จิตตสังเขป บทที่ ๑๔ จิตต่างกันโดยนัยของโสภณะและอโสภณะ

จําแนกจิตโดยนัยของ โสภณะ และอโสภณะ

โสภณธรรม เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะกุศลธรรมเท่านั้น สภาพธรรมที่ดีงามแต่ไม่ใช่กุศลธรรม คือ กุศลวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม และโสภณกิริยา ซึ่งเป็นจิตและเจตสิกเฉพาะพระอรหันต์ผู้ดับกุศลและอกุศลเป็นสมุจเฉทแล้ว

อโสภณธรรม เป็นสภาพธรรมที่ตรงข้ามกับโสภณธรรม คือ ไม่ใช่สภาพธรรมที่ดีงาม ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะอกุศลเจตสิกเท่านั้น จิตและเจตสิกใดที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตและเจตสิกนั้นเป็นอโสภณะ ฉะนั้น โดยนัยของสัมปยุตตธรรมที่จําแนกให้จิตต่างกันเป็นจิตประเภทที่ดีงามเป็นโสภณะ และเป็นจิตประเภทที่ไม่ดีงามเป็นอโสภณะนั้น ก็จําแนกโดยเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ๖ นั่นเอง เจตสิกที่ดีงาม ได้แก่ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาเจตสิก เป็นต้น ซึ่งเป็นโสภณเจตสิกที่ทําให้จิตดีงาม ฉะนั้น การจําแนกจิตโดยประเภทที่เป็นโสภณะและอโสภณะก็สืบต่อจากการจําแนกจิตโดยเหตุนั่นเอง จิตใดที่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นโสภณเหตุ จิตนั้นเป็นโสภณจิต จิตใดไม่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นโสภณเหตุ จิตนั้นเป็นอโสภณจิต

การศึกษาปรมัตถธรรมนั้นต้องคิด ต้องพิจารณาเหตุผลด้วย ตนเอง เมื่อเข้าใจเหตุผลที่ถูกต้องชัดเจนก็จะไม่สับสนคลาดเคลื่อน แม้ในเรื่องโสภณธรรม และอโสภณธรรม

อกุศลจิตเกิดร่วมกับอกุศลเจตสิก คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ฉะนั้น อกุศลจิตไม่ใช่โสภณจิตแน่นอน

จักขุวิญญาณ ไม่ได้เกิดร่วมกับโลภะ โทสะ โมหะ และโสภณเจตสิกใดๆ เลย จักขุวิญญาณเกิดร่วมกับเจตสิกเพียง ๗ ดวง คือ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก ซึ่งเจตสิกทั้ง ๗ ดวงนี้ เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกดวง จิตจะเกิดขึ้นโดยปราศจากเจตสิก ๗ ดวงนี้ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นอกุศลจิต กุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต โลกุตตรจิต หรือจิตใดๆ ก็ตามต้องมีเจตสิก ๗ ดวงนี้เกิดร่วมด้วย เจตสิก ๗ ดวงซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกนี้ เป็นอัญญสมานาเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตใดก็เสมอกับจิตนั้นๆ เมื่อเกิดกับอกุศลจิต สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนี้ก็เป็นอกุศล เมื่อเกิดกับกุศลจิต สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนี้ก็เป็นกุศล เป็นต้น

จักขุวิญญาณเป็นวิบากจิตที่มีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงเท่านั้น ไม่มีโสภณเจตสิกหรืออกุศลเจตสิกใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย ฉะนั้น จักขุวิญญาณจึงเป็นอโสภณจิต แต่ไม่ใช่อกุศลจิต

การศึกษาธรรมนั้นจะต้องเข้าใจโดยละเอียด แม้แต่อกุศลธรรมและอโสภณธรรมต่างกันอย่างไร

อกุศลธรรมเป็นสภาพธรรมที่เลวทรามเป็นโทษ เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลเป็นวิบากที่ไม่น่าพอใจ เป็นทุกข์ อโสภณธรรมเป็นจิตและเจตสิกที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมโดยนัยต่างๆ ตามสภาพของธรรมนั้นๆ ซึ่งผู้ศึกษาก็จะต้องพิจารณาโดยละเอียดให้เข้าใจถูกต้องตามสภาพธรรมนั้นๆ เมื่อทรงแสดงโดยประเภทของหมวด ๓ คือ กุศลธรรม อกุศลธรรม และ อัพยากตธรรม ก็จะต้องรู้ว่ากุศลธรรมเป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก อกุศลธรรมเป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก และอัพยากตธรรมเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ฉะนั้น อัพยากตธรรมจึงได้แก่ วิบากจิตและเจตสิก กิริยาจิตและเจตสิก รูป นิพพาน ฉะนั้น อัพยากตธรรมจึงไม่ใช่แต่เฉพาะจิตและเจตสิกที่เป็นวิบาก และกิริยา รูปปรมัตถ์และนิพพานปรมัตถ์ก็เป็นอัพยากตธรรม รูปและนิพพานเป็นกุศลหรืออกุศลไม่ได้ เพราะรูปและนิพพานไม่ใช่จิตและเจตสิก เมื่อทรงแสดงประเภทของธรรมโดยหมวด ๓ ทรงแสดงปรมัตถธรรมทั้ง ๔ แต่เมื่อทรงแสดงโดยชาติ ๔ หมายเฉพาะจิตและเจตสิกเท่านั้น

โดยชาติ ๔ นั้น อกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นอโสภณะ กุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นโสภณะ วิบากจิตและกิริยาจิตใดไม่มีโสภณเจตสิก เช่น อโลภเจตสิก และอโทสเจตสิก เป็นต้น เกิดร่วมด้วย วิบากจิตและกิริยาจิตนั้นเป็นอโสภณะ คือ ไม่เกิดร่วมกับโสภณเจตสิก ส่วนวิบากจิตและกิริยาจิตใดมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย วิบากจิตและกิริยาจิตนั้นเป็นโสภณะ

จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง และจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง มีแต่สัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวงเท่านั้น

โสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง และโสตวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง มีแต่สัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวงเท่านั้น

ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง และฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง มีแต่สัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวงเท่านั้น

ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง และชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง มีแต่สัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวงเท่านั้น

กายวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง และกายวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง มีแต่สัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวงเท่านั้น

ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จึงเป็นอโสภณจิตและจิตอื่น (นอกจากจิต ๑๐ ดวงนี้) ที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เป็นอโสภณจิตทั้งสิ้น ฉะนั้น กุศลวิบากจิตจึงไม่ใช่โสภณจิตทุกดวง กุศลวิบากจิตที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เป็นโสภณจิต กุศลวิบากจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ไม่ใช่โสภณจิต นี่เป็นความต่างกันของจิตแต่ละขณะในชีวิตประจําวัน ปฏิสนธิจิตของภูมิมนุษย์กับปฏิสนธิจิตของอบายภูมิเป็นผลของกรรมต่างกัน ผู้ที่ปฏิสนธิในอบายภูมินั้น ปฏิสนธิจิตเป็นอกุศลวิบากจิต เป็นผลของอกุศลกรรม จึงเกิดในนรกภูมิ หรือเกิดในปิตติวิสัยภูมิ (เปรต) หรือเกิดในอสุรกายภูมิ หรือเกิดในดิรัจฉานภูมิ ปฏิสนธิจิตของผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาชั้นต่างๆ เป็นกุศลวิบากจิตเป็นผลของกุศลกรรมหนึ่ง จึงทําให้เกิดในสุคติภูมิ

แม้ว่าการเกิดในมนุสสภูมิเป็นกุศลวิบากก็จริง แต่บางบุคคลก็พิการแต่กําเนิด เพราะกุศลวิบากจิตที่ทํากิจปฏิสนธินั้นเป็นผลของกุศลกรรมที่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเป็นกุศลกรรมอย่างอ่อนมาก กุศลวิบากจิตที่ทําปฏิสนธิกิจนั้นจึงไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก คือ ไม่เกิดร่วมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก เป็นต้น เมื่อเป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อนมาก อกุศลกรรมซึ่งทําไว้จึงเบียดเบียนให้เป็นผู้พิการแต่กําเนิดได้

ผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการแต่กําเนิดนั้น ล้วนเกิดมาต่างๆ กันโดยสกุล ยศศักดิ์ บริวาร เพราะกุศลวิบากที่ทํากิจปฏิสนธินั้นต่างกัน ตามกําลังของกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุ ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นผลของกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิกอย่างอ่อน หรือไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ปฏิสนธิจิตที่เป็นกุศลวิบากนั้นก็เกิดร่วมกับโสภณเจตสิกและเหตุ ๒ คือ อโลภเจตสิก และอโทสเจตสิก เป็นทวิเหตุกบุคคล คือ เป็นบุคคลที่ปฏิสนธิจิต ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย บุคคลนั้นจึงไม่สามารถบรรลุฌานหรือโลกุตตรธรรมในชาตินั้น

ผู้ที่ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาและปฏิสนธิจิตมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยนั้น เป็นติเหตุกบุคคล เพราะมีเหตุ ๓ คือ มีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก (อโมหะ) เกิดร่วมด้วย บุคคลนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมก็สามารถพิจารณาเข้าใจพระธรรม และสามารถอบรมเจริญปัญญาจนบรรลุฌานจิต หรือรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ๔ บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นพระอริยบุคคลในชาตินี้ได้ ตามควรแก่การสะสมของเหตุปัจจัย แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะบางท่านเป็นผู้ที่มีสติปัญญา ปฏิสนธิจิตเป็นติเหตุกะก็จริง แต่ถ้าประมาทการเจริญกุศล ประมาทการฟังพระธรรม ก็จะเป็นผู้ที่ฉลาดแต่ในทางโลก ในวิชาการต่างๆ แต่ไม่อบรมเจริญปัญญาในทางธรรม จึงไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ในอดีตกาลนานมาแล้วในชาติก่อนๆ บางท่านอาจจะเป็นผู้ที่เคยสนใจธรรม อาจจะเป็นผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนพระธรรม หรืออาจจะถึงกับบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุสามเณร แต่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศใด ในเพศบรรพชิตหรือฆราวาส ทุกคนจะต้องอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏตามความเป็นจริงทุกๆ ชาติ จนกว่าจะถึงชาติที่ปัญญาคมกล้า สามารถแทงตลอดอริยสัจจธรรมได้ และแม้ว่าในกาลครั้งหนึ่ง อาจจะเคยสนใจธรรม ฝักใฝ่ในการศึกษาในการปฏิบัติธรรม แต่ก็อย่าลืมว่ากว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ยังมีอกุศลที่สะสมมามากมายหนาแน่น ที่จะทําให้หลงไปเพลินไปในอกุศลได้ถ้าเป็นผู้ที่ประมาท ฉะนั้น ถึงแม้ว่าปฏิสนธิจิตจะเป็นติเหตุกะ แต่เมื่อใดเป็นผู้ประมาท ปัญญาเจตสิกในชาตินั้นก็จะไม่เจริญขึ้น เพราะไม่ได้อบรมด้วยการฟัง ด้วยการพิจารณา และด้วยการปฏิบัติธรรม ฉะนั้น ก็น่าเสียดายชาติซึ่งปฏิสนธิจิตเป็นติเหตุกะ แต่ไม่ได้อบรมปัญญาให้เจริญขึ้น และชาติต่อไปนั้นกรรมใดจะทําให้ปฏิสนธิจิตประเภทใดเกิดก็ไม่แน่ อาจจะเป็นอกุศลวิบากจิต ทํากิจปฏิสนธิในอบายภูมิ หรืออเหตุกุศลวิบากจิต ทํากิจปฏิสนธิเป็นบุคคลพิการตั้งแต่กําเนิด หรือทวิเหตุกกุศลวิบากทํากิจปฏิสนธิเป็นทวิเหตุกบุคคลในสุคติภูมิ ซึ่งไม่อาจอบรมเจริญปัญญาให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

ฉะนั้นจึงน่าเสียดายแต่ละภพแต่ละชาติที่ไม่ได้อบรมปัญญาให้เจริญยิ่งขึ้น และถึงแม้ว่าจะเป็นติเหตุกปฏิสนธิ แต่เมื่ออบรมปัญญายังไม่พอ ก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาตินี้ได้ ไม่ใช่ว่าผู้ที่เป็นติเหตุกบุคคลแล้วจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ในปัจจุบันชาติทุกคน

ผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ไม่พิการแต่กําเนิดนั้น ขณะนอนหลับสนิท ภวังคจิตเป็นโสภณจิต เพราะปฏิสนธิจิตเป็นทวิเหตุกะ มีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางท่านปฏิสนธิจิตก็เป็นติเหตุกะ มีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะหลับกิเลสไม่เกิด ไม่มีความยินดี ยินร้าย เพราะยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้คิดนึกเรื่องต่างๆ ทางใจ แต่เมื่อตื่นขึ้นนั้น จะดีใจหรือเสียใจ สุขหรือทุกข์ก็เป็นไปตามอกุศลจิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ โดยมากวันหนึ่งๆ เมื่อตื่นแล้วก็เป็นอโสภณะมากกว่าเป็นกุศล จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะเดียว แล้วหลังจากนั้น ส่วนมากอกุศลชวนวิถีจิตก็เกิด ๗ ขณะ ซึ่งเท่ากับ ๒ เท่าของจักขุวิญญาณที่ทํากิจเห็นขณะหนึ่งๆ การสะสมสืบต่อของอกุศลธรรมในวันหนึ่งๆ นั้นมากมายเหลือเกิน ฉะนั้น จึงไม่ควรประมาทเลย เมื่อได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดว่าจิตขณะใดเป็นโสภณะ จิตขณะใดเป็นอโสภณะ และอโสภณจิตนั้นเป็นอกุศลหรือว่าเป็นวิบาก หรือว่าเป็นกิริยา

ถาม พระอรหันต์มีอโสภณจิตไหม

ตอบ มี

ถาม พระอรหันต์มีอกุศลจิตไหม

ตอบ ไม่มี

พระอรหันต์มีอโสภณจิต แต่พระอรหันต์ไม่มีอกุศลจิต เพราะว่าพระอรหันต์มีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้น ซึ่งเป็นอโสภณจิต แต่พระอรหันต์ไม่มีอกุศลจิตและกุศลจิต

เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เป็นอัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกที่เสมอกับจิตและเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วย ๑๓ ประเภท เป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท เป็นโสภณเจตสิก ๒๕ ประเภท ถ้าไม่ใช้คําว่า โสภณะ อโสภณะ แต่ใช้ภาษาไทย ความหมายจะไม่ตรงกับสภาพธรรมที่เป็นโสภณะและอโสภณะ เช่น ถามว่าเวทนาเจตสิกดีไหม มีท่านหนึ่งตอบว่า เมื่อเป็นสุขเวทนาก็ดี สุขเวทนาโดยนัยของเวทนา ๕ หมายถึง เวทนาเจตสิกที่เกิดเฉพาะกับกายวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ในขณะที่กระทบกับอารมณ์ที่น่าสบายกาย สุขสหคตํ กายวิญฺญาณํ กุสลวิปากํ ไม่มีโสภณเจตสิก คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาเจตสิก เป็นต้น เกิดร่วมด้วย ฉะนั้น โดยสภาพธรรม สุขเวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณกุศลวิบากนั้นเป็นอโสภณะ ไม่ใช่โสภณะ ด้วยเหตุนี้ การศึกษาธรรมจึงต้องเข้าใจสภาพธรรมให้ตรงตามพระบาลี มิฉะนั้น จะทําให้เข้าใจสภาพธรรมผิดได้

ถ้ามีคําถามว่า รูปที่กําลังปรากฏทางตาขณะนี้ดีหรือไม่ดี คําตอบภาษาไทยก็ไม่ชัดเจน เพราะถึงแม้ว่ารูปจะผ่องใสสวยงามน่ายินดีพอใจ แต่รูปก็ไม่ใช่โสภณธรรม เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่กุศล อกุศล รูปไม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา หรือสภาพธรรมใดซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดีงามเกิดร่วมด้วยเลย จิตและเจตสิกเท่านั้นที่เป็นโสภณะหรือ อโสภณะ รูปเป็นอารมณ์ที่เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น พอใจหรือไม่พอใจรูปนั้นๆ โดยที่รูปเองเป็นอัพยากตธรรม รูปไม่รู้อะไรเลย รูปไม่รู้ว่าจิตชอบหรือไม่ชอบรูปนั้น และรูปเองก็ไม่มีเจตนาที่จะให้จิตชอบหรือไม่ชอบรูป เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่จิตต้องการเห็นรูป ต้องการได้ยินเสียง ต้องการได้กลิ่นหอมๆ ต้องการกระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจ เพื่อความรู้สึกที่เป็นสุขจะได้เกิดขึ้นซ้ำอีก เมื่อเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น กระทบสัมผัสทางกาย หรือแม้เพียงคิดนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทางใจ ทุกๆ วัน ฉะนั้น จึงมีคําอุปมาเปรียบเทียบขันธ์ ๕ ว่า รูปขันธ์เหมือนกับภาชนะที่รองรับสิ่งที่นํามาซึ่งความรู้สึกยินดี เวทนาขันธ์เหมือนอาหารที่อยู่ในภาชนะนั้น สัญญาขันธ์และสังขารขันธ์เหมือนพ่อครัว และผู้ช่วยปรุงอาหาร วิญญาณขันธ์เป็นผู้บริโภคอาหารเพราะจิตเป็น ใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ นามขันธ์ทั้ง ๔ ต้องเกิดร่วมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และไม่แยกกันเลยสักนามขันธ์เดียว จะมีแต่นามขันธ์ ๑ ขาดนามขันธ์ ๓ ไม่ได้ จะมีนามขันธ์ ๒ ขาดนามขันธ์ ๒ ไม่ได้ จะมีนามขันธ์ ๓ ขาดนามขันธ์ ๑ ไม่ได้ และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นั้น นามขันธ์ต้องอาศัยรูปขันธ์จึงจะเกิดขึ้นได้

การศึกษาธรรมเรื่องจิตประเภทต่างๆ นั้นเพื่อรู้ชัดลักษณะของ จิตซึ่งจําแนกโดยประเภทต่างๆ คือ จําแนกโดยชาติ ๔ โดยหมวด ๓ โดยเหตุ โดยอสังขาริก สสังขาริก โดยโสภณะ อโสภณะ โดยประกอบด้วยเจตสิกต่างกันอย่างไรบ้างนั้น ก็เพื่อให้สติเกิดขึ้นระลึกพิจารณารู้สภาพที่เป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล และลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นก็เป็นลักษณะของรูปธรรมแต่ละอย่าง นามธรรมแต่ละอย่าง เช่น ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ทางลิ้นก็อย่างหนึ่ง ทางกายก็อย่างหนึ่ง ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลก็อย่างหนึ่ง ลักษณะของจิตที่เป็นอกุศลก็อย่างหนึ่ง ลักษณะของจิตที่เป็นอัพยากตะก็อย่างหนึ่ง ความรู้ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายเพิ่มขึ้น ย่อมเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

คําถามทบทวน

๑. รูปเป็นโสภณธรรมได้ไหม เพราะอะไร

๒. บุคคลที่ปฏิสนธิจิตเป็นกุศลวิบาก แต่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต่างกับบุคคลที่ปฏิสนธิจิตเป็นกุศลวิบากที่มีโสภณเจตสิก

เกิดร่วมด้วยอย่างไร

๓. ทวิเหตุกปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมอะไร

๔. ทวิเหตุกบุคคลและติเหตุกบุคคลต่างกันอย่างไร

๕. ขณะนอนหลับสนิทเป็นโสภณจิตหรืออโสภณจิต

เปิด  699
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ