จิตตสังเขป บทที่ ๑๕ จิตต่างกันโดยนัยของโลกิยจิตและโลกุตตรจิต

จําแนกจิต โดย โลกิยจิต และโลกุตตรจิต

ก่อนอื่นควรเข้าใจความหมายของคําว่า “โลก” ในวินัยของพระอริยเจ้าตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในสังยุตตนิกายสฬายตนวรรค ฉันนวรรคที่ ๔ ปโลกสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

(๑๐๑) ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกกันว่าโลกๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงเรียกกันว่า “โลก” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดานี้เรียกว่า “โลก” ในอริยวินัย ก็อะไรเล่ามีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักขุแลมีความแตกสลายเป็นธรรมดา รูปมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักขุวิญญาณมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักขุสัมผัสมีความแตกสลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยมีความแตกสลายเป็นธรรมดา ฯลฯ ตลอดไปจนถึงทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เป็นธรรมดาของพระอริยเจ้า แต่ไม่ใช่ธรรมดาสําหรับผู้ที่ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลต้องประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อานนท์ สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดานี้เรียกว่า “โลก” ในอริยวินัย โลก คือทุกสิ่งซึ่งเกิดดับ ฉะนั้น สภาพธรรมซึ่งไม่เกิดดับเท่านั้นที่ไม่ใช่โลก เป็นสภาพธรรมที่พ้นจากโลกเหนือโลก เป็นโลกุตตระ คือ พระนิพพาน

เมื่อจําแนกจิตเป็นประเภทโลกิยะ และโลกุตตระนั้น จิตใดที่ไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน คือ ไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ จิตนั้นเป็น “โลกิยจิต” จิตใดมีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลสหรือมีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลสแล้วจิตนั้นเป็น “โลกุตตรจิต”

ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลนั้น ต้องอบรมเจริญโลกิยปัญญาซึ่งรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โลกิยปัญญาไม่ใช่การรู้วิธีสร้างเครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่างๆ การรู้อย่างอื่นที่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้น ไม่ใช่โลกิยปัญญาในพระพุทธศาสนา

โลกิยปัญญารู้ลักษณะของโลก คือ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งไม่ใช่นิพพาน ฉะนั้น นอกจากมัคคจิต ๔ ดวง ซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลสและผลจิต ๔ ดวง คือ โลกุตตรวิบากจิต ซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลสแล้ว จิตอื่นทั้งหมดเป็นโลกิยจิต

โลกุตตรจิตทั้งหมดมี ๘ ดวง ๔ คู่ คือ

โสตาปัตติมัคคจิต ๑ โสตาปัตติผลจิต ๑

สกทาคามิมัคคจิต ๑ สกทาคามิผลจิต ๑

อนาคามิมัคคจิต ๑ อนาคามิผลจิต ๑

อรหัตตมัคคจิต ๑ อรหัตตผลจิต ๑

เมื่อโสตาปัตติมัคคจิตเกิดขึ้นทํากิจดับกิเลสโดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ดับไปแล้ว โสตาปัตติผลจิตก็เกิดสืบต่อ และมีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลสแล้ว โสตาปัตติมัคคจิตเป็นโลกุตตรกุศลจิตเป็นปัจจัยให้โลกุตตรวิบากจิต คือ โสตาปัตติผลจิตเกิดสืบต่อจากโสตาปัตติมัคคจิตทันที โดยไม่มีจิตอื่นเกิดคั่นได้เลย การให้ผลของโลกุตตรกุศลนั้นให้ผลทันที เป็นอกาลิโก ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า อกุศลและกุศลอื่นๆ นั้นให้ผลทันทีที่ดับไปอย่างโลกุตตรกุศลไม่ได้เลย ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาจนฌานกุศลจิตเกิดแล้วยังไม่มีฌานวิบากจิตเกิดในขณะที่เป็นมนุษย์ เพราะฌานวิบากจิตทําปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจในพรหมโลก ผู้ที่ฌานจิตไม่เสื่อมนั้น ฌานกุศลจิตจะเกิดก่อนจุติจิต เมื่อจุติจิตดับ ฌานกุศลจิตที่เกิดก่อนจุติจิตนั้นเป็นปัจจัยให้ฌานวิบากจิต ทํากิจปฏิสนธิในพรหมโลกภูมิใดภูมิหนึ่ง เช่น ปฐมฌานกุศลจิตเป็นปัจจัยให้ปฐมฌานวิบากจิตทํากิจปฏิสนธิในปฐมฌานพรหมภูมิ สูงขึ้นตามลําดับไปจนถึงอรูปฌานกุศล คือ อากาสานัญจายตนกุศลจิตเป็นปัจจัยให้อากาสานัญจายตนวิบากจิตปฏิสนธิในอากาสานัญจายตนภูมิ สูงขึ้นตามลําดับไปจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิตเป็นปัจจัยให้เนวสัญญานาสัญญายตนวิบากจิตทําปฏิสนธิกิจในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ กรรมอื่นๆ นั้นต้องมีจิตอื่นเกิดคั่นมากมายกว่าจะถึงกาลเวลาที่จะให้ผล แต่กรรมประเภทเดียวที่ให้ผลโดยจิตอื่นเกิดคั่นไม่ได้เลย คือ โลกุตตรกุศลกรรม ทันทีที่โลกุตตรกุศลจิตดับโลกุตตรวิบากจิตก็เกิดต่อทันที เพราะโลกุตตรวิบากจิตไม่ทําปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ และกิจอื่นๆ เช่น วิบากจิตอื่นๆ เลย

ในอัฏฐสาลินี อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบาย จูฬันตรทุกะ มีข้อความว่า

ชื่อว่า “โลกิยธรรม” เพราะประกอบในโลก โดยเหตุที่นับเนื่องอยู่ในโลกนั้น ชื่อว่า “อุตตรธรรม” คือ ธรรมอันยิ่งเพราะข้ามพ้นขึ้นจากโลกนั้น ชื่อว่า “โลกุตตรธรรม” เพราะข้ามขึ้นจากโลกนั้นโดยเหตุที่ไม่นับเนื่องอยู่ในโลก

จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ แม้โลกุตตรจิตและเจตสิกที่มีนิพพานเป็นอารมณ์นั้นก็เกิดดับ แต่ที่จําแนกจิตเป็นโลกิยจิตและโลกุตตรจิตนั้น ก็เพราะโลกุตตรจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลส (มัคคจิต) และโดยกิเลสดับแล้ว (ผลจิต)

ข้อความในขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ภาค ๒ โมฆราชมาณวก ปัญหานิทเทส ตรงกับสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สุญญสูตร ข้อ ๑๐๒ ซึ่งมีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าโลกว่างเปล่าๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงไรหนอจึงเรียกว่าโลกว่างเปล่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อานนท์ เพราะว่างเปล่าจากตนหรือจากของของตน ฉะนั้น จึงเรียกว่าโลกว่างเปล่า อะไรเล่าว่างเปล่าจากตนหรือจากของของตน จักขุแลว่างเปล่าจากตนหรือจากของของตน รูปว่างเปล่าจากตนหรือจากของของตน จักขุวิญญาณว่างเปล่าจากตนหรือจากของของตน จักขุสัมผัสว่างเปล่าจากตนหรือจากของของตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็ว่างเปล่าจากตนหรือจากของของตน ฯลฯ ใจว่างเปล่าจากตนหรือจากของของตน ธัมมายตนะว่างเปล่าจากตนหรือจากของของตน มโนวิญญาณว่างเปล่าจากตนหรือจากของของตน มโนสัมผัสว่างเปล่าจากตนหรือจากของของตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส เป็นปัจจัย ก็ว่างเปล่าจากตนหรือจากของของตน ฉะนั้น จึงเรียกว่าโลกว่างเปล่า

จบสุญญสูตรที่ ๒

ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรเลยก็จะทําให้ว่างได้โดยที่ไม่รู้ว่าอะไรว่าง ว่างจากอะไร ว่างอย่างไร แต่จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ที่ว่างจากตน หรือว่างจากความเป็นของของตน เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแต่ละอย่าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทาง กาย ทางใจ บางท่านอาจจะมีความรู้สึกว่า บางวันเหมือนกับไม่มีอะไรที่เป็นของของเราเลย และทําไมจึงไม่รู้สึกอย่างนี้มาก่อน แต่ก่อนเคยยึดถือว่าเป็นเราและเป็นของเรา แต่อยู่ๆ วันหนึ่งฟังธรรมบ่อยๆ มากๆ เข้าก็เกิดนึกขึ้นมาว่า ไม่เห็นมีอะไรที่จะเป็นของของเราสักอย่างเดียว ไม่น่าที่จะหลงยึดถือว่าเป็นของของเราเลย เพียงคิดเท่านั้นไม่พอ เพราะดับกิเลสไม่ได้ ซึ่งถ้าไม่รู้ก็อาจคิดว่าได้ปัญญามากแล้ว ใกล้ต่อการที่จะได้เป็นพระอริยบุคคลแล้ว เพราะว่าแต่ก่อนนี้ไม่เคยคิด ไม่เคยรู้สึกอย่างนี้ บางคนก็เกิดความรู้สึกว่าอัศจรรย์ที่คิดอย่างนั้นได้ แต่ให้ทราบว่านั่นไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส เพราะยังไม่รู้ว่าลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ที่กําลังเห็น กําลังได้ยิน กําลังได้กลิ่น กําลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และคิดนึก เป็นต้นนั้น ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เมื่อยังไม่ระลึกศึกษา พิจารณา สังเกต อบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏ ก็ยังไม่เข้าถึงอรรถ คือ ลักษณะที่แท้จริงของนามธรรมและรูปธรรม จึงไม่สามารถประจักษ์ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งกําลังเป็นโลกที่เกิดดับอยู่ในขณะนี้ ฉะนั้น ไม่ว่าจะคิดจะเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอย่างไร ก็อย่าหลงคิดว่าเป็นปัญญาที่สามารถดับกิเลสแล้ว เพราะถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ ไม่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนประจักษ์ลักษณะที่ต่างกันของรูปธรรมและนามธรรมจริงๆ ทางมโนทวารทีละลักษณะ ซึ่งเป็นการประจักษ์แจ้งชัดเจน ปัญญาก็ยังไม่ได้เจริญขึ้นจนสามารถรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นเพียงโลกซึ่งว่างเปล่า สูญจากการที่จะยึดมั่นว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้

ในขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ภาค ๒ โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๕๐๕ พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน หญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ใดที่มีอยู่ในเขตวิหารนี้ ชนพึงนําหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้นั้นไปเสีย เผาเสีย หรือพึงทําตามควรแก่เหตุ ท่านทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ชนนําเราทั้งหลายไปเสีย เผาเสีย หรือทําตามควรแก่เหตุบ้างหรือหนอ

ภิ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

พ. นั้นเป็นเพราะเหตุไร

ภิ. เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ตน หรือสิ่งที่เนื่องกับตนของข้าพระองค์ทั้งหลาย อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันท่านทั้งหลายละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อันท่านทั้งหลายละเสียแล้วจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขตลอดกาลนาน บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดย ความเป็นของสูญแม้อย่างนี้

ข้อความตอนท้ายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร คามณิ เมื่อบุคคลเห็นซึ่งความเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งสิ้น ซึ่งความสืบต่อแห่งสังขารทั้งสิ้น ตามความเป็นจริงภัยนั้นย่อมไม่มี เมื่อใด บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกเสมอหญ้าและไม้ด้วยปัญญา เมื่อนั้น บุคคลนั้นก็ไม่พึงปรารถนาภพหรืออัตตภาพอะไรๆ อื่น เว้นไว้แต่นิพพานอันไม่มีปฏิสนธิ บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญแม้อย่างนี้ ฯ

เมื่อยังไม่รู้สึกว่ารูปที่เคยยึดถือเป็นของตน เวทนาความรู้สึกต่างๆ ซึ่งเคยรู้สึกว่าเป็นของตน สัญญาความจําต่างๆ ว่าเป็นเราชื่อนี้ อยู่ในโลกนี้ มีกิจหน้าที่อย่างนี้ สังขารทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมทั้งหลายเสมอกับหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ก็ยังไม่สามารถละการยึดถือสภาพธรรม คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณได้

เมื่อไม่ได้ศึกษาพิจารณาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพร้อมกับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ชื่อว่ารู้จักโลก แม้ว่าจะได้อยู่ในโลกนี้มานานแล้ว ไม่ว่าเป็นกี่ปี กี่ชาติ เมื่อไม่รู้จักโลกจะพ้นจากโลกได้อย่างไร ไม่ว่าจะสุขสักเท่าไรก็ไม่ได้สุขตลอดกาล เพราะความรู้สึกเป็นสุขเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะจิต ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อไม่ศึกษาสภาพธรรมตามความเป็นจริงจะไม่รู้แม้แต่ว่าโลกคืออะไร และโลกมีอะไรบ้าง ทุกคนรู้ว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเสียง ฯลฯ เพราะเสียงปรากฏเมื่อได้ยินเสียง แต่ถ้าไม่มีสภาพรู้ ไม่มีธาตุรู้ ซึ่งกําลังได้ยิน เสียงก็ปรากฏไม่ได้ ฉะนั้น อารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายทางใจนั้น ย่อมแสดงให้รู้ว่ามีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งเป็นโลกที่เกิดดับทุกขณะ และถ้าไม่มีอารมณ์ต่างๆ ปรากฏ ก็ไม่มีใครสามารถรู้ลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ที่กําลังเกิดดับได้

เมื่อเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป สืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็ยึดถืออาการสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรมแต่ละขณะตามความเป็นจริง ก็ไม่ชื่อว่ารู้จักโลกตามความเป็นจริง แม้ว่าจะได้ศึกษาเรื่องของโลกโดยวิชาการต่างๆ ทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แม้อีกหลายแสนล้านปีก็ตาม วิชาการทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่สามารถทําให้พ้นจากโลกนี้ได้ เพราะเมื่อไม่รู้จักโลกก็ย่อมพ้นจากโลกไม่ได้ โลกวันหนึ่งๆ นั้นมีสาระอะไรบ้าง สุขเวทนาเกิดขึ้นแล้วก็ดับหมดไปทุกขณะ และจะให้สุขเวทนานั้นกลับคืนมาอีกไม่ได้เลย ส่วนผู้ที่ทุกข์ทรมานแสนสาหัส แม้อยากจะพ้นจากโลกสักเท่าไรก็พ้นไม่ได้ เมื่อไม่รู้จักโลกตามความเป็นจริง

ข้อสําคัญก็คือ ท่านพร้อมหรือยังที่จะสละความยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน แม้แต่ตัวท่านขณะนี้ก็ไม่มี พร้อมที่จะสละทิ้งโลกหรือยัง ต้องรู้แจ้งว่าไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคลเสียก่อน จึงจะดับโลกและพ้นโลกได้ บางท่านเพียงแค่คิดก็ทนไม่ไหวที่จะไม่มีตัวตนที่กําลังเห็น ได้ยิน เป็นต้น ไม่มีวงศาคณาญาติ ไม่มีมิตรสหาย ไม่มีทรัพย์สมบัติวัตถุต่างๆ ซึ่งเป็นที่พอใจ ส่วนใหญ่แล้วยังไม่ต้องการพ้นจากโลกจริงๆ ฉะนั้น การที่จะละความพอใจยึดถือว่าเป็นตัวตนของเรานั้น จะต้องอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏเป็นโลก ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

การที่จะรู้จักโลกตามความเป็นจริงนั้นไม่ง่ายเลย ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องโลกตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ควรจะพิจารณาน้อมประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญปัญญาจนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น จึงจะรู้ลักษณะของโลกตามความเป็นจริงได้ และไม่ใช่รู้โลกในขณะอื่นเลย รู้โลกขณะกําลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส คิดนึกในขณะนี้เอง มีหนทางที่จะทําให้ปัญญาเจริญขึ้น จนรู้โลกที่กําลังเกิดดับในขณะนี้ได้ โดยศึกษาฟังพระธรรมเพื่อให้เข้าใจและพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กําลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีทางที่จะรู้จักโลกได้เลย

ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สมิทธิสูตรที่ ๔ ข้อ ๗๕ ท่านพระสมิทธิทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า โลก โลก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรจึงเป็นโลกหรือบัญญัติว่าโลก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร สมิทธิ จักขุ รูป จักขุวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งกับจักขุวิญญาณ มีอยู่ ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่าโลกก็มีอยู่ ณ ที่นั้น ฯลฯ

การที่จะรู้จักโลกได้นั้นก็เพราะมีตา จึงเห็นสีสันวัณณะของโลก มีหูจึงได้ยินเสียงโลก มีจมูกจึงได้กลิ่นโลก มีลิ้นจึงได้รู้รสโลก มีกายจึงรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวของโลก ถ้าไม่มีทางเหล่านี้เลย โลกจะปรากฏได้ไหม เมื่อไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้โผฏฐัพพะ ไม่คิดนึก โลกไหนจะปรากฏ โลกใดๆ ย่อมไม่ปรากฏ ฉะนั้น ที่ยึดถือว่าเป็นโลกกําลังปรากฏก็เพราะเห็น เห็นอะไร เห็นโลก สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นโลก ได้ยินเสียงอะไร เสียงเป็นโลกอีกเหมือนกัน ถ้าไม่มีเสียงเลย ไม่มีได้ยินเลยโลกเสียงก็ไม่มี ฉะนั้น โลกซึ่งประกอบด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น ปรากฏได้เพราะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงไม่ต้องแสวงหาโลกที่อื่น ไม่ว่าจะอยู่ ณ โลกไหน โลกนั้นๆ จะปรากฏได้ก็เพราะตาเป็นปัจจัยให้เห็น หูเป็นปัจจัยให้ได้ยิน จมูกเป็นปัจจัยให้ได้กลิ่น ลิ้นเป็นปัจจัยให้ลิ้มรส กายเป็นปัจจัยให้รู้โผฏฐัพพะ และใจคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเอง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสมิทธิ จักขุ รูป จักขุวิญญาณ ธรรมที่พึงรู้แจ้งกับจักขุวิญญาณไม่มี ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่าโลกก็ไม่มี ณ ที่นั้น ฯลฯ ใจ ธัมมายตนะ มโนวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งกับมโนวิญญาณไม่มี ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่าโลกก็ไม่มี ณ ที่นั้น

เมื่อไม่รู้จักโลกตามความเป็นจริง แต่อยากจะพ้นจากโลกก็พ้นไม่ได้ อยู่ในโลกมานานและไม่เฉพาะในโลกนี้เท่านั้น ในอดีตอนันตชาติก็อยู่ในโลกอื่นๆ มาแล้ว และเมื่อไม่รู้จักโลกก็ต้องอยู่ในโลกต่อไปอีกนาน และอยู่อย่างไม่รู้จักโลกและไม่เห็นโลกตามความเป็นจริง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง วนเวียนไป สมัยนี้บางท่านกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วก็ยังมีตัวตนอยู่ และกล่าวว่าได้ไปเฝ้าและถวายภัตตาหารแก่พระผู้มีพระภาค ซึ่งก็ควรจะได้พิจารณาข้อความในพระไตรปิฎก คือ ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ผัคคุณสูตร ข้อ ๙๙

ครั้งนั้นแล ท่านพระผัคคุณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลเมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงําวัฏฏะได้แล้ว ล่วงทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้วด้วยจักขุใด จักขุนั้นมีอยู่หรือหนอ ฯลฯ... บุคคล เมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงําวัฏฏะได้แล้ว ล่วงทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ด้วยใจใด ใจนั้นมีอยู่หรือหนอ พระพุทธเจ้าข้า

(คือทูลถามว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ยังจะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่อีกหรือไม่)

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ผัคคุณะ บุคคลเมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติพระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงําวัฏฏะได้แล้ว ล่วงทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ด้วยจักขุใด จักขุนั้นไม่มีเลย ฯลฯ. บุคคลเมื่อจะบัญญัติ พึงบัญญัติ พระพุทธเจ้าผู้ตัดตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าแล้ว ตัดทางได้แล้ว ครอบงําวัฏฏะได้แล้ว ล่วงทุกข์ทั้งปวง ปรินิพพานล่วงไปแล้วด้วยใจใด ใจนั้นไม่มีเลย

เมื่อปรินิพพานแล้ว ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีอีกเลย ไม่ใช่ว่าปรินิพพานแล้วก็ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใดแล้วมาเป็นประมุขของการทําบุญถวายทาน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่พ้นจากโลก เพราะยังมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดดับ จึงยังต้องมีทุกข์ จึงยังพ้นทุกข์ไม่ได้

โลกเป็นสิ่งที่กําลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส คิดนึก โลกย่อมไม่ปรากฏ ขณะใดที่สติระลึกได้ ก็พิจารณาศึกษาอารมณ์ คือ ลักษณะของโลกที่กําลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะใดคิดนึกเรื่องโลก ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ขณะนั้นเป็นการรู้โลกโดยสมมติเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งต่างๆ เป็นโลกโดยนัยของสมมติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ

ในวันหนึ่งๆ ทุกท่านทราบว่าท่านอยู่ในโลกที่เป็นสมมติสัจจะ หรือ ปรมัตถสัจจะ ถึงแม้จิตจะเป็นสภาพรู้ แต่ขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ขณะนั้นโลกนี้ก็ไม่ปรากฏ ปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะแรกของโลกนี้เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่งซึ่งทําให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิต ซึ่งเป็นจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน ปฏิสนธิจิตรู้อารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน เมื่อปฏิสนธิจิตไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ โลกนี้จึงยังไม่ปรากฏ และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมที่ทําให้ปฏิสนธิจิตเกิดนั้น ก็ทําให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต ภวังคจิตมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ขณะที่ภวังคจิตเกิดดับๆ สืบต่อดํารงภพชาติอยู่นั้น จึงไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้โผฏฐัพพะ ไม่คิดนึกอะไรเลย ขณะที่ภวังคจิตเกิดขึ้นและดับไปอยู่เรื่อยๆ นั้นโลกนี้ไม่ปรากฏเลย

ทวาร คือ ทางที่จิตเกิดขึ้นรู้โลกที่ปรากฏมีทั้งหมด ๖ ทวาร เป็นรูป ๕ ทวาร และเป็นนาม ๑ ทวาร คือ

จักขุปสาทรูป เป็น จักขุทวาร ๑

โสตปสาทรูป เป็น โสตทวาร ๑

ฆานปสาทรูป เป็น ฆานทวาร ๑

ชิวหาปสาทรูป เป็น ชิวหาทวาร ๑

กายปสาทรูปเป็น กายทวาร ๑

ภวังคุปัจเฉทจิต เป็น มโนทวาร ๑

ปสาทรูปแต่ละปสาทรูป มีลักษณะพิเศษที่กระทบรูปได้เฉพาะบางรูป จึงเป็นทางให้จิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่กระทบนั้นได้เฉพาะทวารของตนๆ แต่ในวันหนึ่งๆ ก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายเท่านั้น ยังคิดนึกเรื่องต่างๆ ด้วย ขณะที่จิตรับรู้อารมณ์ต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือคิดนึกเรื่องราวต่างๆ นั้น จิตไม่ได้อาศัยจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูปเลย แต่อาศัยภวังคุปัจเฉท จิตที่เกิดก่อนมโนทวาราวัชชนจิตนั่นเองเป็นทวาร คือ เป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้น คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เพราะว่าถ้าภวังคุปัจเฉทจิตไม่เกิด วิถีจิตแรกที่รู้อารมณ์ทางใจ คือ มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดไม่ได้ ฉะนั้นมโนทวารและมโนทวาราวัชชนจิตจึงต่างกัน คือ ภวังคุปัจเฉทจิตเป็นมโนทวารเป็นวิบากจิต ไม่ใช่วิถีจิต มโนทวาราวัชชนจิตไม่ใช่มโนทวาร เป็นกิริยาจิต เป็นวิถีจิตแรกที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางมโนทวาร

นี่เป็นชีวิตปกติประจําวันที่ควรจะได้เข้าใจลักษณะของทวาร เพื่อที่จะได้พิจารณารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมแต่ละขณะซึ่งเกิดดับนั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนอย่างไร

ขณะนี้คงจะไม่มีใครคิดถึงจักขุปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปที่มีจริงและกำลังเกิดดับที่กลางตา ในธัมมสังคณีปกรณ์ รูปกัณฑ์ ข้อความในพระบาลีจักขายตนนิทเทส ข้อ ๕๙๖ มีข้อความว่า

“รูป” ที่เรียกว่า “จักขายตนะ” นั้นเป็นไฉน จักขุใดเป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป ๔ นับเนื่องในอัตตภาพ เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้

จักขายตนะ เป็นคํารวมของ จักขุ และอายตนะ

จักขุ คือ ตา อายตนะ คือ ที่ประชุม ที่เกิด ฉะนั้น จักขายตนะ คือ จักขุซึ่งเป็นที่ประชุม เป็นที่เกิดนั่นเอง

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เมื่อวิถีจิตต่างๆ เกิดขึ้น เห็นและรู้รูปารมณ์ทางจักขุทวารวาระหนึ่งดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดดับสืบต่อหลายขณะ แล้วจิตก็เกิดขึ้นรู้รูปารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุทวารซึ่งดับไปแล้วนั้นต่อทางมโนทวารอีก มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางมโนทวารต่อจากจักขุทวารวิถีจิตที่ดับไปหมดแล้วนั้นอย่างรวดเร็วมาก แม้ว่าจะมีภวังคจิตเกิดคั่นก็ตาม ฉะนั้น จึงควรทราบประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของทวารโดยละเอียด เพื่อไม่ให้ปะปนจิตที่รู้อารมณ์ทางจักขุทวาร และจิตที่รู้อารมณ์นั้นต่อทางมโนทวาร ทางโสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร และกายทวารก็โดยนัยเดียวกัน คือ เมื่อวิถีจิตต่างๆ เกิดขึ้นรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ทางทวารใดทวารหนึ่งใน ๕ ทวารดับไปแล้ว และภวังคจิตเกิดคั่นหลายขณะแล้ว จิตก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกันนั้นต่อทางมโนทวารทุกครั้ง

นามธรรม คือ จิต และเจตสิกเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ขณะที่นั่งอยู่อย่างนี้ ดูเสมือนกับทั้งเห็นด้วยและได้ยินด้วย แต่ความจริงวิถีจิตอาศัยทวารหนึ่งเกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางทวารนั้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ทวารละหนึ่งวาระ (วาระ คือ จิตหลายขณะที่เกิดดับสืบต่อกันทางทวารเดียวกัน) การเกิดดับสืบต่อของจิตรวดเร็วจนกระทั่งไม่สามารถรู้ลักษณะแท้ๆ ของจิตที่เกิดขึ้นทางจักขุทวารว่า เพียงรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เมื่อมโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นสืบต่อรับรู้รูปารมณ์ที่ปรากฏทางตาแล้ว ก็จดจํารูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ จนลืมว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ

จักขุทวารเปรียบเหมือนสมุทรซึ่งกว้างใหญ่จริงๆ ไม่เต็ม สามารถที่จะเห็นพระจันทร์ พระอาทิตย์ ดวงดาวต่างๆ ซึ่งอยู่แสนไกล ที่กระทบจักขุปสาทแล้วก็ปรากฏแก่จักขุทวารวิถีจิตได้ จึงทําให้ดูเหมือนว่า เป็นโลกซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุ จักรวาล สัตว์ บุคคลต่างๆ เต็มไปหมด แต่ความเป็นจริงนั้นจิตคิดนึกถึงรูปร่างสัณฐานของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ปรากฏให้เห็น เป็นสัตว์บ้าง เป็นบุคคลต่างๆ บ้าง เป็นพระจันทร์ พระอาทิตย์ ดวงดาว และวัตถุต่างๆ ซึ่งเมื่อกระทบสัมผัสกาย เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ก็ปรากฏ ผู้ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงประจักษ์ว่า โลก คือธรรมที่แตกสลาย เกิดดับอย่างรวดเร็ว โดยมโนทวารวิถีจิตจดจําสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา จําเสียงสูงต่ำที่ปรากฏทางหู ฯลฯ เป็นความหมายคําบัญญัติของสิ่งต่างๆ ซึ่งก็ไม่มีสภาพธรรมใดเลยที่เกิดขึ้นแล้วไม่ดับไป

คําถามทบทวน

๑. โลก คืออะไร

๒. โลกิยปัญญา คืออะไร

๓. ปฏิสนธิจิต รู้อารมณ์ของโลกนี้หรือไม่เพราะเหตุใด

๔. ภวังคจิต รู้อารมณ์อะไร

๕ มโนทวาราวัชชนจิต เป็นมโนทวารใช่ไหม

๖. มโนทวาร เป็นชาติอะไร

๗. มโนทวาราวัชชนจิต เป็นชาติอะไร

เปิด  531
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2565
สารบัญ