิก ๑ นั้น เป็นชาติกุศลก็มี เป็นชาติวิบากก็มี เป็นชาติกิริยาก็มี เพราะอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาเจตสิกเกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับกุศลวิบากก็ได้ เกิดกับโสภณกิริยาจิตก็ได้ คําว่า “โสภณ” มีความหมายกว้างกว่าคําว่า กุศล เพราะโสภณธรรม ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นกุศล หรือเป็นกุศลวิบาก หรือเป็นโสภณกิริยา ฉะนั้น เมื่อจําแนกธรรมทั้งหลายโดยหมวด ๓ เป็น กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา ก็จําแนกเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ออกเป็นเหตุ ๙ คือ

อกุศลเหตุ ๓ ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑

กุศลเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ ปัญญาเจตสิก ๑

อัพยากตเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ ปัญญาเจตสิก ๑

คําถามทบทวน

๑. เหตุปัจจัย ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร

๒. อัพยากตเหตุ คืออะไร ได้แก่อะไร

๓. อัพยากตธรรม คืออะไร ได้แก่อะไร

๔. กุศลเหตุและโสภณเหตุ ต่างกันอย่างไร

๕. อะไรเป็นนเหตุบ้าง อะไรเป็นสเหตุกะบ้าง

๖. เหตุเจตสิกดวงใดเป็นอเหตุกะ ดวงใดเป็นสเหตุกะ

๗. อกุศลจิตใดเป็นเอกเหตุกะ และอกุศลจิตใดเป็นทวิเหตุกะ

๘. กุศลจิตเป็นเอกเหตุกะ ได้ไหม

๙. ผัสสเจตสิกเป็นเหตุหรือนเหตุ เป็นอเหตุกะหรือสเหตุกะ เป็นเอกเหตุกะหรือทวิเหตุกะหรือติเหตุกะ

๑๐. เหตุ ๙ ได้แก่อะไร

เปิด  530
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ